- Details
- Category: อสังหาริมทรัพย์ฯ
- Published: Wednesday, 01 March 2017 19:26
- Hits: 7755
กคช.ศึกษาระบบพรีคาสท์พัฒนาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลาง
การเคหะแห่งชาติร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา จังหวัดเชียงใหม่ ศึกษาวิจัย’โครงการศึกษาแนวทางการเลือกใช้ระบบก่อสร้างชิ้นส่วนสำเร็จรูปที่เหมาะสมกับผู้อยู่อาศัยที่มีรายได้น้อย-ปานกลาง’เพื่อศึกษาทางเลือกในการเลือกใช้เทคโนโลยีการก่อสร้างด้วยระบบชิ้นส่วนสำเร็จรูปที่สามารถประหยัดราคาก่อสร้าง และการศึกษาความเป็นไปได้ในการดำเนินโครงการที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย -ปานกลาง
ดร.ธัชพล กาญจนกูล ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ เปิดเผยว่า ในปัจจุบันเศรษฐกิจมีการขยายตัว อย่างรวดเร็ว รวมทั้งการเจริญเติบโตของเมืองและประชากรที่เพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากทำให้ที่อยู่อาศัยไม่เพียงพอ ต่อความต้องการที่อยู่อาศัย ส่งผลให้ราคาที่อยู่อาศัยปรับตัวสูงขึ้นไปด้วย จึงทำให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อยถึง ปานกลางไม่สามารถเป็นเจ้าของได้ การเคหะแห่งชาติได้พยายามสรรหาทางเลือกใหม่ๆ เพื่อลดต้นทุนการก่อสร้าง จึงได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา จังหวัดเชียงใหม่ ศึกษาวิจัย ‘โครงการศึกษาแนวทาง การเลือกใช้ระบบก่อสร้างชิ้นส่วนสำเร็จรูปที่เหมาะสมกับผู้อยู่อาศัยที่มีรายได้น้อย-ปานกลาง’ เพื่อศึกษาทางเลือกในการเลือกใช้เทคโนโลยีการก่อสร้างด้วยระบบชิ้นส่วนสำเร็จรูปที่สามารถลดต้นทุนและลดระยะเวลาดำเนินงานก่อสร้าง และการใช้แรงงาน พร้อมทั้งศึกษาความเป็นไปได้ของการจัดทำโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย – ปานกลาง โดยนำระบบอุตสาหกรรมแบบชิ้นส่วนสำเร็จรูปมาใช้ในการออกแบบและการก่อสร้าง ทั้งในด้านกายภาพ การผลิต การเงิน การลงทุน ความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ และสังคม รวมถึงการวิเคราะห์ความเสี่ยงของโครงการ รวมทั้งพัฒนาอาคารต้นแบบในการก่อสร้างที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย – ปานกลางในโครงการอื่นๆ ของการเคหะแห่งชาติ และยังเป็นการพัฒนาเทคโนโลยีการออกแบบและระบบการก่อสร้างอาคารที่พักอาศัย ประเภทต่างๆ ของการเคหะแห่งชาติเพื่อนำไปสู่ระบบอุตสาหกรรมที่ได้มาตรฐานในระดับสากลต่อไป
ข้อดีของระบบพรีคาสท์ (Precast Concrete) หรือระบบก่อสร้างแบบชิ้นส่วนสำเร็จรูปมีมากมาย อาทิ การก่อสร้างมีคุณภาพที่สม่ำเสมอเนื่องจากกระบวนการผลิตชิ้นงานทุกขั้นตอนถูกควบคุมด้วยระบบเทคโนโลยี ที่ทันสมัย มีความแข็งแรงทนทานและใช้เป็นโครงสร้างรับน้ำหนักได้ (Load Bearing Wall) ซึ่งคณะผู้วิจัยฯ ได้ทำการศึกษาการก่อสร้างระบบก่อสร้างชิ้นส่วนสำเร็จรูปที่นิยมใช้ในประเทศไทยพบว่า การก่อสร้างระบบ ผนังรับแรง (Bearing Wall) เหมาะสมมากที่สุดกับการจัดทำโครงการที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย – ปานกลาง เพราะมีการรวมเสา ผนัง และคานเป็นชิ้นเดียวกัน ด้วยการหล่อคอนกรีตเป็นแผ่นสำเร็จ และใช้ส่วนที่เป็นผนังในการรับแรงที่เกิดขึ้นในแนวดิ่งทั้งหมดของอาคารถ่ายน้ำหนักลงฐานราก โดยค่าก่อสร้างจะมีราคาถูกกว่าการก่อสร้างระบบโครงสร้างทั่วไป ประมาณ 5 – 15% และยังลดระยะเวลาการก่อสร้างลงประมาณครึ่งหนึ่งจากการก่อสร้างแบบทั่วไป ลดค่าใช้จ่ายในการก่อสร้าง ซึ่งจะเป็นการช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับประชาชนต่อไป