- Details
- Category: อสังหาริมทรัพย์ฯ
- Published: Thursday, 08 January 2015 01:19
- Hits: 2868
ธ.อ.ส. เผย ดัชนีเชื่อมั่นธุรกิจที่อยู่อาศัย Q4/57 อยู่ที่ 55.4 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับ Q3/57
ธ.อ.ส. เผยดัชนีเชื่อมั่นธุรกิจที่อยู่อาศัย Q4/57 อยู่ที่ 55.4 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับ Q3/57 ส่วนดัชนีความคาดหวังในอีก 6 เดือนข้างหน้า (Expectations Index) มีค่าเท่ากับ 69.9 ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเช่นกัน หลังผู้ประกอบการยังเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นในด้านการลงทุน การจ้างงาน และต้นทุนประกอบการ แต่ค่าความเชื่อมั่นของผลประกอบการและยอดขายลดลง
นายสัมมา คีตสิน ผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ แถลงว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยมีค่ากลางของดัชนีเท่ากับ 50 ดังนั้น หากค่าดัชนีสูงกว่าค่ากลางมีนัยว่าผู้ประกอบการเห็นว่าเป็นภาวะที่ดี ในทางตรงข้าม หากค่าดัชนีต่ำกว่าค่ากลางมีนัยว่าผู้ประกอบการเห็นว่าเป็นภาวะที่ไม่ดี ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัย ประจำไตรมาส 4 ปี 2557 พบว่าค่าดัชนีความเชื่อมั่นในภาวะปัจจุบัน (Current Situation Index) มีค่าเท่ากับ 55.4 ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสที่แล้ว (ไตรมาส 3/2557) ซึ่งดัชนีมีค่าเท่ากับ 54.5
ทั้งนี้ ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ มีผู้ประกอบการตอบแบบสอบถามจำนวน 166 บริษัท เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ 30 บริษัท และบริษัทที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ 136 บริษัท ในการคำนวณดัชนีรวมจะให้น้ำหนักบริษัทจดทะเบียนและบริษัทไม่จดทะเบียน 50:50 เท่ากัน
เมื่อแยกประเภทผู้ประกอบการ พบว่า ผู้ประกอบการที่เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (Listed) มีค่าดัชนีความเชื่อมั่นสูงกว่าผู้ประกอบการที่ไม่ใช่บริษัทจดทะเบียน (Non-Listed) มาก โดยผู้ประกอบการที่เป็นบริษัทจดทะเบียนมีค่าดัชนีความเชื่อมั่นในภาวะปัจจุบันเท่ากับ 60.1 ส่วนผู้ประกอบการที่ไม่ใช่บริษัทจดทะเบียนมีค่าดัชนีความเชื่อมั่นในภาวะปัจจุบันเท่ากับ 50.7 ซึ่งสูงกว่าค่ากลาง (ค่ากลางเท่ากับ 50) แสดงให้เห็นว่าทั้งผู้ประกอบการที่เป็นบริษัทจดทะเบียนและผู้ประกอบการที่ไม่ใช่บริษัทจดทะเบียนยังมีความเชื่อมั่นที่ดี
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการโดยภาพรวมมีค่าความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นในด้านการลงทุน การจ้างงาน และต้นทุนประกอบการ แต่ค่าความเชื่อมั่นของผลประกอบการและยอดขายลดลงแม้จะยังอยู่ในระดับดี ในขณะที่การเปิดโครงการใหม่หรือเฟสใหม่โดยภาพรวมทั่วประเทศลดลง แม้ในกรุงเทพฯ-ปริมณฑลจะกระเตื้องขึ้น
สำหรับ ดัชนีความคาดหวังในอีก 6 เดือนข้างหน้า (Expectations Index) ประจำไตรมาส 4/2557 มีค่าเท่ากับ 69.9 ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสที่แล้ว (ไตรมาส 3/2557) ซึ่งมีค่าเท่ากับ 69.0
