- Details
- Category: อสังหาริมทรัพย์ฯ
- Published: Monday, 25 May 2015 22:39
- Hits: 1676
'ธนารักษ์- รฟท.'นัดเคลียร์ที่ดิน จ่อจ้างที่ปรึกษาประเมินราคา'มักกะสัน'
แนวหน้า : นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล อธิบดีกรมธนารักษ์ เปิดเผยว่า คณะกรรมการพิจารณาเรื่องการใช้ที่ดินการรถไฟ ที่มีตัวแทนจากกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง การรถไฟแห่งประเทศไทย ( รฟท.) และกระทรวงคมนาคม จะมีการหารือเพื่อหาข้อสรุปเรื่องราคาประเมินที่ดิน มักกะสัน ในวันที่ 19 มิ.ย. นี้ โดยทั้ง 2 หน่วยงานคือ รฟท. และกรมธนารักษ์ เตรียมว่าจ้างที่ปรึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในการเข้าประเมินราคาที่ดิน
เบื้องต้น จะแบ่งสมมุติฐานการใช้พื้นที่ในหลายกรณี ได้แก่ การตีราคาประเมินในเชิงพาณิชย์ทั้ง 497 ไร่ ว่ามีราคาเท่าไร กับการตีราคาประเมินตามสัดส่วนพื้นที่มีการหารือกับ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในฐานะรองหัวหน้า คสช.ฝ่ายเศรษฐกิจ ซึ่งได้ข้อสรุปแบ่งการใช้ประโยชน์ที่ดินเป็น 3 องค์ประกอบ 1.ปอดคนกรุงเทพฯ 2.พิพิธภัณฑ์รถไฟแห่งชาติ 3.พื้นที่เชิงพาณิชย์ ส่วนเรื่องระยะเวลาให้เช่าที่ดินยังไม่สรุป คาดว่า จะมีการหารือกันในครั้งนี้ด้วย
ด้านแหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ในการหารือระหว่างกรมธนารักษ์ กับการรถไฟ ที่ผ่านมากว่า 1 เดือน ยังไม่ได้ข้อสรุป เพราะยังมีหลักคิดที่ต่างกันในเรื่องของที่การรถไฟ นำข้อมูลปี 2553 ที่มีการประเมินราคาที่ดินทั้งแปลง 497 ไร่ ตั้งสมมุติฐานให้เอกชนเช่า 50 ปี จะได้ค่าตอบแทนเป็นมูลค่า 1.95 แสนบาท และถ้าให้กระทรวงการคลังเช่าก็ต้องมีการปรับราคาขึ้นเพื่อให้เป็นปีปัจจุบัน แต่ทาง รมว.คลัง สั่งให้กรมธนารักษ์ ใช้หลักคิดตามมูลค่าที่ เช่น ถ้าเอกชนจะซื้อที่ดินแปลงนี้จะใช้เงินเท่าไร เพื่อนำมาคำนวณเป็นค่าเช่า ซึ่งต่างกับแนวคิดของการรถไฟ ที่คิดว่าถ้าอีก 50 ปีการรถไฟจะเสียประโยชน์เท่าไร โดยคิดจากค่าเช่าที่ และราคาที่ดินในอนาคตมารวมกัน
ขณะที่ข้อมูลที่มีการเจรจากันล่าสุดก็มีข้อเสนอให้กระทรวงการคลังเช่าที่ดินในราคาไร่ละ 100 ล้านบาท หรือตกตารางวาละ 2.5 แสนบาท หรือเป็นเงินราว 5 หมื่นล้านบาท ซึ่งทางกรมธนารักษ์ เห็นว่า เป็นราคาที่สูงเกินกว่าราคาประเมินที่อยู่ ตารางวาละ 1.15 แสนบาท หรือคิดเป็นราคาขายในขณะนี้เฉลี่ยอยู่ที่ 2.1 แสนบาท แต่กรณีเป็นเพียงการเช่าที่กระทรวงการคลังไม่ได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ จึงทำให้ยังหาข้อตกลงร่วมกันไม่ได้
ทั้งนี้ จึงเป็นสาเหตุที่ให้มีการจ้างที่ปรึกษาคนนอกเพื่อมาประเมินราคาใหม่ โดยหลักคือจาก 2 แนวทาง คือ ราคาประเมินกรณีพัฒนาเป็นเชิงพาณิชย์ทั้ง 497 ไร่ และการตีราคาประเมินตามแนวคิดเรื่องการใช้ที่ดินของ พล.อ.อ.ประจิน ที่กำหนดให้ แบ่งพื้นที่ 150 ไร่เป็นสวนสาธารณะ อีก 30 ไร่เป็นพิพิธภัณฑ์รถไฟ ที่เหลือ 317 แบ่งเป็น 2 ระยะ คือระยะที่ 1 จำนวน 140 ไร่ ดำเนินการได้ทันที
ส่วนระยะที่ 2 จำนวน 177 ไร่ ซึ่งปัจจุบันเป็นบ้านพักรถไฟ โรงพยาบาล และสถานีตำรวจ คาดว่าจะใช้เวลาย้ายและเริ่มก่อสร้างได้ภายใน 2 ปีครึ่ง จึงเป็นประเด็นให้ข้อหารือที่ผ่านมาไม่ได้ข้อสรุปเพราะทางการรถไฟ ต้องการให้ตีราคาแบบเหมารวมทั้งหมด ขณะที่กรมธนารักษ์ เห็นว่าให้แยกการตีราคาตามแปลงที่ใช้ประโยชน์เชิงสังคมและพาณิชย์ ควรมีราคาไม่เท่ากัน ประกอบกับการย้ายพื้นที่เชิงพาณิชย์ในระยะที่ 2 อาจไม่สามารถทำได้ตามที่วางไว้ จึงเห็นคาดว่าในการประชุมวันที่ 19 มิ.ย. แล้ว อาจต้องใช้เวลาอีกราว 10 วันเพื่อหาข้อสรุปร่วมกันและนำข้อมูลเสนอให้ซูเปอร์บอร์ดตัดสินใจว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป