- Details
- Category: อสังหาริมทรัพย์ฯ
- Published: Tuesday, 24 June 2014 17:33
- Hits: 3440
ผ่ามุมมอง 2 ส.สร้างบ้านแก้ปัญหาวิกฤติแรงงานต่างด้าว
บ้านเมือง : กลายเป็นประเด็นฮอตไปเสียแล้ว วิกฤติแรงงานคนต่างด้าว หลังจากตลอดช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมามีข่าวลือปล่อยออกมาว่า ทางการไทยจะกวาดล้างแรงงานเถื่อน ในที่สุด ‘คสช.’ เดินหน้านโยบายจัดระเบียบแรงงานทำให้ชาวต่างด้าวเข้าเมืองแบบผิดกฎหมาย แห่กลับประเทศ โดยเฉพาะชาวกัมพูชาไม่ต่ำกว่า 1.5 แสนคน
ทั้งนี้ กลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ย่อมได้รับผลกระทบกันไปตามๆ กัน แต่ 1 ในนั้นก็คือธุรกิจรับสร้างบ้าน โดยเฉพาะกับปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นถึงวิกฤติแรงงานครั้งนี้ ลองไปฟังความคิดเห็นของ 2 สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้านดังประเด็นต่อไปนี้
THCA แนะจัดระเบียบต่างด้าว
นายสิทธิพร สุวรรณสุต นายกสมาคมไทยรับสร้างบ้าน หรือ THCA เปิดเผยว่า ปัญหาแรงงานชาวกัมพูชาตื่นกระแสข่าวลือการกวาดล้างแรงงานเถื่อนของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จนแห่กลับประเทศจำนวนกว่า 2 แสนราย ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจที่ต้องพึ่งพิงแรงงานเหล่านี้ และแม้ว่าจะไม่เกิดปัญหาแรงงานหนีกลับมาประเทศในขณะนี้ ที่ผ่านมาไทยประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานอยู่แล้ว ซึ่งทำให้ปัญหาขาดแคลนแรงงานทวีความรุนแรงมากขึ้น
ส่วนปัญหาแรงงานผิดกฎหมายมีมาช้านานแล้ว โดยช่วงแรกที่แรงงานต่างด้าวเหล่านี้เข้ามาในเมืองไทยส่วนใหญ่เข้ามาถูกต้อง แต่หลังจากนั้นได้เปลี่ยนงานย้ายไปทำกับผู้ประกอบการรายอื่นที่ให้ค่าแรงแพงกว่า หรือตามการชักชวนของเพื่อน
แรงงานด้วยกัน เมื่อเปลี่ยนนายจ้างหรือย้ายเขตโดยที่ไม่ได้แจ้งเจ้าหน้าที่ ทำให้กลายเป็นแรงงานผิดกฎหมายในที่สุด
ทั้งนี้ ปัญหาแรงงานต่างด้าวหนีกลับประเทศกัมพูชา ผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจึงน่าจะเป็นผู้รับเหมารายใหญ่ โครงการก่อสร้างเร่งด่วน ส่วนผู้ประกอบการรับสร้างบ้านที่เป็นผู้ประกอบการรายเล็กจึงไม่ได้รับผลกระทบหรือได้รับผลกระทบน้อยมาก
อย่างไรก็ตาม คสช.ควรใช้โอกาสนี้แก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวอย่างยั่งยืน รองรับการกลับมารอบใหม่ของแรงงานให้กลายเป็นแรงงานถูกกฎหมาย ซึ่งในฐานะของสมาคมไทยรับสร้างบ้านต้องการเสนอแนะให้ คสช.วางกฎระเบียบในประเด็นหลักๆ ได้แก่ การจัดระเบียบการรับและเคลื่อนย้ายแรงงาน ซึ่งเป็นปัญหาสำหรับผู้รับเหมาที่ต้องย้ายไซต์งานก่อสร้างไปยังต่างจังหวัดหรือนอกเขตที่ขึ้นทะเบียนแรงงานและยังเป็นช่องทางให้เจ้าหน้าที่เรียกรับสินบ่น และยังเป็นที่มาให้ทั้งนายจ้างไม่ต้องการเสียค่าใช้จ่ายย้ายแรงงานโดยไม่แจ้งจนเป็นที่มาของแรงงานผิดกฎหมายในที่สุด
อย่างไรก็ตาม ควรวางกฎการโอนย้ายแรงงานต้องสมยอมทั้ง 3 ฝ่าย หากแรงงานต้องการเปลี่ยนงานหรือนายจ้างไม่ต้องการว่าจ้างแล้วได้แก่ แรงงาน นายจ้างใหม่ และนายจ้างเก่า นอกจากนี้ยังต้องกำหนดให้นายจ้างใหม่จ่ายค่ารับโอนแรงงานจากนายจ้างเก่า เพราะการขึ้นทะเบียนแรงงานต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงและเป็นต้นทุน ที่ผ่านมานายจ้างใหม่หากต้องการแรงงานก็จะใช้วิธีขึ้นค่าแรงเพื่อดึงแรงงานจากนายจ้างที่ได้ไปขึ้นทะเบียนแรงงานไว้ โดยที่ตัวเองไม่ได้เสียค่าจดทะเบียนแรงงาน ดังนั้นจึงควรเสียค่าธรรมเนียมส่วนนี้ให้กับนายจ้างเก่าด้วยเพื่อความเป็นธรรม
ที่ผ่านมาผู้พัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ได้พยายามแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานอย่างต่อเนื่อง โดยในส่วนของบริษัทได้นำเทคโนโลยีมาใช้ในการก่อสร้างมาใช้เพื่อลดการใช้แรงงาน อาทิ เครื่องฉาบ เครื่องพ่นปูน เครื่องขัดแต่งผิวจะทำให้งานก่อสร้างเสร็จเร็วขึ้นจากเดิมบ้านหนึ่งหลังต้องใช้เวลาในการก่ออิฐฉาบปูนถึง 1 เดือน แต่หากใช้เครื่องมือเหล่านี้ใช้เวลาเพียง 7 วันเท่านั้น และยังใช้แรงงานน้อยอีกด้วย
"ข้อเสียของวงการก่อสร้างบ้านเราคือไม่มีการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ออกมาใช้ หากต้องการใช้เทคโนโลยีการก่อสร้างจะต้องไปซื้อเครื่องจักรจากต่างประเทศ ซึ่งมีราคาแพงนับแสนบาทถึงหลักล้าน ทำให้ผู้รับเหมารายย่อย เอสเอ็มอี ไม่มีเงินลงทุนซื้อเครื่องจักร จึงจำเป็นต้องพึ่งพิงแรงงานหรือต้องใช้เวลาในการก่อสร้างนานขึ้น"นายสิทธิพร กล่าว
HBA แนะ 3 ข้อแก้วิกฤติแรงงาน
ด้านนายวิสิฐษ์ โมไนยพงศ์ นายกสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน หรือ (HBA) เปิดเผยว่า สมาคมฯ ได้จัดทำจดหมายเปิดผนึกส่งประเด็นความเดือดร้อนและข้อเสนอแนะผู้ประกอบการธุรกิจรับสร้างบ้าน ไปถึงหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เนื่องจากได้รับการร้องเรียนจากสมาชิกฯ เรื่องผลกระทบจากแรงงานอพยพกลับประเทศกัมพูชา ซึ่งทำให้เกิดปัญหาแรงงานขาดแคลนฉับพลันในธุรกิจรับสร้างบ้านและผู้ปลูกสร้างบ้านบนที่ดินของตนเอง
โดยสมาคมฯ ได้รวบรวมปัญหาและข้อเสนอแนะเพื่อเป็นประโยชน์ต่อคณะทำงานในการแก้ปัญหาต่อไป 3 ข้อร้องเรียนหลัก คือ ด้านแรงงาน มีข้อเสนอแนะในการแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ในการก่อสร้างบ้าน ได้แก่ ขอให้คณะทำงานได้ผ่อนผันการทำงานข้ามเขต เพื่อบรรเทาปัญหาแรงงานขาดแคลน ปัญหาเรื่องความชัดเจนของอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานรัฐ โดยขอให้จัดตั้งหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง ชัดเจน ไม่ซ้ำซ้อน หรือจัดตั้งหน่วยงานที่ร่วมทำงานในลักษณะครบวงจรที่เดียว เพื่อความสะดวกรวดเร็วในกระบวนการนำเข้าแรงงาน ปัญหาเรื่องการกำหนดพื้นที่การทำงาน โดยกำหนดพื้นที่ทำงานให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงโดยกำหนดให้ใช้พื้นที่จังหวัด ปัญหาการกำหนดค่าใช้จ่ายในการนำเข้าแรงงานขอให้ปรับลดค่าใช้จ่ายให้ต่ำลง เพื่อจูงใจให้แรงงานกลับเข้ามาทำงานในค่าใช้จ่ายที่ต่ำลงและเป็นการลดภาระของผู้ประกอบการ ส่งผลให้ต้นทุนสู่ผู้บริโภคต่ำลง
ส่วนข้อเสนอด้านเศรษฐกิจ ขอให้พิจารณาแนวทางกระตุ้นกำลังซื้อของผู้บริโภค เช่น จัดทำโครงการยกเว้นภาษีผู้ก่อสร้างบ้านบนที่ดินของตนเองและโครงการลดค่าธรรมเนียมการจดจำนองจากร้อยละ 1 เป็นร้อยละ 0.01 และด้านฐานข้อมูล ขอให้พิจารณากระบวนการจัดทำฐานข้อมูลของภาครัฐโดยเฉพาะการจัดหมวดหมู่ ประเภทธุรกิจ ควรปรับฐานข้อมูลให้ตรงตามสภาพความเป็นจริงซึ่งแต่ละธุรกิจมีแตกต่างกัน เช่น ธุรกิจรับสร้างบ้านเป็นธุรกิจให้บริการรับสร้างบ้านบนที่ดินของผู้บริโภค ถือเป็นประเภทบริการแต่ถูกจัดอยู่ในหมวดหมู่ก่อสร้าง ทำให้มาตรการของภาครัฐที่ออกมานั้นจึงไม่ตรงกับความต้องการที่แท้จริง
ทั้งนี้ หวังว่าจะได้รับการพิจารณาแก้ปัญหาตามเห็นสมควร เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่ผู้ประกอบการ ซึ่งสมาคมฯ ยินดีให้ความร่วมมือกับคณะทำงาน เพื่อร่วมกันหาทางออกที่ดีอย่างเต็มที่