- Details
- Category: อสังหาริมทรัพย์ฯ
- Published: Friday, 27 June 2014 23:34
- Hits: 3368
มั่นคงฯ จุดประกาย ‘อารยสถาปัตย์’ ยกระดับคุณภาพชีวิตครอบครัวและงานสถาปัตย์ไทย ผ่านโครงการ MK Young Creative Design Contest 2014
หลังจากที่ บริษัท มั่นคงเคหะการ จำกัด (มหาชน) หรือ MK ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์โครงการ'ชวนชื่น' และ'สิรีนเฮ้าส์' ได้เดินหน้าเชิญชวนนักออกแบบสถาปัตย์รุ่นใหม่รวมทั้งนิสิตนักศึกษาทั่วประเทศ ร่วมประชันไอเดียสร้างสรรค์ผ่านผลงานการออกแบบบ้านเพื่อทุกคน โดยคำนึงถึงสมาชิกทุกช่วงวัย ในโครงการ MK Young Creative Design Contest 2014: Universal Design ภายใต้แนวคิด'สะดวก ปลอดภัย เป็นธรรมทั่วถึง และเท่าเทียม'ซึ่งได้รับความสนใจจากนิสิตนักศึกษาและนักออกแบบรุ่นใหม่เข้าร่วมประกวดอย่างล้นหลาม โดยล่าสุดได้เชิญนักวิชาการด้านงานออกแบบ ดร.อันธิกา สวัสดิ์ศรี อาจารย์ภาควิชาสถาปัตยกรรมภายใน คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง และนายกฤษนะ ละไล ตัวแทนสื่อมวลชนและกูรูผู้นิยามคำว่า'อารยสถาปัตย์'ซึ่งเป็นอีกผู้หนึ่งที่จุดประกายให้สังคมไทยได้เล็งเห็นความสำคัญกับการออกแบบเพื่อความเท่าเทียมกันของคนในสังคม มาร่วมให้ความรู้ให้กับผู้เข้าประกวดฯ โดยจัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
ดร.อันธิกา สวัสดิ์ศรี อาจารย์ภาควิชาสถาปัตยกรรมภายใน คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กล่าวถึง 'แนวคิดการออกแบบเพื่อทุกคนกับที่พักอาศัย หรือ Universal Design for Inclusive Living'ว่า ในสมัยก่อนหากเราพูดถึง Universal Design เราอาจจะนึกถึงเฉพาะ'คนพิการ' แต่เมื่อยุคสมัยและสังคมได้เปลี่ยนแปลงไป Universal Design ได้เริ่มเข้ามามีบทบาทในงานออกแบบที่อยู่อาศัยมากขึ้นตามแนวคิด สะดวก เป็นธรรมทั่วถึง ปลอดภัย เข้าถึงและเท่าเทียม และที่สำคัญที่สุดคือ ทำอย่างไรให้ได้ความสวยงามด้วย เพราะสมัยก่อนเมื่อเรานึกถึง Universal Design ก็จะได้ภาพประมาณห้องน้ำในโรงพยาบาล ซึ่งหากเป็นบ้านพักอาศัย ก็ต้องคำนึงถึงความสวยงามที่ทุกคนทุกวัยสามารถใช้ร่วมกันได้ ดังนั้นกลุ่มเป้าหมายหรือ User ของ Universal Design ซึ่งในปัจจุบันก็คือ 'สมาชิกในครอบครัวที่ต้องการการดูแลเป็นพิเศษ' ในที่นี้มีความหลากหลายแตกต่างกันไป อาจจะต้องรวมไปถึงทุกคนในครอบครัวในแต่ละช่วงวัยต่างๆ เพราะในบางครอบครัวนั้น อาจมีสมาชิกอาศัยรวมกันในหลายเจนเนอเรชั่น ซึ่งทุกคนจะเป็นไปตามช่วงชีวิตไม่ว่าจะเป็น 'เกิด แก่ เจ็บ ตาย'
สำหรับ หลักการในการออกแบบจะเริ่มจากการศึกษาข้อมูลของกลุ่มเป้าหมายก่อนลงมือออกแบบกลุ่มเป้าหมาย หรือ User อาจแตกต่างกัน ผู้ป่วยหรือผู้พิการก็จะมีความแตกต่างกัน ซึ่งต้องมีวิธีการเข้าถึงข้อมูลที่หลากหลาย ที่นอกจากข้อมูลจากงานวิจัยต่างๆ แล้ว บางครั้งพบว่าสถาปนิกเองอาจต้องทดลองด้วยตัวเองเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องและครบถ้วนในทุกด้านมากที่สุด ภายใต้หลักในการออกแบบ คือ 1.ใช้ได้ทั่วถึงเท่าเทียม (Equitable Use) 2.การปรับให้เข้ากับความต้องการของทุกคน (Flexibility in Use) 3.ใช้งานง่ายไม่ซับซ้อน (Simple and Intuitive Use) 4.ให้ข้อมูลที่เข้าใจได้ง่าย (Perceptible Information) 5. มีการวางแผนเผื่อสำหรับเหตุผิดพลาด (Tolerance for Error) 6.ใช้แรงน้อยเมื่อใช้งาน (Low Physical Effort) 7.มีขนาดของพื้นที่ว่างสะดวกในการเข้าถึงและใช้สอย (Size and Space for Approach and Use)
