- Details
- Category: อสังหาริมทรัพย์ฯ
- Published: Tuesday, 17 June 2014 21:49
- Hits: 3789
PF 'พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค'ขยายอาณาจักร เข้าซื้อกิจการอาคารสำนักงาน โรงแรมชั้นนำ และคอนโดใจกลางเมือง ของ’ไทย พร็อพเพอร์ตี้’ ก้าวขึ้นท็อปไฟว์วงการอสังหาฯ
'พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค'ขยายอาณาจักร เข้าซื้อกิจการอาคารสำนักงาน โรงแรมชั้นนำ และคอนโดใจกลางเมือง ของ ‘ไทย พร็อพเพอร์ตี้’ก้าวกระโดดขึ้นเป็นท็อปไฟว์ของวงการอสังหา ริมทรัพย์ ทั้งด้านสินทรัพย์และรายได้ เสริมศักยภาพให้มีฐานะการเงินแข็งแกร่ง ลดหนี้สิน ต่อทุน พร้อมขายสินทรัพย์ที่ไม่ใช่ธุรกิจหลัก ทำรายได้อีก 3,570 ล้าน
นายชายนิด อรรถญาณสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และนางสาวศิริรัตน์ วงศ์วัฒนา รองประธานเจ้าหน้าที่กลุ่มสนับสนุน บริษัท พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค จำกัด (มหาชน) (PF) ร่วมกันแถลงถึงทิศทางการดำเนินธุรกิจของบริษัทว่า บริษัทมีเป้าหมายในการเสริมศักยภาพของบริษัท ให้มีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง ทั้งการลดหนี้สินต่อทุน และลดภาระดอกเบี้ยจ่าย โดยมีการขายสินทรัพย์ที่ไม่ใช่ธุรกิจหลัก ได้แก่ ที่ดินริมถนนสุขุมวิทใกล้แยกบางนา มูลค่า 1,700 ล้านบาท ซึ่งขายให้กับเดอะมอลล์ กรุ๊ป เพื่อพัฒนาเป็นโครงการ Bangkok Mall ที่ดินทำเลกรุงเทพกรีฑา มูลค่า 870 ล้านบาท และ ที่ดินบริเวณ แจ้งวัฒนะ 500 ล้านบาท รวมทั้งรายได้จากโครงการหอพักยูนิลอฟท์ เชียงใหม่ อีก 500 ล้านบาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 3,570 ล้านบาท ซึ่งเป็นการลดการถือครองแลนด์แบงค์ที่ไม่อยู่ในแผนการพัฒนาโครงการ และยังทำให้สภาพคล่องดีขึ้น
นอกจากนี้ คณะกรรมการบริษัทฯ ยังได้มีมติอนุมัติแผนการเข้าซื้อกิจการ บริษัท ไทย พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ TPROP เพื่อเพิ่มศักยภาพในการดำเนินธุรกิจ รองรับการเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันมีการแข่งขันในอุตสาหกรรมเป็นอย่างมาก การเข้าซื้อกิจการในครั้งนี้ ทำให้ พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค ก้าวกระโดดขึ้นเป็นบริษัท 1 ใน 5 อันดับแรกของกลุ่มบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ทั้งในด้านมูลค่าสินทรัพย์และรายได้ โดยภายหลังการซื้อกิจการ จะทำให้มูลค่าสินทรัพย์รวมของบริษัทฯ เพิ่มขึ้นจาก 30,668 ล้านบาท เป็น 45,224 ล้านบาท