- Details
- Category: อสังหาริมทรัพย์ฯ
- Published: Saturday, 12 July 2014 21:50
- Hits: 3378
'โอบายาชิ'ปลื้มคสช. ชิงประมูล 1.1 หมื่นล.
ไทยโพสต์ * ไทยโอบายาชิ ชี้ คสช.ตั้งบอร์ดบีโอไอ กระตุ้นลงทุน หนุนรับเหมาได้อานิสงส์ ตั้งเป้าคว้า 1.1 หมื่นล้านบาท ขณะที่ตลาดรับสร้างบ้านครึ่งปีหลังคาดมีมูลค่า 7-8 พันล้านบาท
นายสมพงษ์ จินตวงศ์วานิช กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท นันทวัน จำกัด (ไทยโอบายาชิ) เปิดเผยว่า ภาพรวมตลาดรับเหมาก่อสร้างมีการแข่งขันสูง แม้ว่าในช่วงเวลาที่ผ่านมาผู้ประกอบการจะชะลอการลงทุนในการพัฒนาโครงการและเปิดตัวโครงการใหม่ เนื่องจากปัจจุบันต้นทุนค่าก่อสร้างสำนักงาน อาคารเฉลี่ยอยู่ที่ 3.3-4 หมื่นบาทต่อตารางเมตร (ตร.ม.) ขณะที่ต้นทุนค่าก่อสร้างคอนโดมิ เนียมเฉลี่ย 1.5 หมื่นบาทต่อ ตร.ม.
ทั้งนี้ เชื่อว่าหลังจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้แต่งตั้งคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) ชุดใหม่ ซึ่งได้มีการอนุมัติส่งเสริมการลง ทุน ส่งผลให้นักลงทุนมีความมั่นใจและเริ่มกลับมาพัฒนาโครงการมากขึ้น และยังส่งผลดีต่อบริษัทรับเหมาก่อสร้างโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมให้กลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง
สำหรับ แผนงานปีนี้ บริษัทตั้งเป้าประมูลงานใหม่มูลค่า 1-1.1 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นงานก่อสร้างโรงงานในนิคมอุตสาหกรรม 50% และอีก 50% เป็นงานก่อสร้างอาคารเชิงพาณิชย์ โดยเฉพาะอาคารสำนักงาน ซึ่งปัจจุบันบริษัทได้งานใหม่เข้ามาแล้ว 4,000 ล้านบาท ประกอบด้วย โครงการ "เอฟวายไอ เซ็นเตอร์" บริเวณสี่แยกพระราม 4 มูลค่า 2,000 ล้านบาท และโครงการคอนโดมิเนียม บริเวณหลังสวน ของกลุ่มสยามสินธร มูลค่า 2,000 ล้านบาท และมีงานที่อยู่ระหว่างการประมูลอีก 2-3 โครงการ มูลค่ารวม 2,000-3,000 ล้านบาท ขณะที่มีงานที่รอรับรู้รายได้ 7,000-8,000 ล้านบาท
นายสิทธิพร สุวรรณสุต นายกสมาคมไทยรับสร้างบ้าน กล่าวว่า ภาพรวมตลาดรับสร้างบ้านในช่วงไตรมาส 2 ส่งสัญญาณฟื้นตัวและผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นที่จะรุกทำการตลาดมากขึ้น เนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองเริ่มคลี่คลาย คาดว่าช่วงครึ่งปีหลังกำลังซื้อและความต้องการสร้างบ้านใหม่จะกลับมาเติบโตได้ดี ประเมินว่าตลาดรับสร้างบ้านทั่วประเทศช่วงครึ่งปีหลังจะอยู่ที่ 7,000-8,000 ล้านบาท
ส่วนปัญหาขาดแคลนแรง งาน คาดว่ายังเป็นอุปสรรคสำคัญที่ส่งผลให้ผู้ประกอบการรับงานสร้างบ้านได้จำนวนจำกัด อย่างไรก็ดี ได้มีการปรับตัวของผู้ประกอบการในธุรกิจรับสร้างบ้านในระยะ 1-2 ปีที่ผ่านมา โดยเริ่มหันมาพัฒนาระบบการก่อสร้างบ้านโครงสร้างสำเร็จรูปหรือพรีคาสท์มากขึ้น.