WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

1aถนนสขมวท87

ผู้เชี่ยวชาญจากสมาคมสถาปนิกสยามฯ ลงพื้นที่ประเมินสถานการณ์ กรณีอาคารถล่มริมถนนสุขุมวิท 87

     จากกรณีอาคารโชว์รูมรถเก่า ความสูง 8 ชั้น ย่านสุขุมวิท 87 ซึ่งอยู่ติดริมถนน ใกล้โรงเรียนและแหล่งชุมชน เกิดเหตุทรุดตัวและถล่มลงมาขณะอยู่ในระหว่างการรื้อถอน ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บ และเสียชีวิต สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ โดย พ.ต.อ.ดร.บัณฑิต ประดับสุข กรรมการกลาง และผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยในอาคาร ลงพื้นที่ตรวจสอบที่เกิดเหตุ และประเมินสถานการณ์

   โดย พ.ต.อ.ดร.บัณฑิต ประดับสุข เปิดเผยว่า “ตัวอาคารที่เกิดเหตุนั้นเป็นโครงสร้างแบบพื้นไร้คาน โดยใช้หลักการคานมากกว่าเสา การก่อสร้างต้องใช้สลิงเป็นตัวยึดและรับน้ำหนักตัวอาคาร เมื่อสลิงที่เป็นตัวรับน้ำหนักขาด ตัวอาคารที่ถล่มลงมา น้ำหนักตัวมันเองไปกระทบด้านล่างต่อไปเป็นชั้นๆ ส่งผลให้อาคารพังถล่มลงมาในทีเดียว ซึ่งจากการตรวจสอบเบื้องต้น สาเหตุเกิดจากการรื้อถอนที่ผิดหลักวิธี ใช้วิธีค้ำยันไม่ถูกต้อง โดยทั่วไปในการรื้อถอน 1.จะต้องมีการห่อตึก เพื่อป้องกันเศษหิน หรือวัสดุต่างๆ ที่อาจตกลงมาจากตัวตึก 2. จะต้องมีตัวค้ำยันในทุกชั้น ไม่ว่าจะเป็นไม้หรือเหล็ก เพื่อช่วยในการกระจายและถ่ายเทน้ำหนักของตัวอาคาร เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในระหว่างรื้อถอน

     ส่วนทางด้านกฎหมายนั้น ไม่ว่าจะเป็นการก่อสร้าง ดัดแปลง หรือรื้อถอน จะต้องขออนุญาต โดยใช้มาตราทวิ 39 ตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร ซึ่งหมายความว่า ต้องให้วุฒิวิศวกร วุฒิสถาปนิก ลงนามอนุมัติ พร้อมเสนอแผนในการรื้อถอน เป็นต้นว่า ในแต่ละชั้น ต้องมีที่ค้ำยันกี่จุด ซึ่งจากการตรวจสอบกับทางวิศวกรโยธา อาคารหลังนี้ได้การอนุญาตการรื้อถอนในทางกฎหมายแล้ว แต่รื้อถอนผิดวิธี ไม่เป็นไปตามแบบที่ขออนุญาต เมื่อถูกสั่งระงับแล้ว ยังมีการดำเนินการต่อ โดยในวันนี้ทางสมาคมได้ร่วมประเมินสถานการณ์ และแนวทางในการดำเนินการต่อไปเพื่อความปลอดภัยของผู้คนในชุมชน

