- Details
- Category: อสังหาริมทรัพย์ฯ
- Published: Saturday, 23 May 2015 10:27
- Hits: 1973
ANAN ดึงยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศของญี่ปุ่น เป็นต้นแบบโครงการอสังหาฯเกาะแนวรถไฟฟ้าในไทย
บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) โชว์ศักยภาพผู้นำอสังหาฯแนวรถไฟฟ้า นำคณะสื่อมวลชนและผู้บริหารเยี่ยมชมการพัฒนาโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนของญี่ปุ่น ต่อการขยายตัวและเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศญี่ปุ่นจากอดีตสู่ปัจจุบัน พร้อมดึงยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศญี่ปุ่น เป็นต้นแบบการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยในอนาคต ตั้งเป้าแผนดำเนินงานพัฒนาโครงการเกาะแนวรถไฟฟ้า 266 สถานี ให้ครบภายในปี 2572 พร้อมขยายตัวรองรับการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนของไทย ให้สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างดีที่สุด
นายชานนท์ เรืองกฤตยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ผู้เชี่ยวชาญการพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมติดรถไฟฟ้า เปิดเผยว่า การพัฒนาประเทศโดยเฉพาะในภาคส่วนของตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทยในปัจจุบัน มีปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดการขยายตัวมากโดยเฉพาะนโยบายภาครัฐที่สนับสนุนระบบขนส่งมวลชน โครงการลงทุนโครงการสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของไทยระหว่างปี 2558-2565 ระยะเวลา 8 ปี ซึ่งจะมีวงเงินลงทุนถึง 3.6 ล้านล้านบาท ที่จะเกิดขึ้นนั้นมีทั้งโครงข่ายรถไฟระหว่างเมืองและรถไฟรางคู่, โครงข่ายขนส่งสาธารณะเพื่อแก้ไขปัญหาจราจรในกรุงเทพฯและปริมณฑล คือรถไฟฟ้า 8 สาย จัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวี 3,183 คัน และก่อสร้างโครงข่ายถนนและสะพาน รวมถึงเพิ่มขีดความสามารถทางหลวงเชื่อมโยงฐานการผลิตและประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ เชื่อมเมืองหลักกับฐานการผลิตของประเทศ เชื่อมประตูขนส่งระหว่างประเทศ, การพัฒนาโครงข่ายขนส่งทางน้ำ ได้แก่ การพัฒนาท่าเรือและตลิ่ง การเพิ่มขีดความสามารถการขนส่งทางอากาศ รวมทั้งการตั้งนิคมอุตสาหกรรมอากาศยานและพัฒนาบุคลากร เป็นต้น
การลงทุนที่กำลังจะเกิดขึ้น จะทำให้มีเงินเข้ามาหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งจะส่งผลดีกับเศรษฐกิจโดยภาพรวม ไม่เฉพาะภาคอสังหาริมทรัพย์เท่านั้น เพราะการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่ขยายออกไปตามภูมิภาคจะเป็นการเปิดโอกาสให้กับหลายธุรกิจ เช่น กลุ่มโลจิสติกส์ ซึ่งจะมีการลงทุนในส่วนของโรงงานและโกดังเก็บสินค้า ตามแนวเส้นทางรถไฟทำให้การขนส่งสามารถเชื่อมต่อกันได้มากขึ้น และช่วยย่นระยะเวลาการเดินทางได้ และถือเป็นการกระจายความเจริญออกไปต่างจังหวัด ทำให้คนต่างจังหวัดมีรายได้และกำลังซื้อมากขึ้น ส่งผลให้ความต้องการที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นด้วย
