WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

ผ่ามุมมอง 2 สมาคมสร้างบ้านไตรมาสสองธุรกิจยังต้องลุ้นเหนื่อย

    บ้านเมือง : สุภพงษ์ เทียนสี/รายงาน

    ไตรมาสแรกผ่านพ้นไปไวเหมือนโกหก แต่ที่เป็นลมล้มฟุบนั่นคือภาคเอกชน เพราะจากการสำรวจสอบถาม หลายๆ ธุรกิจผลงานยังไม่เข้าตากรรมการ บ้างแค่เสมอตัว จากเป้า แต่ในส่วนของธุรกิจรับสร้างบ้านด้วยแล้ว ย่อมมีความแตกต่างกันออกไป วันนี้ "บ้านเมือง" มีโอกาสรวบรวมทรรศนะของ 2 นายกสมาคมที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจรับสร้างบ้าน นั่นก็คือ "สมาคมไทยรับสร้างบ้าน ภายใต้การคุมทัพของ "สิทธิพร สุวรรณสุต" และสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน ภายใต้การนำ ของ "วิสิฐษ์ โมไนยพงศ์" โดย 2 ท่านนี้ ต่างมีมุมหลากหลายต่างมุมกัน ลองไปฟังจากปากพวกเขาเหล่านั้นดังประเด็นต่อไปนี้

ไทยรับสร้างบ้านแนะปรับตัว

     นายสิทธิพร สุวรรณสุต นายกสมาคมไทยรับสร้างบ้าน (Thai Home Builders Association: THBA) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจในช่วงไตรมาสแรกปีนี้ยังไม่ฟื้นตัวจริง ประเมินได้จากความเชื่อมั่นและอำนาจซื้อของผู้บริโภคที่ลดลง ทำให้กลุ่มผู้ประกอบการรับสร้างบ้านชั้นนำ ต่างเร่งปรับตัวให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ดังจะเห็นได้จากการนำกลยุทธ์แข่งขัน "ลดราคา" มาใช้กระตุ้นกำลังซื้อผู้บริโภค อย่างไรก็ดีหลังจากที่รัฐบาลประกาศใช้ ม.44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับชั่วคราว พุทธศักราช 2557 มาแทนกฎอัยการศึก เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2558 ที่ผ่านมา เชื่อว่าจะส่งผลในแง่จิตวิทยาและเรียกความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการกลับมาดีขึ้น

   สำหรับ ปริมาณ "บ้านสร้างเอง" ประเภทบ้านเดี่ยวทั่วประเทศ ในปี 2558 นี้ หลังจากผ่าน 3 เดือนแรกแล้ว สมาคมฯ ได้ปรับลดประมาณการจำนวนหน่วยเหลือ 6-7 หมื่นหน่วย จากก่อนหน้านี้ประมาณการไว้ที่ 8 หมื่นหน่วย ทั้งนี้ประเมินว่าเป็นบ้านที่จะปลูกสร้างในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลมีจำนวน 1.3-1.4 หมื่นหน่วย และปลูกสร้างในภูมิภาคหรือต่างจังหวัดจำนวน 5 หมื่นหน่วยเศษ โดยมีผู้ประกอบการรับสร้างบ้านจากทั่วประเทศ (จำนวน 170-180 ราย) แชร์ส่วนแบ่งตลาดอยู่ประมาณ 4,200-4,500 หน่วย คิดเป็นมูลค่าตลาดรวม 1.4-1.6 หมื่นล้านบาท (เฉลี่ยหน่วยละ 3-4 ล้านบาท)

  ทั้งนี้ เห็นว่า ปริมาณหรือสัดส่วน "บ้านสร้างเอง" ยังมีความต้องการของผู้บริโภคสร้างใหม่อีกมาก หากผู้ประกอบการรับสร้างบ้านทั้งรายเดิมและรายใหม่ มีการปรับตัวหรือขยายตลาดออกไปยังต่างจังหวัด เพื่อสามารถเข้าถึงกำลังซื้อผู้บริโภคได้มากขึ้น เชื่อว่าภาพรวมตลาดรับสร้างบ้านในปีนี้ก็ยังมีโอกาสเติบโตได้อีก แม้ว่าสภาพเศรษฐกิจจะไม่เอื้อก็ตาม

   อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการที่อยู่ในธุรกิจรับสร้างบ้านและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยังมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับปริมาณหรือจำนวนหน่วยของตลาดรวม "รับสร้างบ้าน" โดยมักนำจำนวนหน่วยของภาพรวมตลาด "บ้านสร้างเอง" ทั้งหมดมาอ้างอิงว่าคือ มูลค่าตลาดรับสร้างบ้าน ซึ่งอันที่จริงแล้วจำนวนหน่วย "บ้านสร้างเอง" นั้นหมายถึง จำนวนหน่วยรวมของทั้งผู้ประกอบการรับสร้างบ้านและผู้รับเหมาทั่วไป ทั้งนี้ในส่วนของปริมาณบ้านสร้างเองประเภทบ้านเดี่ยว ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล (กรุงเทพฯ สมุทรปราการ นนทบุรี ปทุมธานี) เฉลี่ยแล้วมีอยู่ประมาณ 1.5-1.6 หมื่นหน่วยต่อปีเท่านั้น

   นอกจากนี้ ยังประเมินทิศทางตลาดรับสร้างบ้านในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมทั้งในต่างจังหวัด ในช่วงเดือนมกราคม-มีนาคมที่ผ่านมา พบว่าบรรดาผู้ประกอบการที่แข่งขันอยู่ในธุรกิจรับสร้างบ้าน รวมพลออกมากระตุ้นกำลังซื้อกันอย่างคึกคัก ซึ่งมีการโฆษณาประชาสัมพันธ์และจัดกิจกรรมทางการตลาดกันต่อเนื่อง ผ่านสื่อช่องทางต่างๆ อาทิ ทีวี สื่อสิ่งพิมพ์ สื่อออนไลน์ และอีเวนท์ โดยประเมินว่ามูลค่าสื่อที่ใช้กว่า 40 ล้านบาท นอกจากนี้ 2 สมาคมรับสร้างบ้าน ยังจุดพลุสร้างการรับรู้สู่ผู้บริโภคผ่านกิจกรรม "อีเวนท์มาร์เก็ตติ้ง" เริ่มจากสมาคมไทยรับสร้างบ้าน รับหน้าเสื่อเป็นเจ้าภาพจัดงาน

      "มหกรรมสร้างบ้านและวัสดุก่อสร้าง" ขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา เน้นสื่อสารและจับกลุ่มเป้าหมายในเขตปริมณฑลและต่างจังหวัดเป็นสำคัญ โดยเลือกปักหลักจัดงาน ณ ศูนย์การประชุมและแสดงสินค้า อิมแพ็ค เมืองทองธานี 5 วันเต็ม

      จากนั้นต่อด้วยงาน "โฮมบิลเดอร์ โฟกัส" ที่จัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ โดยสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน เป็นผู้จัดงานฯ เน้นสื่อสารและจับกลุ่มเป้าหมายในเขตกรุงเทพมหานครเป็นหลัก ยึดทำเลกลางเมืองได้แก่ ศูนย์การประชุมฯ สิริกิติ์จัดงานดังกล่าว ปีนี้จึงนับเป็นครั้งแรกของวงการรับสร้างบ้านไทย ที่ผู้ประกอบการทั้ง 2 สมาคมต่างโหมจัดกิจกรรมการตลาดในช่วงระยะเวลาใกล้ๆ กันตั้งแต่ต้นปี ซึ่งสวนทางกับภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่ยังไม่ฟื้นตัวชัดเจน และกำลังซื้อผู้บริโภคที่ยังชะลอตัว อย่างไรก็ดี กิจกรรมทางการตลาดและความสำเร็จของผู้ประกอบการที่ได้รับจากการกระตุ้นกำลังซื้อนั้น อาจสะท้อนได้ว่า ผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจประเทศในปีนี้ดีขึ้น

คิวแรกจัดโปรแข่งเดือด

    ในช่วงท้ายปีที่แล้ว สมาคมฯ เคยคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจปี 2558 น่าจะปรับตัวดีขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับปีที่แล้ว แต่จากสภาพเศรษฐกิจจริงในช่วง 3 เดือนแรก ปรากฏว่ายังไม่ฟื้นตัวตามที่คาดการณ์ไว้ ส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องหันมาเน้นจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย และอัดโปรโมชั่นกันอย่างดุเดือดตั้งแต่ไตรมาสแรกของปี 2558 เพื่อหวังเรียกความเชื่อมั่นและกระตุ้นกำลังซื้อให้กลับคืนมาโดยเร็ว ซึ่งจากการสำรวจข้อมูลพบว่า มีทั้งโปรโมชั่นลดราคาบ้านสูงสุด 25% หรือมูลค่ากว่า 2 ล้านบาท แจกรถยนต์มูลค่ากว่า 1 ล้านบาท แถมทองคำ เครื่องปรับอากาศ แท็บเล็ต โทรศัพท์มือถือ ฯลฯ เป็นต้น

     ทั้งนี้ อาจกล่าวได้ว่าสามารถกระตุกอารมณ์ซื้อผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการสอบถามความเห็นผู้บริโภคว่า พอใจหรือสนใจโปรโมชั่นลักษณะใดมากที่สุด คำตอบที่ได้รับคือ "ส่วนลดเงินสด"

     ขณะเดียวกัน สมาคมฯ ได้มีการสำรวจข้อมูลวิธีการเสนอขายบ้าน ของบรรดาผู้ประกอบการที่แข่งขันอยู่ในตลาดรับสร้างบ้านในปัจจุบัน พบว่าบริษัทรับสร้างบ้านที่เน้นจับกลุ่มลูกค้าระดับบนหรือระดับราคาบ้าน 20 ล้านบาทขึ้นไป ต่างหันมานำเสนอการให้บริการในรูปแบบใหม่ เพื่อเป็นทางเลือกให้ผู้บริโภคแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะคือ 1.ให้บริการรับสร้างเฉพาะตัวบ้าน และ 2. ให้บริการสร้างบ้าน-รั้ว พร้อมตกแต่งภายในและจัดสวน ซึ่งถือว่าเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มต่อหน่วยให้สูงขึ้น โดยมุ่งตอบสนองกลุ่มผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อสูง และต้องการความสะดวกหรือบริการแบบวันสต็อปเซอร์วิส

     อย่างไรก็ดี จากข้อมูลสำรวจเมื่อปี 2557 ระบุว่า สัดส่วนของกลุ่มลูกค้าที่จะสร้างบ้านระดับราคา 20-30 ล้านบาทขึ้นไป มีจำนวนหน่วยเพียงร้อยละ 1-2 เท่านั้น ของจำนวนหน่วยตลาดรวมรับสร้างบ้านหรือประมาณ 4,200-4,300 หน่วย ขณะที่ในปัจจุบันมีบริษัทรับสร้างบ้านไม่ต่ำกว่า 30 ราย มาจับกลุ่มลูกค้ากระเป๋าหนักกัน ซึ่งอาจจะทำให้การแข่งขันในกลุ่มตลาดรับสร้างบ้านหรูดุเดือดยิ่งขึ้นในปี 2558 นี้

กำลังซื้อปรับตัวลดลง

      สมาคมฯ สำรวจข้อมูลและสอบถามผู้ประกอบการในกลุ่มสมาชิกสมาคมฯ ส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่า ปริมาณความต้องการสร้างบ้าน ยังมีจำนวนให้สามารถแชร์ตลาดอยู่มากพอ เพียงแต่ว่าราคาต่อหน่วยที่ผู้บริโภคมีกำลังซื้อลดลง โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับสถิติราคาบ้านต่อหน่วยในปี 2557 ที่ผู้บริโภคกลุ่มใหญ่ที่สุด เลือกปลูกสร้างบ้านราคาเฉลี่ยหน่วยละ 4-5 ล้านบาท ในขณะที่ 3 เดือนแรกของปี 2558 นี้ ผู้บริโภคเลือกสร้างบ้านในกลุ่มราคาหน่วยละ 2-4 ล้านบาทมากที่สุดเป็นอันดับ 1 หรือกว่าร้อยละ 80

       ข้อมูลดังกล่าวอาจสะท้อนได้หลายมุมมอง อาทิ อาจเป็นเพราะกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ลดลงจริง หรือระมัดระวังการลงทุนหรือใช้จ่ายมากขึ้น อีกมุมหนึ่งวิเคราะห์ได้ว่า ราคาบ้าน 3-4 ล้านบาทที่ได้รับความนิยมสูงสุด อาจเป็นเพราะผู้บริโภคกลุ่มนี้หันมาใช้บริการบริษัทรับสร้างบ้านมากขึ้น จากเดิมที่เคยใช้บริการผู้รับเหมารายย่อยทั่วไปเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะผู้บริโภคที่สร้างบ้านในต่างจังหวัด ซึ่งสอดคล้องกับมูลค่าตลาดรวมรับสร้างบ้านที่ยังสามารถเติบโตได้ต่อเนื่อง

