- Details
- Category: อสังหาริมทรัพย์ฯ
- Published: Wednesday, 21 October 2015 13:19
- Hits: 2469
รับสร้างบ้าน Q4 ส่อแววฟื้น THBA แนะรัฐออกมาตรการดึงกำลังซื้อกลุ่มเงินออมแทนเงินกู้
THBA เชื่อไตรมาส 4 ภาพรวมตลาดรับสร้างบ้านกระเตื้อง ผลจากกำลังซื้อที่อั้นมานานผนวกปัจจัยบวก ราคาน้ำมันลด ต้นทุนวัสดุนิ่ง ผู้ประกอบการโหมกิจกรรมตลาด และมาตรการกระตุ้นอสังหาฯ ภาครัฐ ด้านนายกสมาคมฯ แนะรัฐบาล “ลุงตู่” พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หันสร้างแรงจูงใจประชาชนนำเงินออมมาลงทุนสร้างบ้านใหม่ แทนดึงเงินในอนาคตมาใช้จ่าย เชื่อกระตุ้นเศรษฐกิจแต่หนี้ครัวเรือนไม่ขยับ ด้านพีดีเฮ้าส์เตรียมอัดงบการตลาด 10 ล้านบาท หวังดันยอดขายโค้งสุดท้ายเข้าเป้า 1.4 พันล้าน
นายสิทธิพร สุวรรณสุต นายกสมาคมไทยรับสร้างบ้าน และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พีดี เฮ้าส์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด หรือศูนย์รับสร้างบ้านพีดีเฮ้าส์และเอคิวโฮม เปิดเผยว่า ภาพรวมตลาดรับสร้างบ้านไตรมาสสุดท้ายปี 2558 มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น หลังจากความต้องการสร้างบ้านและกำลังซื้อผู้บริโภคอั้นมานาน กอปรกับราคาวัสดุก่อสร้างที่ไม่ขยับขึ้น และราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลง รวมถึงทีมรัฐมนตรีเศรษฐกิจของรัฐบาล “ลุงตู่” พลอ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นำโดย ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีเศรษฐกิจมีมาตรการกระตุ้นตลาดอสังหาฯ ออกมา ซึ่งถือเป็นจังหวะที่ดีและสอดรับกับกำลังซื้อที่เริ่มขยับฟื้นตัว ทั้งนี้สมาคมฯ ได้รับข้อมูลจากสมาชิกกลุ่มบริษัทรับสร้างบ้านหรือศูนย์รับสร้างบ้าน ที่มีสำนักงานตั้งอยู่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมทั้งในต่างจังหวัดทั่วประเทศ ว่ามีผู้บริโภคและประชาชนสนใจสอบถามเข้ามากันคึกคัก เกี่ยวกับเงื่อนไขและวงเงินให้กู้ยืมเพื่อปลูกสร้างบ้านตามมาตรการที่รัฐบาลประกาศออกมา อย่างไรก็ดี พบว่าผู้บริโภคที่สนใจส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่มีรายได้ไม่สูงนัก และยังมีภาระหนี้สินอื่นที่ต้องผ่อนชำระกับสถาบันการเงิน แต่เมื่อรู้ว่ารัฐบาลมีมาตรการสนับสนุนให้ประชาชนมีที่อยู่อาศัยได้ง่ายขึ้น จึงมีความสนใจและคิดจะปลูกสร้างบ้านของตัวเอง
“ธุรกิจรับสร้างบ้านนั้น เกิดจากกลุ่มผู้ประกอบการหลักๆ ที่เรียกตัวเองว่า บริษัทรับสร้างบ้านหรือศูนย์รับสร้างบ้าน ซึ่งได้พัฒนาและยกระดับมาตรฐานธุรกิจของตัวเอง ให้มีความแตกต่างจากผู้รับเหมารายย่อยทั่วไป ด้วยการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจและเข้าสู่ระบบของรัฐ ด้วยการชำระภาษีถูกต้องตามกฎหมาย ปัจจุบันมีผู้ประกอบการเปิดดำเนินธุรกิจและมีสำนักงานตั้งอยู่ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดทุกภูมิภาคกว่า 200 ราย โดยจำนวน 1 ใน 3 เป็นสมาชิกของ 2 สมาคมไทยรับสร้างบ้านและสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน โดยที่ผ่านมามาตรการกระตุ้นอสังหาฯ ของทุกรัฐบาลนั้น ธุรกิจรับสร้างบ้านหรือผู้ประกอบการแทบไม่ได้รับอานิสงค์ใดๆ มาก่อน สาเหตุเป็นเพราะภาครัฐเองไม่เข้าใจว่าธุรกิจรับสร้างบ้านนั้น มีบทบาทไม่ต่างกับธุรกิจบ้านจัดสรร มาตรการครั้งนี้ก็เช่นกันที่รัฐบาลให้น้ำหนักไปที่บ้านจัดสรร”
