- Details
- Category: อสังหาริมทรัพย์ฯ
- Published: Sunday, 28 December 2014 22:00
- Hits: 3078
วสท.ถอดบทเรียนตึกผิดระเบียบ-ตึกร้าง พร้อมพัฒนามาตรฐานรื้อถอนอาคารของไทย ตามหลักสากล
วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) แถลงข่าว เรื่อง”ถอดรหัส...กรณีดิเอทัส เปิดมาตรฐานการรื้อถอนอาคารของไทย ทำอย่างไรให้ปลอดภัย” ณ. ห้องประชุม ชั้น 4 อาคารวิศวกรรมสถานฯ ถอด 6 บทเรียนเพื่อพัฒนาเมืองและประเทศ จากกรณี ดิเอทัส โครงการ 3,000 ล้าน ที่สร้างอาคารสูงเกินที่กฏหมายกำหนดวสท.เผยเทคโนโลยีการรื้อถอนอาคารมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่าการสร้างอาคาร พร้อมทั้งได้พัฒนาแนวทาง 'มาตรฐานงานรื้อถอนทางวิศวกรรม ปี2558'รองรับการขยายตัวของตึกสูงและปัญหาตึกที่ถูกทิ้งร้างในกรุงเทพและต่างจังหวัด เผย 90 ตึกร้างมีศักยภาพในการพัฒนาใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจต่อ เตรียมเสนอกระทรวงมหาดไทยออกกฏกระทรวง 2 ฉบับใหม่ คือ ยืดต่อใบอนุญาตแก่ตึกร้างที่ได้รับผลกระทบวิกฤติเศรษฐกิจปี 40 และกฏกระทรวงกำหนดความรับผิดชอบของเจ้าของในการดูแลตึกร้าง
ศ.ดร. สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ (Prof.Dr.Suchatvee Suwansawat) นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.)กล่าวว่าท่ามกลางความเติบโตทางเศรษฐกิจของกรุงเทพและประเทศไทย มีอาคารสูงและอสังหาริมทรัพย์ที่พักอาศัยแนวสูงเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก พร้อมกับปัญหาที่เกิดเป็นเงาตามตัว จากอาคารสร้างใหม่ที่ละเมิดกฏหมาย รวมทั้งปัญหาตึกเก่าที่ถูกทิ้งร้างคืบคลานสู่พื้นที่เมืองและคุกคามสวัสดิภาพความปลอดภัยของประชาชน จากกรณีเมื่อวันที่2ธค.2557ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษายืนตามศาลปกครองชั้นต้น สั่งให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) และผู้อำนวยการเขตปทุมวัน ดำเนินการรื้อถอนหรือแก้ไขอาคาร 'โรงแรมดิเอทัส' ซอยร่วมฤดี ภายใน 60 วัน นับจากวันที่ศาลมีคำตัดสิน ทั้งนี้ เนื่องจากได้ดำเนินการก่อสร้างอาคารที่สูงเกินกว่ากฎหมายกำหนด ขัดต่อ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ที่มีเขตความกว้างติดถนนสาธารณะไม่ถึง 10 เมตร กรณีดังกล่าว สะท้อนให้เห็นถึงสิ่งที่สังคมและเศรษฐกิจไทยต้องพัฒนา 1.ใบอนุญาตก่อสร้าง ควรยึดหลักคุณภาพ ประสิทธิภาพและความถูกต้องโปร่งใส เพื่อให้สิ่งปลูกสร้างและการพัฒนาเมืองอำนวยประโยชน์ต่อประชาชน สังคมและเศรษฐกิจ 2.การบังคับใช้กฏหมายต้องมีบรรทัดฐานเดียวกัน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและลักษณะมือใครยาว สาวได้สาวเอา ก่อนหน้านี้มีหลายอาคารที่สร้างสูงกว่ากฏหมายกำหนด ก็ต้องรื้อถอนและปรับความสูงให้ถูกต้องตามกฏหมายหลายแห่ง 3.ปัญหาสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย จากสิ่งปลูกสร้างที่ไม่ถูกต้อง จะเป็นภาระของเมืองและสังคมส่วนรวม ในด้านความแออัดคับคั่งของการจราจร ความไม่ปลอดภัยแก่ชีวิตและทรัพย์สิน กรณีเกิดเพลิงใหม้ เช่น โรงแรมอิมพีเรียลที่ตั้งอยู่ในซอยนี้แล้วเกิดไฟไหม้มีคนตายเมื่อประมาณ 30 ปีก่อน เพราะต้องใช้รถดับเพลิงคันใหญ่ แต่ซอยแคบจึงเข้ามาไม่ได้ 4.การทำหน้าที่พลเมืองไทยและพลังชุมชนที่เข้มแข็ง ผู้อยู่อาศัยในซอยร่วมฤดี จำนวน 24 ราย เป็นตัวอย่างของการเป็นหูเป็นตา ไม่นิ่งดูดายต่อปัญหา หรือสิ่งที่ไม่ถูกต้อง กล้าที่จะยืนหยัดต่อสู้เพื่อประโยชน์ส่วนรวม แม้จะต้องใช้เวลาในการยื่นฟ้องและต่อสู้ยาวนานถึง 6 ปี 5.จริยธรรมในวิชาชีพ เป็นสิ่งสำคัญที่ผู้ทำงานในทุกบทบาทต้องยึดมั่น ทั้งหน่วยงานรัฐผู้ดูแลกฏระเบียบและตรวจสอบ บริษัทเจ้าของโครงการ สถาปนิกผู้ออกแบบ วิศวกรควบคุมการก่อสร้าง 6.โครงการอสังหาริมทรัพย์และสิ่งก่อสร้าง ควรรับฟังข้อคิดเห็นรอบด้าน ก่อนการลงทุน เพื่อมิให้เกิดความเสียหายและปัญหาต้องรื้อถอนอาคารกันในภายหลัง
กฏกระทรวง และพรบ.ควบคุมอาคาร
รศ.เอนก ศิริพานิชกร(Assoc.Prof.Anek Siripanichgorn) ประธานสาขาวิศวกรรมโยธา วสท.กล่าวว่า “กฎกระทรวง ฉบับที่ 33 ซึ่งออกตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ระบุว่า ซอยที่มีความกว้างไม่เกิน 10 เมตรตลอดแนวไปจนจดถนนสาธารณะ จะไม่สามารถก่อสร้างอาคารที่สูงเกิน 8 ชั้น หรือเกินกว่า 23 เมตรได้ สภาพปัจจุบันของซอยร่วมฤดี เป็นถนน 2 เลนวิ่งสวนทางกัน ช่วงต้นซอยฝั่งสุขุมวิทมีตึกที่มีความสูงเกิน 8 ชั้น 2 อาคารคือ โรงแรมโนโวเทลและคอนโดฯ ดิแอทธินี เรสซิเดนซ์ แม้ก่อสร้างอยู่ในซอยร่วมฤดี แต่เนื่องจากแปลงที่ดินด้านหนึ่งที่ใช้เป็นทางเข้า-ออกอยู่ติดถนนสาธารณะที่มีความกว้างเกิน 10 เมตร ถือว่าถูกต้องตามกฎหมาย ส่วนโครงการดิเอทัส ผลจากการรังวัดได้ตัวเลขออกมาคือ 9.146 เมตร 9.207 เมตร 9.949 เมตร 9.434. เมตร 9.492 เมตร 9.150 เมตร 9.658 เมตร และ 9.283 เมตร อาคารนี้จึงเป็นการขัดกับกฎกระทรวง ฉบับที่ 33 (พ.ศ. 2535) ในข้อ 2 ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ที่ห้ามมิให้มีการก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่ และได้มีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีคือ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และผู้อำนวยการเขตปทุมวัน ต้องปฏิบัติตามกฎหมายควบคุมอาคาร 40, 41, 42 และ 43 แห่ง พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำสั่ง โดยกรุงเทพมหานครต้องดำเนินการให้เจ้าของอาคาร ปรับปรุงอาคาร หรือแก้ไขให้ถูกต้องตามกฎหมาย
เทคโนโลยีการรื้อถอนอาคาร