อีกทั้งยังทำให้ประมาณการรายได้รวมของบริษัทในปีนี้ เพิ่มขึ้นจาก 15,992 ล้านบาท เป็น 22,176 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีผลให้ส่วนของผู้ถือหุ้น เพิ่มขึ้นจาก 8,646 ล้านบาท เป็น 16,392 ล้านบาท ในขณะที่ภาระหนี้สินที่มีดอกเบี้ยสิทธิต่อทุนของบริษัทลดลงเหลือ 1.33 เท่า การเข้าซื้อกิจการในครั้งนี้ ยังจะช่วยเพิ่มความสามารถในการทำกำไร และเพิ่มความมั่นคงของกระแสรายได้ของบริษัทฯ ในอนาคตด้วย
วัตถุประสงค์ในการควบรวมกิจการ นอกจากจะเพิ่มความแข็งแกร่งของฐานะทางการเงิน ซึ่งเป็นผลจากการเข้าซื้อกิจการโดยการออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนของ PF แล้ว ยังเป็นก้าวสำคัญในการขยายธุรกิจเพื่อเพิ่มความมั่นคงของกระแสรายได้จากธุรกิจอาคารสำนักงานให้เช่าและโรงแรม ลดความเสี่ยงจากการพึ่งพารายได้จากธุรกิจใดธุรกิจหนึ่ง นอกจากนี้ ยังส่งผลให้มีสัดส่วนของมูลค่าสินทรัพย์และรายได้ที่มีความหลากหลายเพิ่มมากขึ้น ทั้งโครงการแนวราบ คอนโดมิเนียม คอนโดกลางใจเมือง สำนักงานให้เช่า และโรงแรม โดยภายหลังการซื้อกิจการ บริษัทจะมีการจัดวางโครงสร้างใหม่ เพิ่มส่วนของอสังหาริมทรัพย์เพื่อการเช่า ซึ่งการผนึกกำลังของทีมผู้บริหารจะช่วยเพิ่มศักยภาพในการดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
แผนการเข้าซื้อ TPROP ดังกล่าว PF จะใช้วิธีการแลกหุ้น (Share Swap) มูลค่า 1,800 ล้านบาท โดยได้ส่วนของผู้ถือหุ้น TPROP มา 4,789 ล้านบาท ทั้งนี้ PF จะเข้าทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดจากผู้ถือหุ้นของ TPROP โดยการเสนอหุ้นสามัญเพิ่มทุนของ PF เป็นค่าตอบแทนให้กับผู้ถือหุ้น TPROP ในอัตราการแลกหุ้น 1.00 หุ้นของ TPROP ต่อ 0.50 หุ้นของบริษัทฯ หรือชำระเป็นตัวเงินในราคาหุ้นละ 0.57 บาท ซึ่งจะเริ่มเข้าทำรายการภายหลังจากที่ได้รับอนุมัติการออกและเสนอขายหลักทรัพย์ จากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลัก ทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ โดยมีเงื่อนไขว่าภายหลังจากเสร็จสิ้นคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ ผู้ถือหุ้น TPROP จะตอบรับคำเสนอซื้อรวมกันไม่น้อยกว่าร้อยละ 75.00 ของจำนวนหลักทรัพย์ที่ออกและจำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของ TPROP และหากการเข้าซื้อกิจการ TPROP เป็นผลสำเร็จ จะทำให้ PF เข้าไปมีอำนาจควบคุมอย่างมีนัยสำคัญโดยอ้อม (Chain Principle) ใน บริษัท แกรนด์ แอสเสท โฮเทลส์ แอนด์ พรอพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ Grand ส่งผลให้ PF มีหน้าที่เข้าทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดของ Grand โดยมีค่าตอบแทนเป็นหุ้นสามัญเพิ่มทุนของ PF ในอัตราการแลกหุ้น 1.00 หุ้นของ Grand ต่อ 1.149123 หุ้นของ PF หรือชำระเป็นตัวเงินในราคาหุ้นละ 1.31 บาท ทั้งนี้ การดำเนินการตามแผนการเข้าซื้อกิจการดังกล่าวข้างต้น จะต้องได้รับการอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัทฯก่อน ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 29 กรกฎาคม 2557 นี้
ปัจจุบัน TPROP ดำเนินธุรกิจลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ ประกอบด้วย อาคารสำนักงานให้เช่า 2 แห่ง บนถนนสุขุมวิท ได้แก่ อาคารวัน แปซิฟิค เพลส และ อาคารทู แปซิฟิค เพลส ภายใต้การบริหารจัดการของบริษัท แปซิฟิค เอสเตท ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ TPROP รวมทั้งมีการลงทุนใน Grand กว่า 40% โดย Grand ดำเนินธุรกิจโรงแรม จำนวน 4 แห่ง ได้แก่ โรงแรม เดอะ เวสทิน แกรนด์ สุขุมวิท, โรงแรมเชอราตัน หัวหิน รีสอร์ท แอนด์ สปา, โรงแรมเชอราตัน หัวหิน ปราณบุรี วิลล่า และ โรงแรมไฮแอท รีเจนซี่ กรุงเทพ ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง และยังมีคอนโดมิเนียมอีก 2 โครงการ คือ ไฮด์ สุขุมวิท ซึ่งอยู่ระหว่างการขายและโอนกรรมสิทธิ์ ซึ่งจะรับรู้รายได้ภายในปีนี้ 5,000 ล้านบาท และโครงการใหม่ ไฮด์ สุขุมวิท 2
สำหรับ ทิศทางในอนาคต บริษัทมีแผนการพัฒนาและขายอสังหาริมทรัพย์เพื่อรับรู้กำไรล่วงหน้า ด้วยการจัดตั้งเป็นกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REIT) โดยมีแผนนำศูนย์การค้า 2 แห่ง ได้แก่ เมโทร เวสต์ทาวน์ และ เมโทร อีสต์ทาวน์ มูลค่ารวม 1,800 ล้านบาท จัดตั้งเป็นกองทุนฯ รวมทั้งมีแผนจัดพอร์ตการลงทุนในธุรกิจโรงแรม โดยนำ คิโรโระ รีสอร์ท โรงแรมในประเทศญี่ปุ่น, โรงแรมเชอราตัน หัวหิน รีสอร์ท แอนด์ สปา และ เชอราตัน หัวหิน ปราณบุรี วิลล่า รวมมูลค่ารวม 3,700 ล้านบาท จัดตั้งเป็นกองทุนฯ ด้วย
PF เผย หลังซื้อกิจการ GRAND-TPROP หนุนบริษัทขึ้นท็อปไฟว์ ด้านสินทรัพย์-รายได้ในกลุ่มอสังหาฯ
PF คาดกระบวนการควบรวม TPROP-GRAND แล้วเสร็จเดือน พ.ย.-ธ.ค.57 ระบุจะรวมงบเต็มปีในปี 58ยันไม่ถอน GRAND ออกจากตลท.รับเทกโอเวอร์ TPROPเพราะอยากได้ GRAND เหตุมีสินทรัพย์มูลค่าสูงแฝงอยู่ หากดีลจบส่งผลรายได้รวมปีนี้เด้งขึ้นมาที่ 2.2 หมื่นลบ.จากเป้าเดิมที่ 1.5 หมื่นลบ.ส่วนอัตรากำไรสุทธิขั้นต่ำเห็น10%เดินหน้าออกกอง REITทุกปี