เมื่อแยกประเภทผู้ประกอบการ พบว่า ผู้ประกอบการที่เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (Listed) มีค่าดัชนีความคาดหวังในอีก 6 เดือนข้างหน้าสูงมากเท่ากับ 78.6 ปรับเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่แล้วซึ่งมีค่าดัชนีเท่ากับ 75.0 ส่วนผู้ประกอบการที่ไม่ใช่บริษัทจดทะเบียน มีค่าดัชนีความคาดหวังในอีก 6 เดือนข้างหน้าเท่ากับ 61.1 ปรับลดลงจากไตรมาสที่แล้วซึ่งมีค่าดัชนีเท่ากับ 63.0
ผู้ประกอบการที่เป็นบริษัทจดทะเบียนซึ่งครองส่วนแบ่งการตลาดมากกว่าครึ่ง มองอนาคต 6 เดือนนับจากนี้ว่าจะดีขึ้นมากเมื่อเปรียบเทียบปัจจัยบวกจากเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มเติบโตดีขึ้นจากปี 2557 และความคืบหน้าของโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคม หักกลบกับปัจจัยลบจากความอ่อนไหวของเศรษฐกิจโลก ปัจจัยการเมือง และหนี้ครัวเรือน
ดัชนีราคาห้องชุด ดัชนีราคาบ้านเดี่ยว และดัชนีราคาทาวน์เฮ้าส์
ประจำงวดครึ่งหลัง ปี 2557
นอกจากนี้ ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ธนาคารอาคารสงเคราะห์ จัดทำ “ดัชนีราคาห้องชุด” รายครึ่งปี โดยเริ่มจัดทำครั้งแรกในงวดประจำครึ่งแรก ปี 2553 โดยใช้ราคาปี 2552 เป็นปีฐาน แต่ในการจัดทำดัชนีตั้งแต่งวดครึ่งหลัง ปี 2556 ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ได้ปรับปีฐานเป็นปี 2555 และสำรวจข้อมูลเพิ่มเติมในพื้นที่กรุงเทพฯ นนทบุรี และสมุทรปราการ (เดิมทำการสำรวจเฉพาะในกรุงเทพฯ เพียงจังหวัดเดียว) สำหรับดัชนีราคาบ้านเดี่ยว และดัชนีราคาทาวน์เฮ้าส์ ในกรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ เริ่มจัดทำเป็นครั้งแรกในงวดประจำครึ่งแรก ปี 2554 โดยใช้ราคาปี 2552 เป็นปีฐาน แต่ในการจัดทำดัชนีตั้งแต่งวดครึ่งแรก ปี 2557 ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ได้ปรับปีฐานเป็นปี 2555 ทั้งนี้เพื่อให้การจัดทำดัชนีราคาห้องชุด ดัชนีราคาบ้านเดี่ยว และดัชนีราคาทาวน์เฮ้าส์ เป็นตัวชี้วัดความเคลื่อนไหวของราคาห้องชุด ราคาบ้านเดี่ยวและราคาทาวน์เฮ้าส์ที่อยู่ระหว่างขาย และสะท้อนความเป็นจริงได้ใกล้เคียงกับราคาในตลาดปัจจุบัน
ดัชนีราคาห้องชุด
ดัชนี ราคาห้องชุดรวมทุกระดับราคา ในกรุงเทพฯ นนทบุรี และสมุทรปราการ ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.2 เมื่อเทียบกับครึ่งหลัง ปี 2556
เมื่อแยกช่วงระดับราคา พบว่า
ห้องชุดที่มีระดับราคาต่ำกว่า 50,000 บาท/ตารางเมตร ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.1
ห้องชุดที่มีระดับราคา 50,000-80,000 บาท/ตารางเมตร ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.5
ห้องชุดที่มีระดับราคา 80,001-120,000 บาท/ตารางเมตร ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.5
ห้องชุดที่มีระดับราคามากกว่า 120,000 บาท/ตารางเมตรขึ้นไป ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.3