รศ.สิริวัฒน์ ไชยชนะ(Assoc.Prof.Siriwat Chaichana) เลขาธิการ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) กล่าวถึง เทคโนโลยีการรื้อถอนอาคาร ที่ใช้กันและเป็นที่ยอมรับในนานาประเทศ แบ่งออกเป็น 7 ประเภท 1.การรื้อถอนอาคารโดยใช้แรงงานคน 2.การรื้อถอนอาคารโดยใช้แรงงานเครื่องจักรกล 3.การรื้อถอนอาคารโดยใช้วิธี Implosion 4.การรื้อถอนอาคารโดยใช้วิธี Non Explosion 5.การรื้อถอนอาคารที่เกิดจากอุบัติภัย 6.การรื้อถอนอาคารที่เกิดจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ 7.การรื้อถอนอาคารที่เกิดจากภัยการก่อการร้าย ในบ้านเรายังให้ความสำคัญกับการรื้อถอนอาคารน้อยเพราะแต่ก่อนตึกยังเป็นแนวราบส่วนใหญ่ แต่ปัจจุบันการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการเติบโตของเมืองเป็นไปอย่างรวดเร็ว จำนวนอาคารสูงมีเพิ่มขึ้นมากทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัด ทางวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) จะมุ่งพัฒนาองค์ความรู้และจัดอบรมสัมนาถ่ายทอดประสบการณ์ความเชี่ยวชาญแก่วิศวกร บริษัทและบุคคลากร
สำหรับการรื้อถอนอาคาร ดิเอทัส เป็นเรื่องของ กทม.และเขตต้องออกคำสั่งให้หยุดการใช้อาคาร และแก้ไขให้ถูกต้องตามกฎหมาย ปัจจุบันความก้าวหน้าทางวิศวกรรมสามารถรื้อถอนอาคารด้านบนบางส่วน โดยไม่ทำให้อาคารด้านล่างเสียหาย แต่จะต้องทำโดยผู้เชี่ยวชาญและจะต้องปิดใช้อาคาร กรณีเป็นอาคารสูง 20 ชั้น หากรื้อถอนอาคารเหลือ 8 ชั้น ประมาณการคร่าว ๆ จะใช้เวลารื้อถอนเฉลี่ยชั้นละ 2 เดือน รวมแล้วประมาณ 2-3 ปี หลักการรื้อถอนอาคาร ต้องทำโดยผู้เชี่ยวชาญและมีวิศวกรควบคุมตามข้อกำหนดมาตรฐานสากล รอบรู้กฏหมายที่เกี่ยวข้อง เน้นความปลอดภัย รื้อถอนส่วนที่ติดตั้งทีหลังออกก่อนเริ่มจากระบบปรับอากาศ ประปา ไฟฟ้า แล้วไปฝ้า ผนัง พื้น จนเหลือแต่โครงสร้างจะเป็นส่วนท้ายๆ
วสท.เตรียมใช้มาตรฐานงานรื้อถอนทางวิศวกรรมของไทย ปี 58
วสท.ได้พัฒนา”มาตรฐานงานรื้อถอนทางวิศวกรรม ปี 2558 ” โดยจะใช้เป็นแนวทางปฏิบัติในการรื้อถอนอาคาร รองรับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี การขยายตัวของตึกสูงและปัญหาตึกที่ถูกทิ้งร้าง โดยมีสาระสำคัญ 3 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 วัตถุประสงค์และขอบเขตงาน ตามมาตรฐานสากล ส่งเสริมการดำเนินงานวางแผน ขั้นตอน วิธีการและความปลอดภัยสำหรับการรื้อถอนโครงสร้างเพื่อควบคุมความเสี่ยงจาการรื้อถอน ทั้งในด้านควบคุมความเสี่ยงต่อสุขอนามัยของชุมชน บุคคลากรผู้ทำงานและผู้อยู่อาศัยใกล้เคียง ควบคุมความเสี่ยงด้านความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม และควบคุมความเสี่ยงต่อที่ดินและสิ่งปลูกสร้างด้วย ทั้งนี้โดยมีข้อกำหนดต่างๆที่เกี่ยวข้อง เช่น มาตรฐานความปลอดภัย ข้อกำหนดและหลักการออกแบบอาคารหลังที่จะทำการรื้อถอน การตรวจสอบอาคารที่จะถูกรื้อถอน การป้อกันโครงสร้างส่วนที่ไม่ได้รื้อถอน