- Details
- Category: อสังหาริมทรัพย์ฯ
- Published: Sunday, 19 November 2023 11:31
- Hits: 2864
REIC ร่วมลงนาม MOU พันธมิตร 4 หน่วยงาน สร้างความร่วมมือด้านวิชาการและงานวิจัยสู่ความยั่งยืนอสังหาริมทรัพย์ไทย
ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ กำหนดเป้าหมายในการพัฒนา และเชื่อมโยงข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ การวิเคราะห์ และวิจัยกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อรองรับยุทธศาสตร์การเป็นศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ที่ได้รับการยอมรับทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยในปี 2566 ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ได้จัดทำ'บันทึกข้อตกลงความร่วมมือและสนับสนุนทางด้านวิจัยและวิชาการ'กับหน่วยงานภายนอก 4 หน่วยงาน ประกอบด้วย
1.คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
2.คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
3.สถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน)
4.บริษัท บาเนีย (ประเทศไทย) จำกัด
โดยมีเจตนารมณ์และขอบเขตความร่วมมือ ในมิติของการแลกเปลี่ยนข้อมูลและองค์ความรู้ระหว่างหน่วยงาน ความร่วมมือด้านการจัดกิจกรรมวิชาการ และการพัฒนาระบบ หรือแนวทางในการวิเคราะห์ข้อมูล ความร่วมมือด้านการสนับสนุนและการพัฒนาด้านบุคลากร และด้านอื่นๆ ตามกรอบระยะเวลาที่เหมาะสม
ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ กล่าวว่า ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากความร่วมมือกับ 4 หน่วยงานดังกล่าวจะต่างกันตามความเหมาะสมและดำเนินการภายใต้กรอบการพัฒนาความรู้ซึ่งจะนำไปสู่โครงการวิชาการที่มีประโยชน์ต่อทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง สร้างโครงการวิจัยทางด้านการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และที่อยู่อาศัย เพื่อเผยแพร่ความรู้ที่เป็นประโยชน์แก่สาธารณะ รวมถึงกลุ่มผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ที่จะสามารถใช้องค์ความรู้ดังกล่าวเพื่อการวิเคราะห์การลงทุนและการวางกลยุทธ์ทางธุรกิจและทางตลาดได้อย่างแม่นยำ
ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์จะสามารถเพิ่มกิจกรรมด้านการวิจัย ซึ่งจะสร้างการยอมรับในบทบาทด้านวิชาการและด้านการวิจัยไปสู่สาธารณะมากยิ่งขึ้น ช่วยเพิ่มฐานพันธมิตรและผู้ใช้ข้อมูลของศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ที่หลากหลาย ซึ่งจะได้เป็นข้อมูลที่ใช้อ้างอิงในการวิเคราะห์และวิจัยที่มีความหลากหลายในวงกว้างมากยิ่งขึ้น สามารถพัฒนาความรู้ ทักษะ ความเชี่ยวชาญ ความชำนาญด้านการจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data Management) ด้านการวิเคราะห์ (Data Analytics) ด้านวิทยาศาสตร์ข้อมูล (Data Science) และสามารถพัฒนาให้บรรลุภารกิจตามที่ได้รับมอบหมายจากคณะรัฐมนตรีได้มากยิ่งขึ้น
ผศ.สรายุทธ ทรัพย์สุข คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ความร่วมมือในครั้งนี้จะมุ่งเน้นภารกิจทางวิชาการโดยเฉพาะงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาที่อยู่อาศัยและอสังหาริมทรัพย์ โดยใช้ฐานข้อมูลของศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ และการขยายฐานงานวิจัยเพื่อตอบโจทย์ของสังคมของประเทศไทย เช่น ผู้มีรายได้น้อยกับที่อยู่อาศัย ที่อยู่อาศัยที่จ่ายได้ (affordable housing) Nursing Home การวางแผนการเงินเพื่อที่อยู่อาศัยสำหรับคนรุ่นใหม่ เป็นต้น
ผศ.อาสาฬห์ สุวรรณฤทธิ์ คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ความร่วมมือระหว่างสองหน่วยงานจะให้ความสำคัญกับการจัดทำ workshop แลกเปลี่ยนความรู้ด้านการวิเคราะห์ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับอสังหาริมทรัพย์ในหลายมิติ ทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ และเทคโนโลยี (Multi-dimensional Real Estate Analysis) และ Trend ของอสังหาริมทรัพย์
และร่วมพัฒนาหลักสูตรระยะสั้นที่ผสานองค์ความรู้เชิงลึกจากภาคการศึกษาและเทคนิคความเชี่ยวชาญจากภาคอุตสาหกรรมเพื่อถ่ายทอดสู่การปฏิบัติที่เห็นผลลัพธ์จริง และตอบโจทย์ความเปลี่ยนแปลงแห่งอนาคต เช่น Strategies and Strategic Management in Real Estate Business และหลักสูตรอบรมอาคารคาร์บอนต่ำ เพื่อใช้ประกอบการขอสินเชื่อ รวมถึงร่วมพัฒนา การรับรองมาตรฐานการจัดการการก่อสร้าง
รศ.ดร.ธีรณี อจลากุล ผู้อำนวยการสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า ภายใต้ความร่วมมือดังกล่าว ทั้งสองหน่วยงานจะจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนและแบ่งปันประสบการณ์ ข้อมูลความรู้ การให้คำปรึกษาแนะนำ และการให้ความเห็นในเรื่องการพัฒนาและการออกแบบระบบสารสนเทศข้อมูล (Data Platform) ระบบการจัดการฐานข้อมูล (Data Management) และการธรรมาภิบาลข้อมูล (Data Governance) เพื่อรองรับการพัฒนาสู่ Big Data, AI Machine Learning (Data Analytics) รวมถึงจัดให้มีการศึกษาหรือฝึกอบรมเกี่ยวกับด้าน Data Science, Data Analytics และ Business Intelligence ให้แก่บุคลากรที่เกี่ยวข้อง และร่วมกันพัฒนาหลักสูตรฝึกอบรมวิธีวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอสังหาริมทรัพย์แก่บริษัทหรือนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์
คุณอัญชนา วัลลิภากร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บาเนีย (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวถึงความร่วมมือของสองหน่วยงานว่า เป็นความร่วมมือกันในหลายมิติ เริ่มด้วยการเชื่อมโยงข้อมูล Demand และ Supply ของอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์
โดยจะทำให้การเชื่อมต่อข้อมูลของกิจกรรมตั้งแต่การขอใบอนุญาตก่อสร้าง การเปิดตัวโครงการ การเสนอขายในตลาดทั้งมือหนึ่ง-มือสอง ความสนใจในอสังหาริมทรัพย์ และข้อมูลการปิดขาย โดยเชื่อว่าจะเป็นการเชื่อมโยงกันเป็นครั้งแรกของประเทศไทย ซึ่งจะสร้างบริการด้านข้อมูลที่สมบูรณ์แบบมากขึ้นเป็นประโยชน์ให้กับภาคธุรกิจในการวางแผนกลยุทธ์ที่ชัดเจนมากขึ้น
การวิเคราะห์หลักประกันสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ วิเคราะห์ศักยภาพของ NPL-NPA และการประเมินหลักทรัพย์ เพื่อสร้างเทคโนโลยีใหม่ๆในอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ ทั้งแบบจำลองวิเคราะห์ศักยภาพพื้นที่ แบบจำลองการตลาดของการขายบ้าน และการประเมินราคาทรัพย์สินอัจฉริยะ เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมมีทางเลือกในการขยายขีดความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจ ความครบถ้วนของข้อมูลจากความร่วมมือในครั้งนี้ จะเกิดบริการด้านข้อมูลที่สมบูรณ์แบบมากขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อทุกภาคส่วน