นายชายนิด อรรถญาณสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค จำกัด (มหาชน)หรือ PFเปิดเผยว่าภายหลังบริษัทฯ ปรับโครงสร้างธุรกิจโดยเข้าซื้อกิจการ TPROP และ GRAND จะส่งผลให้บริษัทฯ เป็นผู้นำ 1 ใน 5 อันดับแรกของธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ทั้งในเชิงขนาดสินทรัพย์รวมและรายได้รวม โดยภายหลังการเข้าซื้อกิจการ PF จะมีมูลค่าสินทรัพย์เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 4.5 หมื่นล้านบาท เป็นอันดับ 4 ของอุตสาหกรรม รองจาก LH -SIRI แล PS เช่นเดียวกับรายได้ปีนี้ที่จะปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2.2 หมื่นล้านบาท สูงสุดเป็นอันดับ 4 ของอุตสาหกรรม รองจาก PS-SIRI และ LH จากเดิม ซึ่งคาดว่ารายได้รวมปีนี้จะอยู่ที่ 1.5 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้ การซื้อกิจการดังกล่าวยังมีผลให้ส่วนของผู้ถือหุ้นเพิ่มขึ้นจาก 8.6 พันล้านบาท เป็น 1.6 หมื่นล้านบาท ขณะที่ภาระหนี้สินที่มีดอกเบี้ยสุทธิต่อทุนของบริษัทฯลดลงเหลือ1.33 เท่า ซึ่งการเข้าซื้อกิจการในครั้งนี้จะช่วยเพิ่มความสามารถในการทำกำไรและเพิ่มความมั่นคงของรายได้บริษัทฯในอนาคต
บริษัทฯ คาดว่าขั้นตอนในการทำธุรกรรมเพื่อเข้าซื้อกิจการน่าจะแล้วเสร็จเดือน พ.ย.-ธ.ค.57 ซึ่งจะทำให้ PFรวมงบการเงินของ TPROP และ GRAND เข้ามาแค่ 1 เดือนสำหรับปี 2557 แต่จะรวมเข้ามาเต็มปีตั้งแต่เดือน ม.ค.ปีหน้าเป็นต้นไป
โดยขั้นตอนหลังจากนี้ บริษัทฯ จะพิจารณาช่วงระยะเวลาและรายละเอียดในการทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดของ TPROP เพื่อที่จะเพิกถอนการเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นต่อไป ส่วนของ GRAND จะยังเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นเช่นเดิม เพียงแต่จะเปลี่ยนบริษัทแม่เดิมจาก TPROP มาเป็น PF แทน
ดังนั้น หลังจากการเข้าซื้อกิจการ TPROP ซึ่งจะแล้วเสร็จปลายปีนี้ จะทำให้อัตรากำไรสุทธิดีขึ้นจากปีก่อนมาก โดยคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 10% จากรายได้รวมปีนี้ซึ่งคาดว่าจะอยู่ที่ 2.2 หมื่นล้านบาท และมีเป้าหมายปีหน้าเป็นต้นไป เชื่อว่าจะเห็นอัตรากำไรสุทธิที่ระดับ 12% ขณะที่ไตรมาส 1/57 PF มีอัตรากำไรสุทธิที่ 2.68%
"อัตรากำไรของเราจะดีขึ้นหลังจากที่เราปรับโครงสร้างทางการเงิน มีการขายแลนด์แบงก์ ก็ทำให้ส่วนผู้ถือหุ้นเพิ่มขึ้น ภาระดอกเบี้ยจ่ายลดลง เป็นต้น"นายชายนิด กล่าว