ข้อกำหนดด้านแรงลม ป้ายเตือนภัย อุปกรณ์ความปลอดภัยส่วนบุคคลในการทำงาน การใช้เครื่องจักรกล เป็นต้น ส่วนที่ 2 การวางแผนและการบริหารจัดการ ประกอบด้วย การสำรวจตรวจสอบโครงสร้าง การสำรวจตรวจสอบสถานที่ แผนการทำงาน การดำเนินการรื้อถอนด้วยวัตถุระเบิด (ถ้ามี) ส่วนที่ 3 ขั้นตอนการรื้อถอน ได้แก่ ข้อควรระวังในการควบคุมงานรื้อถอนประเภทต่างๆ ลำดับขั้นตอนการทำงาน วิธีการเร่งให้พังทลาย เป็นต้น
การบริหารจัดการปัญหาตึกร้าง
ศ.ดร. สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.)กล่าวถึงปัญหาตึกร้าง ว่า “เมื่อดูจากใบอนุญาตก่อสร้างอาคารของกทม. โดยเฉพาะอาคารสูงและอาคารขนาดใหญ่พิเศษที่ยุติการก่อสร้างรวม 245 แห่งจากปัญหาช่วงเศรษฐกิจฟองสบู่แตก การเก็งกำไรในปี 2540 เป็นส่วนใหญ่ โดยแบ่งป็นประเภทลงเสาเข็มอย่างเดียว 85 แห่ง และประเภทขึ้นโครงเหนือพื้นดินแล้ว 160 แห่งซึ่งในจำนวนนี้ 90 อาคาร มีศักยภาพในการพัฒนาต่อและใบอนุญาตไม่ขาดต่ออายุ ส่วนที่เหลืออีก 155 อาคาร ใบอนุญาตขาดอายุแล้วจัดเป็นกลุ่มสินทรัพย์ด้อยค่า
รศ.เอนก ศิริพานิชกร ประธานสาขาวิศวกรรมโยธา วสท.สำหรับตึกที่สร้างไม่เสร็จลักษณะเช่นอาคารสาทร ยูนิค ทาวเวอร์ เขตบางรักที่ล่าสุดพบศพชาวต่างชาตินั้น มีจำนวน 160 ตึกนั้น นับเป็นพื้นที่อันตรายจากอุบัติเหตุ แหล่งมั่วสุม ยาเสพติด อาชญากรรม สุขอนามัย และเป็นจุดเสื่อมโทรมของทัศนียภาพของชุมชนและเมือง ควรมีการบริหารจัดการปัญหาตีกร้างเพื่อลดจำนวนตึกร้างลงให้น้อยที่สุด วสท.เตรียมเสนอให้กระทรวงมหาดไทยออกกฏกระทรวงฉบับใหม่ยืดอายุใบอนุญาตให้กับอาคารทิ้งร้างในยุควิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 อีกครั้ง หลังจากกฏกระทรวงฉบับเก่าเพิ่งหมดอายุไปเมื่อวันีท่ 30 พ.ย.57 ที่ผ่านมา เพื่อจูงใจให้เจ้าของหรือผู้สนใจนำอาคารเหล่านี้มาพัฒนาปรับปรุง ให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจ
พร้อมทั้งควรออกกฏกระทรวงกำหนดความรับผิดชอบของเจ้าของตึกร้างและตึกสร้างค้าง หากเกิดเหตุกรณีใดๆที่มีต้นจากอาคารนั้นๆ เจ้าของอาคารต้องมีส่วนรับผิดชอบ รัฐควรมีแนวทางให้สถาบันการเงินเข้ามาร่วมดูแลให้การลงทุนปรับปรุงอาคารเดินไปได้และเกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจต่อไป โดยมีวิศวกรผู้เชี่ยวชาญสำรวจ และมีการคำนวณ ซึ่งขั้นตอนประเมินอาจจะต้องใช้เวลา ถ้ามีการรื้อถอนทุบทิ้งแล้วสร้างต่อนั้น จะอยู่ในส่วนของกฎหมายใหม่ ต้องขออนุญาตสำนักการโยธา กทม.และหากจะต่อเติมดัดแปลงแก้ไข ทางเจ้าของตึกจะต้องขออนุญาตก่อนเช่นกัน”
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ วสท.
PR AGENCY : บ.เบรนเอเซีย คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (BrainAsia Communication)
Tel. : ประภาพรรณ 081-899-3599,086-341-6567 E-mail : [email protected]