- Details
- Category: อสังหาริมทรัพย์ฯ
- Published: Tuesday, 26 January 2016 10:58
- Hits: 1843
ผุด'มักกะสัน คอมเพล็กซ์-รถไฟฟ้าสงขลา/ภูเก็ต'คมนาคมลุยเมกะโปรเจกท์
แนวหน้า : ธนารักษ์ ได้ข้อสรุป 'เอ็มโอยู'กับร.ฟ.ท.โดยขอเช่าที่ดินรถไฟย่านมักกะสัน 99 ปี แลกหนี้ 6.1 หมื่นล้าน ด้านสนข.เดินหน้าเมกะโปรเจกท์ใน ต่างจังหวัด โดยโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้ารางเดี่ยวจังหวัดสงขลาให้คมนาคม ก.พ.นี้ ใช้งบ 10,000 ล้านบาท รวมทั้งรถไฟฟ้ารางเบาที่ภูเก็ต 24,000 ล้านบาท รถด่วน BRT 5 เส้นทาง วงเงิน 5,000 ล้านบาท ที่ขอนแก่น
นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล อธิบดีกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ได้หารือกับนายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) และผู้บริหารจากสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เพื่อสรุปโครงการพัฒนาที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย บริเวณย่านโรงงานมักกะสัน กับการแลกหนี้ของร.ฟ.ท.ซึ่งได้สรุปเบื้องต้นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ในเบื้องต้นทาง ร.ฟ.ท. ยืนยันว่าจะส่งที่ดินมักกะสันภายในเวลา 2 ปี โดยจะมีการกำหนดวันเดือนปีที่ส่งมอบ จำนวนการส่งมอบ และขั้นตอนการส่งมอบ ให้แน่ชัดภายใน 2-3 สัปดาห์นี้ และทางกรมธนารักษ์จะมีการลงบันทึกความเข้าใจ หรือ เอ็มโอยู กับ ร.ฟ.ท. อย่างเป็นทางการในเดือน ก.พ.2559
สำหรับ ที่ของ ร.ฟ.ท. จะส่งมอบทั้งหมด 497 ล้านไร่ แลกกับกระทรวงการคลังชำระหนี้ให้ ร.ฟ.ท.6.1 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้หากมีการส่งที่ดินมากกว่าหรือน้อยกว่าที่ตกลงกันว่า ก็จะปรับการชำระหนี้ให้มากน้อยตามพื้นที่ที่เปลี่ยนไปด้วย
นายจักรกฤศฏิ์ กล่าวว่า หลังจากกรมธนารักษ์เซ็นเอ็มโอยูกับ ร.ฟ.ท. แล้ว ก็จะเปิดให้เอกชนที่สนใจเข้ามาบริหารที่ดินดังกล่าวเข้ามาเสนอโครงการกับกรมธนารักษ์ ซึ่งจะมีทั้งการบริหารเชิงพาณิชย์และสังคม ส่วนรูปแบบการลงทุนที่ชัดเจนต้องรอให้เอกชนเสนอเข้ามา เพราะเป็นผู้มีความเชี่ยวชาญ
"การแลกที่ดินร.ฟ.ท. กับหนี้ครั้งนี้ อยู่ในรูปของธนารักษ์เช่าที่ดินจาก ร.ฟ.ท.เป็นเวลา 99 ปี ส่วนธนารักษ์จะให้เอกชนเข้ามาบริหารโครงการเวลานานเท่าไร ขึ้นอยู่รูปแบบของการพัฒนาและผลตอบแทนที่รัฐบาลจะได้รับ ซึ่งจะต้องได้รับความเห็นชอบจาก คณะรัฐมนตรี(ครม.)"นายจักรกฤศฏิ์ กล่าว
มีรายงานแจ้งว่า สำหรับการพัฒนาที่ดินย่านมักกะสันหรือที่เรียกกันว่า "มักกะสัน คอมเพล็กซ์" มีทำเลอยู่กลางเมืองและเป็นจุดเชื่อมระหว่างท่าอากาศยาน สุวรรณภูมิกับศูนย์กลางเมืองธุรกิจ (แอร์พอร์ต ลิ้งค์) ตามแผนเดิมจะมีการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ โครงการศูนย์จัดแสดงสินค้า โครงการเอนเตอร์เทนเมนต์ คอมเพล็กซ์ และโครงการอาคารสำนักงานให้เช่าโรงแรม ฯลฯ
นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ รองผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.) กระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงโครงการนำร่องในการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานในระดับภูมิภาคว่า โครงการแรกที่จะดำเนินการคือ โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้ารางเดี่ยวหรือโมโนเรลที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลางบประมาณกว่า 10,000 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้ผลการศึกษาและการออกแบบของโครงการได้ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว เหลือเพียงการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม(EIA) แต่คาดว่าจะเสนอให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาได้ในเดือน ก.พ.นี้ เบื้องต้นจะให้หน่วยงานในระดับท้องถิ่นเป็นผู้ดำเนินการในเรื่องของงบประมาณ ในการลงทุนโดยจะเป็นการร่วมมือ กับภาคเอกชนในการจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน แต่หากหน่วยงานในท้องถิ่นมีศักยภาพไม่เพียงพอก็อาจให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)เป็นผู้ดำเนินการแทน
"ระบบรถไฟฟ้าโมโนเรลในพื้นที่หาดใหญ่ การศึกษาเบื้องต้นก็พบว่ายังไม่คุ้มค่ากับการลงทุน จึงต้องมีการหารือ ร่วมกันในส่วนของการลงทุน รวมถึงการศึกษาข้อกฎหมายเพราะในระดับภูมิภาคเป็น พื้นที่การดูแลของกระทรวงมหาดไทย"
ทั้งนี้ ในการศึกษา วิเคราะห์ความเหมาะสมเพื่อกำหนดรูปแบบลักษณะการลงทุน และกรอบการอุดหนุนโครงการ ด้านโครงสร้างพื้นฐานและบริการระบบขนส่งจะต้องการชี้แจงให้ทุกหน่วยงานในแต่ละ พื้นที่ โดยเฉพาะหน่วยงานท้องถิ่นรับทราบถึงแนวทาง ในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ ตามแนวทาง ของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ต้องการให้ระบบโครงสร้างพื้นฐานเกิดขึ้นโดยเร็ว เพื่อเป็นการกระจายความเจริญไปสู่ระดับภูมิภาค
ส่วนอีกโครงการคือโครงการระบบรถไฟฟ้ารางเบา (Tramway) ที่จ.ภูเก็ต งบประมาณ 24,000 ล้านบาท เนื่องจากขณะนี้ผลการศึกษาและการออกแบบของโครงการเดินหน้าไปแล้วประมาณ 98%
นายชัยวัฒน์ กล่าวอีกว่าโครงการที่คาดว่าจะเริ่มดำเนินการในลำดับถัดไปคือโครงการรถโดยสารด่วนพิเศษ BRT จำนวน 5 เส้นทาง วงเงิน 5,000 ล้านบาท ของ จ.ขอนแก่น ที่ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการศึกษาโครงการและศึกษาผลกระทบ EIA