นายชายนิด กล่าวต่อว่า สาเหตุที่เข้าซื้อกิจการ TPROP เนื่องจากบริษัทฯ สนใจสินทรัพย์ของ GRANDที่ TPROPถือหุ้นอยู่ประมาณ 40% ซึ่งมีสินทรัพย์ที่มีมูลค่าสูงซ่อนอยู่ ประกอบกับ GRAND อยู่ระหว่าง เทิร์นอะราวด์ โดยเตรียมโอนคอนโดHYDEมูลค่าที่เหลืออีกประมาณ 5,000ล้านบาทเข้ามาภายในปีนี้ หลังจากบางส่วนรับรู้รายได้ไปแล้วในช่วงไตรมาสแรก ซึ่งจะทำให้รายได้ของ GRANDดีขึ้นมาก
นอกจากนี้ GRAND ยังมีแผนในอนาคตที่จะสร้างคอนโดฯ HYDE อีก 1 โครงการมูลค่าประมาณ 3,000 ล้านบาท คาดจะขายปลายปีนี้และรับรู้รายได้ในปีหน้า จำนวน 450 ยูนิต ที่ถนนสุขุมวิท 11
"เราเลือกที่จะซื้อกิจการ TPROP เพราะเขามี GRAND ซึ่ง GRAND มีสินทรัพย์ซ่อนอยู่ เขาจะโอน HYDE ปีนี้ และมีโอกาสที่จะออกกองทุนอสังหาฯ เขาแทบไม่มีหนี้เลย มีแต่รายได้ประจำจากธุรกิจโรงแรม รวมทั้งคอนโดฯ ที่จะสร้างใหม่ที่สุขุมวิท 11 ก็จะสร้างรายได้ให้อีก 3,000 ล้านบาท และที่สำคัญกลุ่มลูกค้าคอนโดฯ HYDE 40% ส่วนใหญ่เป็นลูกค้าต่างชาติ"นายชายนิด กล่าว
ทั้งนี้ ภายหลังจากดีลนี้สำเร็จแล้ว บริษัทฯ ยังคงมองหาโอกาสที่จะเพิ่มศักยภาพในการดำเนินธุรกิจของกลุ่ม PF โดยในส่วนของธุรกิจค้าปลีกซึ่ง PF ลงทุนผ่าน บริษัท วีรีเทล ขณะนี้กำลังเจรจากับผู้ที่สนใจจะเข้ามาร่วมทุน นอกจากนี้ ยังอยู่ระหว่างหาพันธมิตรเพื่อร่วมลงทุนใน บริษัท กรุงเทพบ้านและที่ดินด้วย
"วีรีเทล ตอนนี้ก็ดูผู้ร่วมทุนอยู่ ซึ่งตอนนี้อยู่ระหว่างการเจรจา และต่อไปเราก็จะทำกรุงเทพบ้านและที่ดินในลักษณะเดียวกัน"นายชายนิด กล่าว
ภายหลังจากการซื้อกิจการ TPROP สำเร็จ จะทำให้โครงสร้างรายได้ของกลุ่ม PF ประมาณ 70-80% มาจากธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อขายและอีก 10-20% เป็นธุรกิจพัฒนาอสังหาฯ เพื่อให้เช่า โดยหากดีลนี้แล้วเสร็จโครงสร้างรายได้ของบริษัทฯจะมาจาก 5 สายธุรกิจ จากเดิมซึ่งมี 4 สายธุรกิจ โดยที่จะเพิ่มเข้ามาคือ ธุรกิจพัฒนาอสังหาฯ เพื่อให้เช่า จากเดิมมีธุรกิจพัฒนอสังหาฯ เพื่อขาย ธุรกิจค้าปลีก ธุรกิจก่อสร้าง และธุรกิจบริการ
ดังนั้น การเติบโตของ PF นับจากนี้ไป เชื่อว่าจะเห็นรายได้รวมแต่ละปีไม่ต่ำกว่า 20,000 ล้านบาท หรือเติบโตเฉลี่ยปีละ 20% ภายหลังปรับโครงสร้างธุรกิจ โดยขายสินทรัพย์ที่ไม่ใช่ธุรกิจหลักออกไป ซึ่งจะทำให้สัดส่วนที่ดินรอการพัฒนาลดลงจาก25% ของสินทรัพย์ที่ใช้ในการประกอบธุรกิจ เหลือ 19% และในอีก 3 ปีข้างหน้าจะลดเหลือประมาณ 14-15%ส่วนสินทรัพย์ประเภทโรงแรมและอาคารสำนักงานศูนย์การค้า ซึ่งจะได้มาหลังจากการควบรวมจะอยู่ที่ประมาณ 18% ของสินทรัพย์ที่ใช้ในประกอบธุรกิจ ในขณะที่สินทรัพย์ประเภทบ้านเดี่ยว บ้านแฝด ทาวน์เฮ้าส์ และอาคารชุด ยังคงเป็นสินทรัพย์ที่มีสัดส่วนมากที่สุด ประมาณ63%