สำหรับแผนการพัฒนาโครงข่ายขนส่งสาธารณะในกรุงเทพและปริมณฑลนั้น โครงการรถไฟฟ้าสายต่างๆ เป็นโครงการที่มีความขัดเจนในการเริ่มต้นในปี 2558 โดยเฉพาะรถไฟฟ้าใหม่ 8 เส้นทาง ลงทุน 373,823 ล้านบาท จะเร่งสร้างให้เสร็จภายในปี 2563 ทั้งนี้ในเดือน มิ.ย.นี้จะเริ่มสายแรก สายสีเขียว (หมอชิต-คูคต) 18.4 กม. โครงการที่เหลือทยอยตามแผนเดือน ก.พ. มีเส้นสีส้ม (ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี) 21.2 กม. สายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) 36 กม. สายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) 30.4 กม. สายต่อขยายแอร์พอร์ตลิงก์ (พญาไท-ดอนเมือง) 21.8 กม. สายสีแดงอ่อน (บางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก) 10 กม. รถไฟฟ้าต่อขยายสีน้ำเงิน (บางแค-พุทธมณฑลสาย 4) อีก 8 กม. ซึ่งหากประเทศไทยพัฒนาระบบขนส่งมวลชนได้อย่างมีประสิทธิภาพย่อมส่งผลดีต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน รวมถึงสภาพเศรษฐกิจและสังคมให้ดีขึ้นด้วย
นอกจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานจากภาครัฐแล้วการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ในปี 2558 ก็มีส่วนทำให้เศรษฐกิจของประเทศไทยดีขึ้น จึงจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมระบบการเชื่อมต่อและการขนส่งให้สามารถเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน และประเทศอื่นๆ ในอาเซียน โดยพัฒนาโครงข่ายการขนส่งและพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกที่มีประสิทธิภาพ เพื่อเพิ่มความสะดวกในด้านการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว ดังนั้นการเชื่อมโยงเศรษฐกิจระหว่างประเทศเออีซี จึงกลายเป็นโอกาสใหม่ของทุกธุรกิจ รวมทั้งธุรกิจอสังหาฯที่ผู้ประกอบการมองว่าตลาดจะสามารถเติบโตขึ้นได้อีก
ซึ่งถ้าจะกล่าวถึงประเทศที่มีการพัฒนาตัวเองอย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็วไม่ว่าจะเป็นทางด้านเศรษฐกิจ ด้านประชาชน และที่สำคัญด้านระบบขนส่งมวลชนที่สามารถดูแลและบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพไม่ว่าจะเป็นในเมืองหลวงหรือเมืองโดยรอบต่างๆ ก็คงจะต้องยกให้ประเทศญี่ปุ่นเป็นแบบอย่างที่มีพัฒนาที่มีศักยภาพ ซึ่งการคมนาคมทางด้านรถไฟในประเทศญี่ปุ่นมีความจำเป็นอย่างยิ่งในชีวิตประจำวันของคนญี่ปุ่นเป็นอย่างมาก เพราะเนื่องจากประเทศญี่ปุ่นมีประชากรค่อนข้างเยอะ โดยเฉพาะเมืองหลวงของญี่ปุ่น คือกรุงโตเกียว ซึ่งหากรวมบริเวณปริมณฑลด้วยแล้วจะกลายเป็นเขตเมืองใหญ่ที่สุดในโลกที่มีประชากรอยู่อาศัยมากกว่า 30 ล้านคน จึงต้องมีการพัฒนาระบบขนส่งภายในประเทศอยู่ตลอดเวลาเพื่อไม่ให้เกิดความแออัด อาทิ ในเขตเมืองหลักมีให้บริการหลายกลุ่มทั้งของรัฐบาลญี่ปุ่น หรือกลุ่มบริษัทเอกชน โดยมีสถานีรถไฟที่มีประชากรจำนวนมาก เช่น สถานีชินจูกุ, สถานีอิเกะบุกุโระ, สถานีชิบุยะ, สถานีอุเมะดะ และสถานีโยะโกะฮะมะ บางสถานีมีประชากรที่ใช้การขนส่งทางรถไฟถึง 2 ล้านรายหรือมากกว่าต่อัน และรถไฟที่เร็วที่สุดในประเทศญี่ปุ่น คือรถไฟชินคันเซ็น เป็นรถไฟที่มีความเร็ว 300 กม./ชม. เป็นรถไฟที่มีความเร็วและตรงต่อเวลามากที่สุด ดังนั้นประเทศญี่ปุ่นจึงได้รับการคัดเลือกให้เป็นเมืองที่มีระบบขนส่งที่ได้รับการพัฒนาเทคโนโลยีความเร็วและระบบการบริหารจัดการได้อย่างดีที่สุด ได้นำพาความเจริญไปสู่พื้นที่ส่วนต่างๆได้สำเร็จแล้วตั้งแต่ระดับภูมิภาคไปจนถึงระดับชุมชน
จากข้อมูลข้างต้น ทำให้ อนันดาฯ ซึ่งมีวิสัยทัศน์ที่มองเห็นศักยภาพในการเติบโตของอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทยควบคู่ไปกับการพัฒนาแผนดำเนินงานของบริษัทฯ เพื่อรองรับการขยายตัวของระบบขนส่งมวลชนของประเทศ พร้อมกับการศึกษาและได้รับความร่วมมือจากพันธมิตรทางธุรกิจที่มีศักยภาพสูงสุดด้านอสังหาริมทรัพย์ของญี่ปุ่นอย่างกลุ่ม มิตซุย ฟูโดซัง ทำให้แผนดำเนินงานของบริษัทจากนี้ไปจนถึงปี 2572 ยังคงมุ่งเน้นพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมตามแนวรถไฟฟ้าใน 266 สถานีดังกล่าว
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย