- Details
- Category: อสังหาริมทรัพย์ฯ
- Published: Tuesday, 20 October 2015 09:14
- Hits: 4147
รัฐจับมือภาคอสังหาฯร่วมผุดโครงการบ้านเพื่อผู้มีรายได้น้อยหลังละ 5-6 แสน
รัฐบาลขอความร่วมมือผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ดำเนินโครงการสร้างที่อยู่อาศัยเพื่อคนรายได้น้อย เบื้องต้นเคาะราคาหลังละ 5-6 แสนบาท อุ้มผู้มีรายได้น้อย 1 หมื่นบาท/เดือน โดยเล็งใช้ที่ราชพัสดุและที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.)มาพัฒนา โดยเตรียมหารืออีกครั้งให้ได้ข้อสรุปก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.)ภายใน 1 เดือน
นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง กล่าวภายหลังหารือร่วมกับ 3 สมาคมอสังหาริมทรัพย์ ได้แก่ สมาคมอาคารชุดไทย สมาคมธุรกิจสร้างบ้าน และสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย และผู้ประกอบการในภาคอสังหาริมทรัพย์ โดยมีนายสมคิด จาติศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม ว่า รัฐบาลอยากขอความร่วมมือจากภาคเอกชนในการจัดทำโครงการสร้างที่อยู่อาศัยเพื่อคนรายได้น้อย ทหาร ตำรวจ ข้าราชการและประชาชนทั่วไป ซึ่งเป็นการดำเนินการในลักษณะทำประโยชน์เพื่อสังคม(CSR)
"แนวคิดเบื้องต้นคือ ผู้ประกอบการในภาคอสังหาริมทรัพย์อาจรวมตัวกันจัดทำเป็นธุรกิจเพื่อสังคม(Social Interprise) ถือหุ้นโดยผู้ประกอบการ และดำเนินการสร้างที่อยู่อาศัยเพื่อคนมีรายได้น้อย โดยไม่มีการเอากำไร หรือถ้ามีเงินเหลือหรือมีกำไรจากโครงการที่ดำเนินการในช่วงแรกก็ให้นำมาใช้ลงทุนในโครงการต่อๆ ไป" นายอภิศักดิ์ กล่าว
รมว.คลัง กล่าวว่า เบื้องต้นจะให้ใช้ที่ราชพัสดุของกรมธนารักษ์ หรือที่ดินของ ร.ฟ.ท.ดำเนินการโครงการดังกล่าว โดยหลักการคือต้องเป็นพื้นที่ชุมชนและสามารถเดินทางสะดวกด้วย ซึ่งจะเป็นการสร้างที่อยู่อาศัยราคาถูก ไม่เกินหลังละ 5-6 แสนบาท เพื่อสนับสนุนให้ผู้มีรายได้น้อย โดยมีรายได้รวมกว่า 1 หมื่นบาทสามารถเป็นเจ้าของได้ โดยจะเป็นการเช่าระยะยาว ซึ่งขณะนี้กรมธนารักษ์อยู่ระหว่างการแก้ไขกฎหมายการสิทธิการเช่าจาก 30 ปี เป็น 99 ปี
หลังจากนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนจะต้องมีการหารือร่วมกันอีกครั้ง เพื่อสรุปแนวทางที่จะดำเนินการเพื่อให้ได้ข้อสรุปภายใน 1 เดือน และนำเสนอให้ที่ประชุม ครม.พิจารณาต่อไป
ด้านนายประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต นายกสมาคมอาคารชุดไทย เปิดเผยว่า มาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ของรัฐบาลที่ออกมานั้นจะทำให้ภาคอสังหาริมทรัพย์เติบโตดีขึ้นในช่วงที่เหลือของปีนี้ โดยคาดการณ์ว่าภาคอสังหาริมทรัพย์ในปีนี้จะขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 13% จากเดิมที่ 5% โดยมูลค่าการขายในพื้นที่ กทม.เพิ่มเป็น 3.3 แสนล้านบาท จากเดิมที่ 3.1 แสนล้านบาท และในปี 2559 คาดว่าภาคอสังหาริมทรัพย์จะขยายตัวได้ที่ 5-10% จากเดิมที่ 0-5%
ขณะที่นายพรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย ยอมรับว่า แนวคิดในการสร้างบ้านเพื่อคนรายได้น้อยของรัฐบาลเป็นเรื่องที่ดีและเป็นประโยชน์ต่อสังคม ซึ่งผู้ประกอบการพร้อมจะรวมตัวกันเพื่อดำเนินการตามโครงการดังกล่าว
อินโฟเควสท์
ปลัดคลังรับมาตรการ ‘สมคิด’ นัดเจ้าของโครงการปรับค่าบ้านลง
แนวหน้า : รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ บอกกับนักธุรกิจ หลังจากนี้จะเห็นการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลลดน้อยลง ระบุมาตรการที่ออกมาก่อนหน้านี้เพียงพอต่อการประคองเศรษฐกิจในช่วงที่ยากลำบากได้ ปลัดคลัง รับลูกมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ของรัฐบาล นัดกล่อมผู้ประกอบการลดราคาบ้าน 16 ต.ค.นี้
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ กล่าวในงาน 'โพสต์ฟอรั่ม 2015' ว่า หลังจากนี้ไปจะเห็นการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลลดน้อยลง เพราะเชื่อว่ามาตรการที่ออกมาก่อนหน้านี้นั้น จะเพียงพอต่อการประคองเศรษฐกิจในช่วงที่ยากลำบากได้ แต่ทั้งนี้ ยืนยันว่า ไม่ประมาท หากเห็นว่าเศรษฐกิจมีความจำเป็น ก็อาจมีการออกมาตรการออกมาได้ และยืนยันว่าที่ผ่านมาการออกมาตรการนั้นไม่ได้มุ่งหวังในการสร้างให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือ จีดีพี เติบโตสวนกระแสโลก แต่สิ่งที่ต้องการทำ คือ เพื่อยับยั้งการชะลอตัวของเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ มองว่า ตั้งแต่วันแรกที่เข้ามาทำงานนั้น ตนมองว่า ประเทศไทย ไม่ได้อยู่ในภาวะวิกฤติ เพียงแค่เผชิญความท้าทาย 2 เรื่อง คือ เศรษฐกิจที่กำลังซบเซา จากราคาสินค้าเกษตรที่ตกต่ำ และการส่งออกที่ชะลอตัว จากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ถดถอย แต่อย่างไรก็ตามแม้ปัจจัยดังกล่าวข้างต้นจะสำคัญ แต่ยังมีเรื่องที่สำคัญและต้องเร่งปรับ คือ ความสามารถในการแข่งขันของโครงสร้างเศรษฐกิจไทยที่เสื่อมถอย ซึ่งหากไม่เร่งแก้ไขปัญหา เชื่อว่า ในวันข้างหน้าจะเป็นปัญหาที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และกว่าจะกลับมาฟื้นตัวได้จะต้องใช้เวลานาน
“ในช่วงเดือนเศษที่ผ่านมา สิ่งแรกที่ทำ คือ ความพยายามในการเข้าไปหยุดยั้ง ชะลอตัวของการทรุดตัวของภาวะเศรษฐกิจ เห็นได้จากมาตรการหลายชุด ที่ต้องการเพิ่มเงินหมุนเวียนในระบบ โดยมุ่งเป้าเกษตรกรที่มีรายได้น้อย หรือคนยากจน ไปสู่เอสเอ็มอีที่เผชิญความลำบาก การกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐที่มีมูลค่าไม่สูง เพื่อให้เกิดการหมุนเวียน และการกระตุ้นกิจกรรมต่างๆ รวมถึงกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งหากไม่มี ปัญหาจะยิ่งซ้ำเติมเศรษฐกิจ แต่หากเราประคองไปได้ จะเป็นตัวค้ำจุนหลายธุรกิจ” นายสมคิดกล่าว
ทั้งนี้ ยืนยันว่า สิ่งที่รัฐบาลกำลังดำเนินการนั้น มีจุดประสงค์ใหญ่ เพื่อมุ่งเน้นการแก้ไขปัญหารากฐานของประเทศจริงๆ ไม่ใช่แค่การกระตุ้นเศรษฐกิจเท่านั้น
นายสมคิด กล่าวว่า จากนี้ไปการทำงานของรัฐบาล โดยจะเน้นการยกระดับชุมชน การแปรรูป การท่องเที่ยวชุมชน การส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน การศึกษา แต่ไม่ได้บอกว่าจะเลิกส่งเสริมการส่งออก แต่จะเน้นการภายในมากขึ้น นโยบายทุกนโยบายที่จะออกไป จะต้องมองที่ภาคประชาชนส่วนใหญ่ โดยจะดำเนินการจากกระทรวงลงไปจังหวัด จังหวัดประชุมผู้ว่าจังหวัด ภาครัฐร่วมเอกชน ประชาชน” นายสมคิด กล่าว
“ที่ผ่านมาเรารอให้ค่าเงินถูก ค่าเงินต่ำ เพื่อแข่งขันได้ วันนี้ค่าเงินไทย 36-37 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แต่เรามองไม่ออกว่าสินค้าไทยจะดีวันดีคืนได้อย่างไร”นายสมคิด กล่าว
นอกจากนี้ นายสมคิดยังว่า ไอที เป็นสิ่งสำคัญ ที่ผ่านมาเจอเรื่องใหญ่ ซิงเกิลเกตเวย์ แต่ไม่ต้องสนใจ เมื่อไม่มีก็คือไม่มี ที่ผ่านมามีการประมูล และการประมูล เหมือนมีเงินในกระเป๋าแต่ทำอรไรไม่ได้ ซึ่งเรื่องรายละเอียดการพัฒนาไอทีอยู่ที่นายอุตตม สาวนายน รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร(ไอซีที) ที่ต้องดูแล
ด้านนายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ในวันที่ 16 ต.ค. 2558 จะเชิญผู้ประกอบการภาคอสังหาริมทรัพย์เข้าหารือเพื่อรับฟังความเห็นต่อ มาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติเมื่อวันที่ 13 ต.ค.2558 ที่ผ่านมา นอกจากนี้ จะขอความร่วมมือให้
ผู้ประกอบการช่วยลดราคาขายบ้านและที่อยู่อาศัยลง เนื่องจากก่อนหน้านี้ ผู้ประกอบการจะใช้ข้อเสนอเว้นค่าธรรมเนียมโอนและจดจำนองเป็นเงื่อนไขพิเศษในการขายบ้านให้กับลูกค้า ซึ่งเมื่อรัฐบาลประกาศยกเว้นให้แล้ว ก็น่าจะทำให้สามารถลดราคาบ้านลงได้
คลังต่อรองบริษัทอสังหาฯร่วมมือหั่นมูลค่าบ้าน-คอนโดแลกเว้นค่าโอนและจำนอง
ไทยโพสต์ * คลังถกอสังหาฯ วอนลดราคาบ้าน หลังรัฐเข็นมาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนองเหลือ 0.01%
นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ในวันที่ 16 ต.ค.2558 จะเรียกผู้ประกอบการภาคอสังหาริมทรัพย์เข้าหารือเพื่อรับฟัง ความเห็นต่อมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติเมื่อวันที่ 13 ต.ค.2558 ที่ผ่านมา รวมทั้งจะขอความร่วมมือให้ผู้ประกอบการช่วยลดราคาขายบ้านและที่อยู่อาศัยลง เนื่องจากก่อนหน้านี้ ผู้ประกอบการจะใช้ข้อเสนอเว้นค่าธรรมเนียมโอนและจดจำนองเป็นเงื่อนไขพิเศษ ในการขายบ้านให้กับลูกค้า ซึ่งเมื่อรัฐบาลประกาศยกเว้นให้แล้ว ก็น่าจะทำให้สามารถลดราคาบ้านลงได้