ทั้งนี้ ทั้งนั้น หากรัฐบาลมีความเข้าใจธุรกิจรับสร้างบ้าน และออกมาตรการมาช่วยกระตุ้นกำลังซื้อผู้บริโภคกลุ่มที่เลือกปลูกสร้างบ้านเอง กับผู้ประกอบการรับสร้างบ้านหรือศูนย์รับสร้างบ้านที่อยู่ในระบบ เชื่อมั่นว่าจะเป็นผลดีต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเช่นกัน ที่สำคัญก็คือ จะไม่ก่อให้เกิดภาระหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้น เหตุผลก็เพราะว่า ประการแรกผู้บริโภคและประชาชนกลุ่มนี้ กว่าร้อยละ 70 ใช้เงินออมที่สะสมไว้มาลงทุนสร้างบ้านหลังใหม่ จึงเท่ากับว่าเป็นการกระตุ้นให้นำเงินออมที่อยู่นิ่งๆ มาก่อให้เกิดการลงทุนและใช้จ่าย แทนการดึงเงินในอนาคตมาใช้ล่วงหน้า ประการที่สองผู้บริโภคกลุ่มนี้มีที่ดินเปล่าเป็นของตัวเองอยู่แล้ว ดังนั้น เม็ดเงินที่ลงทุนหรือใช้จ่ายเรื่องบ้านจะเป็นค่าก่อสร้างหรือตกแต่งบ้านเกือบทั้งหมด โดยไม่มีค่าซื้อที่ดินเข้ามาเกี่ยวข้อง ส่งผลให้ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง เช่น วัสดุก่อสร้างและตกแต่ง เฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ภายในบ้าน ฯลฯ ได้รับประโยชน์และก่อให้เกิดเงินหมุนเวียนในภาคธุรกิจต่อเนื่องร่วมกัน
สมาคมฯ มองว่า ในเมื่อรัฐบาลมีแนวคิดจะกระตุ้นเศรษฐกิจและกำลังซื้อภายในประเทศ ก็ไม่ควรเลือกใช้มาตรการกระตุ้นอสังหาฯ เฉพาะกับกลุ่มผู้มีรายได้น้อยเท่านั้น โดยมาตรการทางภาษีหรือลดหย่อนภาษีน่าจะจูงใจมากที่สุด สำหรับผู้บริโภคที่เลือกสร้างบ้านเอง (ไม่ซื้อบ้านจัดสรร) เนื่องจากที่ผ่านมาผู้บริโภค มักจะมองว่าการเลือกผู้ประกอบการรับสร้างบ้านที่อยู่ในระบบ จะทำให้มีภาระภาษีและต้องจ่ายค่าก่อสร้างบ้านแพงขึ้น จากภาษีมูลค่าเพิ่มที่แฝงอยู่ในราคาบ้าน ส่วนใหญ่จึงยังนิยมใช้บริการกับผู้รับจ้างรายย่อยๆ นอกระบบมากกว่า ดังนั้น หากภาครัฐมีมาตรการคืนภาษีให้ในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง นอกจากจะกระตุ้นกำลังซื้อผู้บริโภคและประชาชนแล้ว ยังเป็นการช่วยผู้ประกอบการรับสร้างบ้านที่อยู่ในระบบ ซึ่งทั้งหมดเป็นผู้ประกอบการ SMEs ให้สามารถฝ่าเศรษฐกิจที่ชะลอตัวครั้งนี้ไปได้อีกด้วย
นายสิทธิพร กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับพีดีเฮ้าส์และบริษัทในเครือ ไตรมาส 3 ที่ผ่านมาทำยอดขายได้เพียง 300 ล้านบาทเศษ จากเป้าที่ตั้งไว้ 500 ล้านบาทหรือต่ำกว่าเป้าร้อยละ 40 แม้ว่าจะใช้กลยุทธ์การตลาดทั้งออฟไลน์และออนไลน์ พร้อมๆ กับอัดโปรโมชั่นอย่างต่อเนื่องแล้วก็ตาม แต่ก็ไม่อาจดันยอดขายให้เป็นไปตามเป้าได้ สาเหตุหลักๆ เป็นผลมาจากเศรษฐกิจชะลอตัวสะสมต่อเนื่อง รวมทั้งความเชื่อมั่นของผู้โภคและประชาชนที่ถดถอย อย่างไรก็ตาม ไตรมาสสุดท้ายปีนี้ พีดีเฮ้าส์ได้เร่งปรับกลยุทธ์การแข่งขัน พร้อมทุ่มงบโฆษณาและประชาสัมพันธ์กว่า 10 ล้านบาท เพื่อกระตุ้นการรับรู้และเร่งการตัดสินใจของผู้บริโภค โดยชูจุดเด่นรับสร้างบ้านอนุรักษ์พลังงาน คุ้มค่ากับเม็ดเงินที่จ่ายไป และมีสาขาให้บริการมากที่สุดกว่า 40 สาขาทั่วประเทศ โดยตั้งเป้ายอดขายไตรมาสที่ 4 ไว้ทั้งสิ้น 500 ล้านบาท ทั้งนี้ หากยอดขายเป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ก็จะทำให้ยอดขายรวมปี 2558 นี้คิดเป็น 1.4 พันล้านบาท นายสิทธิพร กล่าวสรุป