“ปัญหาของ Universal Design ในงานออกแบบของไทยคือ ความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ของการใช้งาน และผู้ออกแบบหรือสถาปนิกยังไม่ได้ผ่านกระบวนคิดรอบสำหรับทุกคนในครอบครัวหรือสังคมอย่างแท้จริง เช่น อาจจะมาต่อเติมหรือติดตั้งในภายหลัง ซึ่งนอกจากจะเกิดความไม่สวยงามกลมกลืนแล้ว ยังเกิดการสิ้นเปลืองในเรื่องของงบประมาณการก่อสร้าง ซึ่งหากเรามีการดีไซน์เผื่อไว้ตั้งแต่ตอนแรกให้สามารถตอบสนองต่อทุกช่วงชีวิตของทุกเจนเนอเรชั่นได้ ก็จะเป็นการช่วยประหยัดในเรื่องของงบประมาณและยังคงดีไซน์ความสวยงามของการออกแบบที่กลมกลืนสำหรับที่อยู่อาศัยได้อย่างแท้จริง
นอกจากนั้น ดร.อันธิกา ยังได้กล่าวถึงแนวโน้มของการออกแบบ Universal Design ว่า ในอนาคตการออกแบบ Universal Design จะขยายไปสู่ที่พักอาศัยมากขึ้น จากเดิมที่มุ่งเน้นเฉพาะพื้นที่สาธารณะเนื่องจากมีกฎหมายกำหนด แต่สำหรับที่อยู่อาศัยถึงแม้ในปัจจุบันจะยังไม่มีกฎหมายออกมาบังคับใช้ แต่ในอนาคตจะมีปัจจัยหลายอย่างที่เกื้อหนุนต่อการออกแบบ Universal Design สำหรับที่อยู่อาศัยมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสัดส่วนของสังคมผู้สูงอายุที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เศรษฐกิจที่ขยายตัวทำให้คนมีรายได้สูงขึ้น ส่งผลต่อการคำนึงถึงคุณภาพชีวิตที่เพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย ซึ่งที่อยู่อาศัยก็เป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ที่จะต้องมีการออกแบบโดยคำนึงถึงคุณภาพชีวิตที่ดีของทุกช่วงอายุ และเป็นหลักประกันที่มั่นคงสำหรับทุกคนในครอบครัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งสังคมไทยที่มักอยู่อาศัยรวมกันมากกว่า 2 เจนเนอเรชั่น
ทางด้าน นายกฤษนะ ละไล ตัวแทนสื่อมวลชนและกูรูผู้นิยามคำว่า'อารยสถาปัตย์'กล่าวเสริมว่า ความเป็นสากลคือความเท่าเทียมของทุกคนในสังคม ไม่ว่าคนๆ นั้นจะเป็นคนพิการ คนแก่ หรือเด็ก จะต้องสามารถใช้ชีวิตร่วมกันได้อย่างเท่าเทียม สะดวก และปลอดภัย เหมือนในประเทศญี่ปุ่นที่ถือเป็นต้นแบบที่ดีมากของการออกแบบให้ทุกๆ พื้นที่ไม่ว่าจะเป็นสถานที่สาธารณะ ซึ่งในประเทศไทยเองยังต้องมีการพัฒนาอีกมาก และหนึ่งในผู้ที่จะมาร่วมปฏิรูปการออกแบบสำหรับสังคมคุณภาพในอนาคตก็คือ 'สถาปนิกรุ่นใหม่' นั่นเอง
“สำหรับที่อยู่อาศัยถึงแม้ว่าจะไม่มีกฎหมายบังคับเหมือนพื้นที่สาธารณะ แต่ก็ถือเป็นมิติใหม่ของการออกแบบที่จะต้องตอบสนองต่อทุกคนในครอบครัว เป็นการออกแบบเพื่อสร้างหลักประกันที่ดีให้กับครอบครัว แน่นอนที่สุดว่าทุกคนเกิดมาก็ต้องชราภาพและเกิดการบกพร่องของอวัยวะต่างๆ ตามมาในอนาคต ดังนั้นการประกวดในครั้งนี้จึงถือเป็นมิติใหม่ของคำว่า'บ้าน'ในอนาคต และที่สำคัญคือจะเป็นอีกหนึ่งไอเดียดีๆ ที่จะกระตุ้นเตือนให้ทุกคนในสังคมได้ร่วมกันตระหนักในเรื่องนี้กันมากขึ้น”
แน่นอนว่า อีกไม่นานเราก็จะได้เห็นผลงานการออกแบบ Universal Design สำหรับบ้านในอนาคตโดยกลุ่มคนรุ่นใหม่เหล่านี้ผ่านการสร้างสรรค์ไอเดียที่หลากหลายและน่าสนใจ ซึ่งเชื่อแน่ว่าการประกวดในครั้งนี้จะเป็นอีกหนึ่งเวทีที่ช่วยกระตุ้นเตือนให้ทุกภาคส่วนในสังคมได้ตระหนักถึง Universal Design อย่างจริงจังกันมากขึ้น พร้อมทั้งร่วมกันพัฒนา และยกระดับงานสถาปัตยกรรมไทยสู่สากลได้อย่างสง่างาม
สำหรับ ผู้สนใจสามารถติดตามความคืบหน้าและชมผลการประกวดได้ที่ www.mk.co.th และ www.facebook/mk.contest เพจ MK Young Creative Design Contest