ในอนาคต บริษัทฯมีแผนที่จะตั้งกองทรัสต์เพื่อลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ หรือ REITเพื่อสร้างกำไรเพิ่มขึ้น นอกเหนือจากการพัฒนาอสังหาฯ เพื่อขายและให้เช่า โดยมีแผนจะออกกอง REIT ปีละ 1 กอง เริ่มตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไปต่อเนื่องจนถึงปี2560 โดยในปี 2558 จะประเดิมกอง REIT 1 กอง มูลค่า 1.8 พันล้านบาท ด้วยการนำศูนย์การค้า 2 แห่ง คือ เมโทรเวตทาวน์ มาจัดตั้ง ขณะที่ปี 2559 น่าจะเป็นการนำโรงแรมมาจัดตั้งเป็นกองทุน
นายชายนิด กล่าวต่อถึง ความคืบหน้าในการพิจารณาทางเลือกสำหรับ "รีสอร์ทคิโรโระ"ในประเทศญี่ปุ่นว่าบริษัทฯตัดสินใจแล้วว่าจะเก็บไว้บริหารต่อ จากเดิมที่คาดว่าจะขายขาด โดยคาดว่าในครึ่งหลังปีนี้จะได้ข้อสรุปพันธมิตรที่จะเข้ามาร่วมทุนในคิโรโระ รีสอร์ท ซึ่งเป็นโรงแรมในประเทศญี่ปุ่น โดยพันธมิตรที่จะเข้ามาจะมาช่วยกันพัฒนาให้ผลประกอบการของคิโรโระดีขึ้นและกลับมาเทิร์นอะราวด์ ซึ่งขณะนี้เจรจากับนักลงทุนทั้งในญี่ปุ่น และสหรัฐฯ
"ตอนแรกเราเจรจาขายคิโรโระ รีสอร์ท ตอนหลังเราคิดว่าเราน่าจะเก็บไว้เอง และเอามาทำต่อ เพราะว่าเราจะได้นักลงทุนกลุ่มใหญ่จากสหรัฐฯ ค่อนข้างมั่นใจว่าถ้าเขาเข้ามาจะให้มาบริหารด้านสกี ส่วนทางญี่ปุ่นเองเราก็เจรจาการที่จะหาลูกค้าเข้ามาให้คิโรโระ รีสอร์ท ครึ่งปีหลังน่าจะมีข้อสรุปที่ชัดเจนออกมา"นายชายนิด กล่าว
ส่วนความคืบหน้าของการขายทรัพย์สินที่ไม่ใช่ธุรกิจหลัก มูลค่ารวม 3.5 พันล้านบาท โดยเป็นที่ดินทั้งหมด 4 แปลงนั้น ล่าสุดมี 2 แปลงที่เซ็นสัญญาแล้ว และจะโอนในครึ่งหลังปีนี้ รวมมูลค่า 2.2 พันล้านบาท ได้แก่ที่ดินถนนสุขุมวิท 17 ไร่ และที่ดินทำเลแจ้งวัฒนะ 110 ไร่ ส่วนที่เหลือคือที่ดินทำเลกรุงเทพกรีฑา ราคา 870 ล้านบาท กำลังเจรจากับผู้ประกอบการที่สนใจ 2ราย และอีก 1 โครงการที่จังหวัดเชียงใหม่เป็นหอพัก ยูนิ ลอฟท์ มูลค่า 500 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะออกเป็นกอง REIT ประมาณไตรมาส 3 หรือไตรมาส 4 ปีนี้
"ทรัพย์สินที่ไม่ใช่ธุรกิจหลักทั้งหมดนี้ถ้าเราขายได้ทั้งหมดจะกำไรขั้นต้น 35%ซึ่งคาดว่าจะบันทึกเป็นรายได้เข้ามาในครึ่งหลังของปีนี้ ทั้งนี้จะทำให้บริษัทฯ มีฐานะทางการเงินดีขึ้น ลดหนี้สินต่อทุนและลดภาระดอกเบี้ยจ่าย ทำให้บริษัทฯมีสภาพคล่องดีขึ้น"นายชายนิด กล่าว
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย