WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

1Home Builder

รายงานพิเศษ : นวัตกรรมและเทคโนโลยี...โอกาสใหม่ ขับเคลื่อนธุรกิจรับสร้างบ้านให้เติบโตอย่างยั่งยืน

   แนวหน้า : ในงานมหกรรมรับสร้างบ้าน Home Builder Expo 2015 ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 20-23 สิงหาคม 2558 ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ซึ่งจัดโดย สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน ได้มีการจัดกิจกรรมสัมมนา “ร่วมฟัง ร่วมคิด กำหนดทิศธุรกิจรับสร้างบ้าน” โดยมีหัวข้อการสัมมนาที่สำคัญ คือ ภาพรวมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมาถึงปัจจุบัน เทคโนโลยีการสื่อสาร การก่อสร้างและการออกแบบในธุรกิจรับสร้างบ้าน รวมถึงการปรับตัวกับการดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน

    ผลจากการสัมมนาบรรดาวิทยากรได้ชี้ชัดว่า ในภาวะเศรษฐกิจโลกผันผวน การปรับตัวให้สอดคล้องกับสถานการณ์เป็นสิ่งสำคัญสำหรับธุรกิจรับสร้างบ้าน โดยตลาดอสังหาริมทรัพย์ยังมีปัจจัยเสี่ยงหลายประการท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว การแข่งขันเพิ่มสูงขึ้น ผู้ประกอบการธุรกิจรับสร้างบ้านต้องมองหาโอกาสใหม่ ไปพร้อมกับการปรับแนวทางกลยุทธ์การตลาดให้มีความระมัดระวังมากขึ้น การนำนวัตกรรมเทคโนโลยีใหม่ๆเข้ามาเสริมศักยภาพ สร้างความแตกต่างเหนือคู่แข่ง เป็นอีกหนึ่งโอกาสสำหรับธุรกิจรับสร้างบ้านในอนาคต

    ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริหารวิชาการ และคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อของประวัติศาสตร์ ภาวะเศรษฐกิจไทยมีการปรับเปลี่ยนตลอดเวลา ในยุคโลกาภิวัฒน์ ตลาดเปิดเสรีมากขึ้น ประเทศไทยต้องเผชิญกับการผันผวนทางเศรษฐกิจ คาดว่าปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจยังคงภาวะตกต่ำยาวนานกว่าจะฟื้นตัว แม้ว่าในอีก 2-3 ปีข้างหน้าเศรษฐกิจของอเมริกาจะมีแนวโน้มฟื้นตัว แต่ทว่าสถานการณ์เศรษฐกิจจีนกลับส่งสัญญาณฟองสบู่แตก ซึ่งมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยแน่นอน เนื่องจากประเทศไทยมีการส่งออกสินค้าและเป็นหนึ่งในห่วงโซ่อุปทาน (Supplies Chain) ของอุตสาหกรรมการผลิตของจีน ดังนั้นประเทศไทยต้องเตรียมรับมือ ด้วยการพัฒนาฐานความรู้และนวตกรรม (Innovation) ซึ่งจะเป็นตัวแปรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอนาคต

    สำหรับ สถานการณ์ภาวะเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังปี 2558 ของประเทศไทย คาดว่าจะอยู่ในระดับ 2.9-3.4% เนื่องจากภาวะการส่งออกของประเทศไทยยังคงตัวเลขติดลบ ในขณะที่ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ในปี 2559 คาดการณ์เติบโตอยู่ระดับ 3% ดังนั้นการมองหาโอกาสใหม่ในกลุ่มประเทศอาเซียน (ASEAN) ถือเป็นตลาดที่สำคัญของผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์จากประเทศไทย นอกจากนี้กฎหมายที่ดิน เกิดการจัดการระบบที่ดินใหม่ คือโอกาสของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เช่นเดียวกัน

นำเทคโนโลยีใหม่ต่อยอดธุรกิจก้าวไกล

     นายไผท ผดุงถิ่น นายกสมาคม Thailand Tech Startup Association และผู้ก่อตั้งเว็บไซด์ Builk.com กล่าวว่า ด้วยแนวโน้มพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปให้ความใส่ใจเรื่องสุขภาพและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ธุรกิจรับสร้างบ้านก็ต้องมองหาโอกาสจากตลาดที่เปลี่ยนแปลง โดยพัฒนาธุรกิจตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมาย ด้วยการนำเทคโนโลยีเรื่องความปลอดภัย ประหยัดพลังงาน ต้นทุน และการบริการดูแลลูกค้าอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ผู้ประกอบการรับสร้างบ้านต้องมีการวางแผนออกแบบโครงสร้างพื้นฐานระบบไอทีและอินเตอร์เน็ตให้กับคนสร้างบ้านด้วยในอนาคต ในรูปแบบบ้านอัจฉริยะ (Smart Home) ทุกอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านมีการต่อเชื่อมอินเตอร์เน็ตและสมาร์ทโฟน (Internet of Things: IoT)