   นอกจากนี้ สมาคมสถาปนิกสยามฯ ยังได้ให้คำแนะนำในเรื่องปัจจัยที่อาจทำให้อาคารเสียหายและชำรุด รวมถึงวิธีการสังเกตรอยร้าวจากความเสียหายของอาคาร เพื่อให้ประชาชนทั่วไป นำไปสังเกตบ้าน ที่พัก หรืออาคารสำนักงานที่ตนเองอาศัยอยู่ 'คนส่วนใหญ่นั้นใช้ชีวิตอยู่ในอาคารประมาณ 90% อาคารนั้นจึงมีความสัมพันธ์เกี่ยวกับคุณภาพชีวิตของคน ซึ่งนอกจากความสะสวกสบายแล้ว ควรถูกออกแบบมาให้มีความปลอดภัยต่อผู้อาศัยด้วย ซึ่งสาเหตุที่ทำให้อาคาร บ้านเรือน หรือที่อยู่อาศัยต่างๆ เกิดความเสียหายขึ้นนั้นมาจาก 4 ปัจจัยหลักๆ คือ 1.การออกแบบที่ไม่ได้มาตรฐาน ในกรณีที่มีการสร้างบ้านใหม่ ควรปรึกษาหรือเรียกใช้สถาปนิก และวิศวกรที่มีใบอนุญาต ซึ่งการออกแบบจะคำนึงถึงด้านความสวยงาม และปลอดภัยไปพร้อมๆ กัน 2.การก่อสร้าง อันนี้เป็นข้อสำคัญที่สุด ในการก่อสร้างเราต้องดูว่าผู้รับเหมาได้ทำตามการวิธีก่อสร้างที่ดีไหม ถ้าสถาปนิก หรือวิศวกรกำหนดมาว่าควรใช้วัสดุอะไร ก็ควรจะใช้ตามนั้น อย่าไปลดหรือเปลี่ยนแปลง เพราะอาจส่งผลกระทบเรื่องของความปลอดภัยได้  3.การใช้อาคารผิดประเภท เช่น อาคารหลังนี้ถูกออกแบบให้เป็นบ้านพักอาศัย แต่กลับเปลี่ยนเป็นค้าขาย อย่างขายเหล็ก หรือสิ่งของหนักๆ ที่อาจมีผลกระทบต่อตัวบ้าน รวมไปถึงเรื่องการดัดแปลง ปรับปรุง ต่อเติมอาคาร ก็ต้องทำอย่างระมัดระวัง โดยการปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ อย่างสถาปนิก และวิศวกร  4. ภัยธรรมชาติ ซึ่งเราควบคุมลำบากที่สุด ทั้งฝนตก น้ำท่วม ลมพายุพัดแรง มีผลต่ออาคารทั้งนั้น             

      ส่วนในด้านวิธีสังเกตความเสียหายของอาคารจากรอยร้าว โดยรอยร้าวนั้นมีหลายประเภท และไม่ใช่ว่าเมื่อเกิดรอยร้าวแล้ว จะทำให้ที่อยู่อาศัยเสียหายเสมอไป ซึ่งแบ่งได้ทั้งหมด 4 รูปแบบ รอยร้าวไร้รูปแบบ ที่เกิดจากความเสื่อมสภาพของวัสดุตามระยะเวลาการใช้งาน หรืออาจไม่ได้คุณภาพ รอยร้าวบริเวณเสาหรือคาน เกิดจากตัวอาคารที่รับน้ำหนักเกิน มักเกิดตามโครงสร้างหลักๆ เช่น เสาโก่ง คานร้าว รอยร้าวผนังแนวตรง เกิดจากผนังที่ตั้งฉากอยู่ อาจรับน้ำหนักมากเกินไป จนเกิดเป็นรอยร้าวเส้นตรงลงมา รอยร้าวมีรูปแบบ มีทิศทางชัดเจน เกิดจากการทรุดตัวของอาคาร เช่น พวกฐานราก ที่อาจทรุดตัวไม่เท่ากัน รอยร้าวชนิดนี้ ต้องสังเกตว่ามีการขยายตัวห่างกันขึ้นไหม อาจต้องจดบันทึกไว้ เพื่อวิเคราะห์ในเรื่องของความปลอดภัย”

     สำหรับ ท่านใดที่มีปัญหาบ้านทรุด บ้านร้าว ไม่ควรแก้ไขด้วยตนเอง อาจทำให้เกิดความเสียหายที่มากขึ้น เพราะสิ่งนี้เป็นวิชาชีพเฉพาะจริงๆ ควรปรึกษาสถาปนิก และวิศวกร ที่ท่านให้รับหน้าที่ในการออกแบบ โดยสามารถเข้าไปรับชมคลิป ASA Scoop ตอน สัญญาณอาคาร อาการหนัก เพื่อเรียนรู้ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับเรื่องความปลอดภัยของตัวอาคาร ได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=hAk5GS7O-5E&t=125s รวมถึงสอบถามข้อมูลในเรื่องวิชาการต่างๆ เกี่ยวกับอาคาร หรือ ขอคำปรึกษาได้ที่ สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ โทร. 0-2319-6555 หรือ www.asa.or.th

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!