สำหรับมาตรการกระตุ้น อสังหาฯ ประกอบด้วยมาตรการสินเชื่อของธนาคารอาคาร สงเคราะห์ (ธอส.) 1 หมื่นล้านบาท สามารถทำนิติกรรมได้ภายใน 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 19 ต.ค.2558 เป็นต้นไป พร้อมผ่อนเกณฑ์วงเงินกู้ โดยเงินเดือน 3 หมื่นบาทกู้ได้ 3 ล้านบาท จากเดิม 1.8 ล้านบาท มาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอนจาก 2% เหลือ 0.01% และค่าจำนองอยู่ที่ 1% มาอยู่ที่ 0.01% มีผลถึง 30 เม.ย.2559 และมาตรการให้สิทธิ์ผู้ที่ซื้อบ้านต่ำกว่า 3 ล้านบาท ให้สามารถนำเอา 20% ของมูลค่าบ้านที่ซื้อไปหักภาษีบุคคลธรรมดาได้เป็นเวลา 5 ปี จนถึง 31 ธ.ค.2559
นางอังคณา ปิลันธน์ โอวาท ไชยมนัส กรรมการผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยถึงความคืบหน้ามาตรการสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือลูกค้ารายได้น้อยวงเงิน 1 หมื่นล้านบาท ให้มีที่อยู่อาศัยตามนโยบายรัฐบาล ว่าขณะนี้พบว่ามีลูกค้าเดิมที่ยังไม่ได้อนุมัติสินเชื่อจากธนาคารแจ้งความประสงค์ขอเปลี่ยนมาเข้าโครงการสินเชื่อเพื่อผู้มีรายได้ปานกลางรายได้น้อย มีจำนวนวงเงินรวมกันราว 2 พันล้านบาท
ขณะเดียวกัน คาดว่าหลังเปิดตัวโครงการในวันที่ 19 ต.ค.นี้ ภายใน 2 สัปดาห์แรก จะมียอดยื่นขอสินเชื่อถึง 3 พันล้านบาท และน่าจะมียอดยื่นขอสินเชื่อครบ 1 หมื่นล้านบาทภายใน 1-2 เดือนหลังจากนี้ ส่วนยอดอนุมัติจะต้องรอการตรวจคุณสมบัติเพื่อเรียกมาทำนิติกรรมต่อไป
ก่อนหน้านี้ นายโสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอส เตท แอฟแฟร์ส หรือ AREA ได้เสนอมุมมองถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านอสังหาริมทรัพย์ ว่า การปรับลดภาษี และค่าธรรมเนียมโอนจาก 3% เหลือ 0.02% นั้น เป็นการดำเนินการกระตุ้นการเร่งโอน เพื่อผู้ประกอบการรายใหญ่ๆ จะสามารถโอนบ้านได้แล้วเสร็จในระยะเวลาอันสั้น เป็น การลดความเสี่ยงของผู้ประกอบการโดยกระจายความเสี่ยง ไปสู่ประชาชนมากกว่า ขณะเดียวกัน ในส่วนของมาตรการทางภาษีที่ประชาชนสามารถนำ 20% ของมูลค่าที่อยู่อาศัยนำมาลดหย่อนภาษีบุคคลธรรมดา เป็นระยะเวลา 5 ปี โดยให้เริ่มตั้งแต่วันที่ 31 ธ.ค.59 เป็นต้นไป ก็เป็นไปเพื่อการช่วยเร่งการโอนของโครงการโดยเฉพาะโครงการขนาดใหญ่ๆ เช่นกัน
ด้าน นายเบญจรงค์ สุวรรณ คีรี ผู้อำนวยการอาวุโส ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า มาตรการกระตุ้นอสังหาริม ทรัพย์ จะช่วยระบายสต็อกที่อยู่อาศัยให้กับผู้ประกอบการมากกว่าส่งผลดีต่อเศรษฐกิจในภาพรวม เนื่องจากผู้ประกอบการมีสต็อกรอขายอยู่เป็นจำ นวนมาก ดังนั้นการเริ่มโครงการใหม่น่าจะชะลอออกไปเพื่อรอกำลังซื้อในอนาคต.