       นอกจากนี้ ก็ต้องมองหาเทคโนโลยีการก่อสร้างใหม่ๆเข้ามาเสริม ไม่ว่าจะเป็น เทคโนโลยีพิมพ์ 3 มิติ (3D printer) เป็นอีกหนึ่งโอกาสของวงการก่อสร้าง เทคโนโลยีวัสดุวิศวกรรม Cross Laminated Timber : CLT ถือเป็นวัสดุไม้ที่แข็งแรงและเบาเหมาะสำหรับตลาดใหม่ รวมถึงกลุ่มวัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Precast Concrete) มาเจาะตลาด เพื่อแก้ไขปัญหาแรงงานขาดแคลนอของอุตสหากรรมการก่อสร้าง ขณะเดียวกันก็ต้องมีการนำระบบไอทีเข้ามาช่วยบริหารจัดการการก่อสร้าง เพื่อให้ธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืน

โจทย์คุณภาพมาตรฐานสร้างธุรกิจอยู่รอด

    นายปราโมทย์ ธีรกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท โฟร์พัฒนา จำกัด กล่าวว่า ตลาดเปลี่ยนแปลง มีการแข่งขันสูงขึ้น คนระดับปฏิบัติการและช่างฝีมือหายากขึ้น ไม่ทันต่อความต้องการของตลาด ในขณะที่ผู้บริโภคเองก็มีความคาดหวังสูงมากขึ้น ทำให้การทำตลาดยากมากขึ้นตามไปด้วย

       ดังนั้น การมุ่งเน้นเรื่องคุณภาพงานก่อสร้าง ถือเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคต้องการ และบริษัท โฟร์พัฒนา ได้ให้ความสำคัญเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่อง นอกเหนือจากนั้นการมุ่งพัฒนาคุณภาพบุคลากรที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะทีมช่างก็มีความสำคัญเช่นเดียวกัน ส่งผลให้บริษัท โฟร์พัฒนา ประสบความสำเร็จ สามารถขยายธุรกิจและรายได้ให้เติบโตมากขึ้น

       นายศักดา โควิสุทธิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท รอแยลเฮ้าส์ จำกัด กล่าวว่า นอกเหนือจากเรื่องคุณภาพแล้ว เรื่องของคนก็มีส่วนสำคัญ แต่จะทำอย่างไรให้คนมีคุณภาพและอยู่กับบริษัทได้นาน เพราะธุรกิจรับสร้างบ้าน เป็นธุรกิจที่ต้องดำเนินการแบบต่อเนื่อง สำหรับสิ่งที่บริษัท รอแยลเฮ้าส์ มุ่งเน้นคือ เรื่องการสื่อสารระหว่างลูกค้ากับบริษัท เพื่อรับรู้กระบวนการดำเนินงานทั้งหมด เพื่อให้ได้งานที่ดี เร็วและผิดพลาดน้อย คือ เคล็ดลับของความสำเร็จ

     บริษัท รอแยลเฮ้าส์ มองว่าการจะลดปัญหาก่อสร้างคือ ต้องมีมาตรฐานการก่อสร้างระดับสากล เพราะการจะสร้างบ้านในฝัน ต้องสร้างคนด้วย การพัฒนาคนร่วมกับกับสถาบันการศึกษาเข้ามารองรับตลาด เป็นสิ่งสำคัญสำหรับวงการก่อสร้าง เพื่อจะได้ไม่ต้องผชิญกับปัญหาแรงงานต่างด้าว ดังนั้นเคล็ดลับจึงอยู่ที่คน พัฒนาคนให้มีศักยภาพ ดูแลงานบ้านได้ตามที่ลูกค้าคาดหวัง

     นายสุธี เกตุศิริ กรรมการผู้จัดการ กลุ่มบิวท์ ทู บิวด์ กล่าวว่า โจทย์เรื่องคุณภาพมาตรฐานบ้าน เป็นหัวใจสำคัญของธุรกิจรับสร้างบ้านที่จะอยู่รอดได้ เพราะสถานการณ์ตลาดเปลี่ยนแปลง จะเห็นว่าเจ้าของบ้านเปลี่ยนไปมีองค์ความรู้มากขึ้น สามารถค้นหาข้อมูลผ่านอินเตอร์เน็ตได้ มีความหวังสูง ขณะที่ผู้ประกอบการรับสร้างบ้านก็เปลี่ยนแปลงไปมีมาตรฐานงานก่อสร้างมากขึ้น สามารถแย่งส่วนแบ่งตลาดที่อยู่ในมือผู้รับเหมารายย่อยได้ ซึ่งมีมูลค่าตลาดไม่ต่ำกว่า 50,000 ล้านบาท ปัจจุบันผู้ประกอ

     ธุรกิจรับสร้างบ้านมีส่วนแบ่งกว่า 20% จากเดิมมีเพียง 5% ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าบริษัทธุรกิจรับสร้างบ้านมีความแข็มแข็งขึ้น สามารถสร้างมูลค่าตลาดได้กว่า 10,000 ล้านบาทในปี 2558 นี้ และมีช่องว่างตลาดให้เติบโตอีกมาก