   ไตรมาส 2 สร้างบ้านยังทรงตัวสำหรับทิศทางตลาดรับสร้างบ้านในช่วงไตรมาส 2 นี้ สมาคมฯ ประเมินว่า แนวโน้มความต้องการสร้างบ้านในช่วงไตรมาส 2 คาดว่าทรงตัวหรือใกล้เคียงกับช่วง 3 เดือนแรกที่ผ่านมา โดยมีปัจจัยสนับสนุนมาจากแรงกระตุ้นการรับรู้และกำลังซื้อผู้บริโภคในช่วงไตรมาสแรก ของผู้ประกอบการทั้ง 2 สมาคม ซึ่งน่าจะยังส่งผลดีต่อเนื่องมาถึงไตรมาส 2 กอปรกับการปรับตัวของผู้ประกอบการเอง ที่หันมาเน้นทำการตลาดในวงกว้างมากขึ้น ทำให้สามารถเข้าถึงกลุ่มกำลังซื้อใหม่ๆ ได้เพิ่มขึ้นตามมา

    ในส่วนของการแข่งขันของผู้ประกอบการทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด คาดว่าจะเน้นการแข่งขันราคาเป็นสำคัญ เหตุเพราะต่างต้องการเร่งยอดขาย เพื่อให้เข้าเป้าหมายครึ่งปีแรกที่ตั้งไว้มากที่สุด โดยเฉพาะรายใหญ่หรือกลุ่มผู้นำตลาด ที่เน้นปริมาณหรือต้องการแชร์ส่วนแบ่งตลาดมากที่สุด ซึ่งกลุ่มนี้จะใช้ระบบโครงสร้างสำเร็จรูป ซึ่งอาจมีโรงงานผลิตเองและมีความได้เปรียบในแง่ต้นทุน รวมทั้งกำลังการผลิตต่อปี สำหรับรายที่ใช้ระบบก่อสร้างแบบเดิมๆ นั้นจะไม่เน้นรับสร้างบ้านต่อปีในปริมาณมาก แต่คาดว่าจะหันมาเน้นจับกลุ่มลูกค้าบ้านหรู และสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยการให้บริการแบบ วันสต็อปเซอร์วิสแทน

THBA จี้ออกมาตรการภาษีกระตุ้น

   นายวิสิฐษ์ โมไนยพงศ์ นายกสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน (THBA) เปิดเผยถึงธุรกิจในช่วงไตรมาสแรกที่ผ่านมาว่า ต้องยอมรับว่าทิศทางเศรษฐกิจเหมือนจะไม่ดีอย่างที่คิด ส่วนหนึ่งนั้นมาจากกำลังซื้อของผู้บริโภคถดถอย ซึ่งภาครัฐบาลเองจะต้องออกมาตรการอะไรออกมาเพื่อมากระตุ้นเศรษฐกิจให้เกิดการใช้จ่ายเงิน หากว่ารัฐยังชะล่าใจ ยังไม่ออกมาตรการอะไรออกมาเพิ่มขึ้น ก็อาจจะเกิดปัญหาอย่างแน่นอน

    "สิ่งที่รัฐบาลควรจะเข้ามาดำเนินการแก้ปัญหานี้อย่างเร่งด่วนก็คือ การดึงผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อให้กลับเข้ามาในระบบ ซึ่งจะต้องมีการสร้างแรงจูงใจให้พวกกลุ่มนี้ให้เกิดความเชื่อมั่น และพร้อมที่จะใช้จ่าย นั่นก็คือในเรื่องของภาษี ซึ่งยอมรับว่าในช่วงไตรมาสแรก เศรษฐกิจในประเทศยังไม่มีทิศทางที่ดีขึ้นเหมือนที่ได้คาดการณ์กันเอาไว้ โดยวิธีแก้ปัญหาในเวลานี้จะต้องมุ่งโฟกัสไปที่กลุ่มคนที่มีกำลังซื้อ เพื่อให้เกิดการใช้จ่ายเงินให้เกิดการไหลเวียนเข้าสู่ในระบบ แต่ไม่ใช่เป็นการสร้างหนี้" นายวิสิฐษ์ กล่าว

