- Details
- Category: อสังหาริมทรัพย์ฯ
- Published: Friday, 13 October 2023 15:52
- Hits: 1959
สมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทยร่วมกับสมาคมผู้ตรวจสอบอาคาร ลงพื้นที่วิเคราะห์สาเหตุอาคารถล่มและวางมาตรการป้องกัน
จากเหตุโรงงานฟอกหนังย่านสมุทรปราการพังถล่ม เมื่อวันที่ 10 ต.ค.2566 ที่ผ่านมานั้น สมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทยโดย ศ.ดร.อมร พิมานมาศ นายกสมาคมฯ นายชูเลิศ จิตเจือจุน อุปนายกสมาคมฯ และนายวัฒนพงศ์ หิรัญมาลย์ เลขาธิการฯ ได้ร่วมกับสมาคมผู้ตรวจสอบอาคาร โดยนายรณรงค์ กระจ่างยศ กรรมการสมาคมฯ โดยมีปลัดเทศบาลบางปูและนายช่างโยธาฯ ร่วมตรวจสอบพื้นที่ด้วย
ผลการตรวจสอบเบื้องพบว่า อาคารที่ถล่มเป็นอาคารอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก 3 ชั้นพังถล่มลงมาโดยสิ้นเชิง จากการวิเคราะห์สามารถตั้งข้อสันนิษฐานสาเหตุการพังถล่มได้ 4 ปัจจัย
1. อาคารเก่าก่อสร้างมานานกว่า 50 ปี วัสดุเช่นคอนกรีต ไม้ เหล็กเสริม เสื่อมสภาพ ทำให้กำลังรับน้ำหนักลดลง
2. คอนกรีตมีกำลังอัดต่ำ แตกร้าวหลายตำแหน่ง เหล็กเสริมในเสาเป็นสนิมจำนวนมาก มีการเสริมกำลังเสาโดยการใช้เหล็กฉากมาประกับที่มุม แต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะรับน้ำหนักได้
3. สภาพแวดล้อม ที่อยู่ใกล้ทะเล ได้รับผลกระทบจากซัลเฟต และ คลอไรด์ ทำให้เหล็กเสริมในโครงสร้างเป็นสนิม
4. สภาพแวดล้อมโรงงาน อาจมีการใช้สารเคมีในกระบวนการ ซึ่งมีฤทธิ์เป็น กรด ด่าง อาจทำให้โครงสร้างกัดกร่อนและเสื่อมสภาพได้
ทั้งนี้ยังไม่ได้วิเคราะห์ปัจจัยอื่น เช่น การออกแบบและการก่อสร้างได้มาตรฐานทางวิศวกรรม ซึ่งต้องรอข้อมูลพิสูจน์ในเชิงลึกต่อไป
จากปัจจัยดังกล่าว จึงสันนิษฐานได้ว่า จุดเริ่มต้นของการพังถล่ม น่าจะเกิดที่ เสาต้นใดต้นหนึ่งของอาคารไม่สามารถรับน้ำหนักได้ จึงเกิดการวิบัติ จากนั้นทำให้เสาต้นอื่นวิบัติตามกันไป คล้ายๆ โดมิโนที่ล้มเป็นทอด ทำให้อาคารทั้งหลายพังถล่มลงมาในท้ายที่สุด
เนื่องจากในพื้นที่ดังกล่าวยังมีโรงงานเก่า อยู่เป็นจำนวนมาก และมีอายุโครงสร้างที่นานแล้ว และตั้งอยู่ในสภาพแวดล้อมใกล้ทะเลคล้ายกัน จึงมีความเสี่ยงที่จะเกิดการถล่มได้อีก ดังนั้นสมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทย และสมาคมผู้ตรวจสอบอาคาร จึงแนะทำเทศบางปู ให้ตรวจสอบอาคารอื่นด้วย เนื่องจากอาจมีปัญหาการเสื่อมสภาพคล้ายกับอาคารที่ถล่มไป นอกจากนี้ สมาคมวิศวกรโครงสร้างฯ จะเร่งจัดทำแนวทางการตรวจสอบอาคารเก่า และแบบเสริมกำลังเสาและโครงสร้างที่ถูกต้องตามวิศวกรรมเพื่อให้เทศบาลบางปู ใช้เป็นข้อแนะนำแก่เจ้าของอาคารอื่นต่อไป
A10462