       ธุรกิจรับสร้างบ้านจะสำเร็จได้หรือไม่ได้ ขึ้นอยู่กับคุณค่าของธุรกิจด้วยการที่ผู้บริโภคยอมจ่ายเพิ่มมากขึ้น 30% เพื่อเปลี่ยนจากการจ้างกลุ่มรับเหมารายย่อย มาเป็นใช้บริการธุรกิจรับสร้างบ้าน เพราะผู้บริโภคคาดหวังจากความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ที่ดี เพื่อคุณภาพที่ดี สามารถตอบสนองความต้องการผู้บริโภค อีกทั้งราคาบ้านแพงขึ้นต่อเนื่อง คุณค่าของบ้านจะอยู่ได้ จะสร้างคุณค่าอย่างไร เพื่อให้คุ้มค่ากับเงินของลูกค้าที่จ่าย

     ธุรกิจนี้เ ป็นธุรกิจสินค้าบอกต่อ เป็น Production Oriented Marketing ไม่ใช่ Marketing Oriented แม้การตลาดจะสำคัญมาก แต่อาจไปไม่รอด หากทำผลิตภัณฑ์ไม่ดีพอ ขณะที่ปัญหาแรงงานขาดแคลนจะมีมากขึ้น แม้ภาวะเศรษฐกิจโลกโดยรวมไม่ดี แต่การปรับค่าแรงงานไม่มีลดลง ดังนั้นธุรกิจต้องกล้าลงทุนแลกมาด้วยการมีประสิทธิภาพ คุณภาพก่อสร้างที่มีมาตรฐานด้วย เพราะตลาดบ้านราคาแพง ยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก ในขณะที่บ้านราคาถูก จะค่อยๆตายหายไปจากตลาด เหมือนผู้รับเหมารายย่อย เป็นแนวโน้มธุรกิจนับจากนี้ ธุรกิจจึงควรมุ่งเน้นพัฒนาประเด็นนี้เพิ่มขึ้น

        นายสุรัตน์ชัย กึงฮะกิจ ประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท ดิ เอ็มเพอเร่อร์ เฮ้าส์ จำกัด กล่าวว่า หัวใจหลักของการดำเนินธุรกิจรับสร้างบ้าน คือเรื่องคุณภาพที่ดีจึงจะอยู่รอดได้  ต้องคิดต่างจากผู้ประกอบการรายอื่น สร้างการแข่งขันให้ได้ เพราะตลาดยังมีช่องว่าง เป็นตลาดที่สามารถแย่งชิงส่วนแบ่งจากกลุ่มผู้รับเหมาก่อสร้างได้อีก 80% แต่การแข่งขันราคายากมากขึ้น ต้องนำนวตกรรมมาสร้างความแตกต่าง นอกจากนี้ยังสามารถเพิ่มโอกาสให้ธุรกิจนอกเหนือจากตลาดในประเทศไทยได้อีกด้วย เพราะยังมีตลาดกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งเมียนมาร์ สปป.ลาว และกัมพูชา เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยเข้าไปเจาะตลาดใน ASEAN ได้อีกมาก

    นายวิสิฐษ์ โมไนยพงศ์ นายกสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน กล่าวว่า สมาคมฯได้คาดการณ์ว่าการเติบโตของตลาดรับสร้างบ้านในปี 2558 นี้ไม่น่าจะเกิน 7% จากปี 2557 ซึ่งถือเป็นอัตราที่ต่ำมากสำหรับธุรกิจนี้ ทั้งนี้สมาคมฯได้เตรียมแผนกระตุ้นกำลังซื้อผู้บริโภคไว้แล้ว โดยที่ผ่านมาได้ขยายฐานพันธมิตรในกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ซึ่งก็ได้รับความสนใจจากลูกค้ามาก เพราะช่วยประหยัดเวลาและได้รับความสะดวก ตลอดจนโปรโมชั่นราคาพิเศษที่พันธมิตรให้กับสมาชิกของสมาคมฯ

     นอกจากนี้ ยังมีโปรโมชั่นกับสถาบันการเงิน ที่เป็นตัวช่วยที่ทำให้ลูกค้าตัดสินใจปลูกสร้างบ้านได้เร็วขึ้น ในสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน ซึ่งกลุ่มลูกค้าที่เป็นฐานใหญ่ จากการสำรวจพบว่า ในปี 2558 นี้เป็นกลุ่มผู้ปลูกสร้างบ้านในระดับราคาไม่เกิน 2.5-5 ล้านบาท

     อย่างไรก็ตามถ้ารัฐบาลจะสามารถช่วยกระตุ้นความเชื่อมั่นและกำลังการใช้จ่ายของผู้บริโภคกลับมาสู่ระบบ ก็น่าจะเป็นมาตรการด้านภาษีที่สมาคมได้เคยเสนอไปก่อนหน้านี้ คือการปรับลดภาษีให้ผู้ปลูกสร้างบ้านบนที่ดินของตนเองในอัตรา 5% โดยทยอยจ่ายคืนในรูปแบบค่าลดหย่อนภาษีเป็นเวลา 5 ปี ซึ่งมาตรการนี้ควรกำหนดเวลา 6-12 เดือน เพื่อเป็นการกระตุ้นตลาด...

        ที่มา:สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!