อ้อนรัฐลดภาษีคนปลูกบ้าน

   นายวิสิฐษ์ กล่าวต่อว่า โดยเมื่อช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ซึ่งหลังจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามาเป็นรัฐบาล โดยสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน ได้เสนอรัฐบาลขอให้รัฐลดหย่อนภาษีกับผู้ปลูกสร้างบ้านบนที่ดินเพื่ออยู่อาศัยของตัวเอง สามารถลดหย่อนได้ เพื่อให้กลุ่มนี้เอาเงินออกมาจับจ่ายใช้สอย โดยขอให้รัฐลดหย่อนกลุ่มดังกล่าวนี้ 5% ซึ่งหากปลูกบ้านในราคา 5 ล้านบาท ก็จะได้ลดหย่อน 2.5 แสนบาท ซึ่งหากรัฐบาลไฟเขียวแก่กำลังซื้อเหล่านี้ ตนมั่นใจว่า จะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจให้กลับคืนมาได้ในระดับหนึ่ง

    ทั้งนี้ ถือว่าเป็นเรื่องที่น่าพิจารณาซึ่งหากทำได้ จะเป็นการกระตุ้นให้กับกลุ่มดังกล่าวนี้ อยู่ในระบบภาษี ซึ่งเป็นผลให้รัฐสามารถเก็บภาษีได้อย่างน้อยคือ แวต 7% 2.รายได้จากนิติบุคคลและ 3.เกิดการสร้างเกิดขึ้น โดยเฉพาะในธุรกิจที่เกี่ยวข้องเพิ่มขึ้นมาอีก นั่นคือสิ่งที่รัฐจะได้ตามมานั่นเอง

     "สมาคมฯ เราได้ยื่นเรื่องนี้ไปช่วงที่ คสช.เข้ามาใหม่ๆ โดยเราได้ยื่นเรื่องพ่วงกับแรงงาน ในช่วงนั้น แต่ปรากฏว่าเรื่องนี้กับไม่มีความคืบหน้า แต่สิ่งที่เราเสนอไปนั้นถือว่าเป็นประโยชน์กับเศรษฐกิจในประเทศที่จะสามารถนำภาษีของกลุ่มนี้เข้าสู่ระบบมากยิ่งขึ้น

ส่องคิวสองธุรกิจยังไม่ฟื้น

   นายวิสิฐษ์ กล่าวต่อว่า สำหรับในไตรมาส 2 นั้น ตนมองว่า ภาพรวมของธุรกิจรับสร้างบ้าน ยังไม่สู้ดีหนัก เนื่องจากเศรษฐกิจในประเทศเหมือนว่าจะดี แต่ในส่วนของภาคเอกชนมองว่า เศรษฐกิจในช่วงนี้ยังไม่ฟื้นตัวมากนัก ดังนั้น ทำให้สมาคมฯ เองได้วางเป้าหมายธุรกิจนี้ไว้ที่ 11,500 ล้านบาท หรือจะมีอัตราการเติบโตขึ้น 7% ทั้งนี้ การตั้งเป้าดังกล่าวนี้ ถือว่าเป็นการตั้งเป้าที่อยู่ในระดับต่ำสุด เนื่องจากมองว่าธุรกิจรับสร้างบ้านเองน่าจะเติบโตอยู่ในระดับกว่า 10%

     ทั้งนี้ หากพิจารณาแล้ว มูลค่าตลาดรวมในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล จะมีมูลค่าตลาดที่ 6 หมื่นล้านบาท ซึ่งในธุรกิจรับสร้างบ้านนั้น ได้แชร์ตลาดดังกล่าวมาได้ 20% ก็คือมูลค่าที่สมาคมฯ ตั้งเป้าเอาไว้ที่ 11,500 ล้านบาท และในส่วนของการจัดงานที่สมาคมฯ ได้จัดผ่านพ้นไปนั้น ต้องยอมรับว่าด้านตัวเลขและเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้นั้น สามารถทำได้ตามเป้าหมายจริง แต่ใช่ว่าเศรษฐกิจมันจะดีหรือไม่

    นายวิสิฐษ์ กล่าวถึงการที่รัฐบาลประกาศยกเลิกกฎอัยการศึกในช่วงที่ผ่านมา และนำกฎหมาย ม.44 เข้ามาใช้แทนที่นั้น ถือว่าบรรยากาศต่างๆ เริ่มดีขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจท่องเที่ยวแน่นอน ได้รับอานิสงส์จากตรงนี้ ซึ่งจะทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเริ่มจะกลับเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศเพิ่มขึ้น ตรงนี้ในด้านจิตวิทยา ที่สถานการณ์ตอนนี้ได้เกิดขึ้น

     อย่างไรก็ตาม ในส่วนของภาพรวมธุรกิจรับสร้างบ้าน ซึ่งตน ยังมั่นใจว่า ตลาดรับสร้างบ้านจะยังเติบโตได้อย่างแน่นอน 7%

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!