- Details
- Category: อสังหาริมทรัพย์ฯ
- Published: Wednesday, 08 March 2023 13:09
- Hits: 1612
‘พร็อพเพอร์ตี้กูรู’ บริษัทแม่ของดีดีพร็อพเพอร์ตี้ และ thinkofliving.com 2 เว็บไซต์อสังหาริมทรัพย์ชั้นนำของไทย เผยผลประกอบการไตรมาส 4 และผลประกอบการของทั้งปี 2565
รายได้รวมไตรมาส 4 โตขึ้น 17% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ขณะที่รายได้ทั้งปี 2565 โตขึ้น 35%
• รายได้รวมโตขึ้น 35% มาอยู่ที่ 136 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (ราว 3.5 พันล้านบาท เมื่อเทียบกับอัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 2 มี.ค. 66) ซึ่งในทุกๆ ธุรกิจเติบโตขึ้นกว่า 20% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
• ผลกำไรจากการดำเนินงานของบริษัทก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคาที่ปรับแล้ว (Adjusted EBITDA) มีมูลค่า 14 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (ราว 362 ล้านบาท) ในปี 2565 เพิ่มขึ้น 25 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์จากยอดขาดทุน 10 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (ราว 258 ล้านบาท) เมื่อปี 2564
• ผลกำไรจากการดำเนินงานของบริษัทก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคาที่ปรับแล้ว (Adjusted EBITDA) ของหน่วยธุรกิจมาร์เก็ตเพลส (Marketplaces) ในปี 2565 เพิ่มขึ้น 2.6 เท่าจากปี 2564
บริษัท พร็อพเพอร์ตี้กูรู กรุ๊ป จำกัด (หรือชื่อย่อในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก NYSE คือ PGRU) (หรือต่อจากนี้จะเรียกว่า “พร็อพเพอร์ตี้กูรู” หรือ “บริษัท”) บริษัทเทคโนโลยีด้านอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้[1] (“PropTech”) และเป็นบริษัทแม่ของ 2 เว็บไซต์ด้านอสังหาริมทรัพย์ชื่อดังของไทย ได้แก่ DDproperty.com แพลตฟอร์มมาร์เก็ตเพลสด้านอสังหาฯ อันดับ 1 ของประเทศ และ thinkofliving.com เว็บไซต์รีวิวโครงการอสังหาฯ ชั้นนำของประเทศ วันนี้ได้ประกาศผลประกอบการประจำไตรมาส 4 ซึ่งสิ้นสุด ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 โดยมีรายได้ในไตรมาสนี้รวมทั้งสิ้น 40 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (ราว 1 พันล้านบาท) เพิ่มขึ้น 17% จากปีก่อนหน้า ยอดขาดทุนสุทธิ (Net loss) ในไตรมาสที่ 4 ปี 2565 อยู่ที่ 5 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (ราว 129 ล้านบาท) และ Adjusted EBITDA[2] เป็นบวกอยู่ที่ 5 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ เมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ของปี 2564 ยอดขาดทุนสุทธิจะอยู่ที่ 27 ล้านดอลลาร์ สิงคโปร์[3] (ราว 698 ล้านบาท) และผลกำไรที่ปรับแล้วมูลค่าอยู่ที่ 4 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (ราว 103 ล้านบาท)
นายแฮร์รี่ วี. คริชนัน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ กล่าวว่า “เรายินดีกับผลประกอบการที่ออกมา เนื่องจากพร็อพเพอร์ตี้กูรูทำผลงานได้อย่างดีเยี่ยมท่ามกลางความท้าทายต่างๆ มากมายที่ยังคงส่งผลกระทบต่อตลาดหลักของเรา ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นและการแทรกแซงจากมาตรการของภาครัฐที่เข้มงวดในการให้สินเชื่อส่งผลกระทบต่อกิจกรรมต่างๆ ในตลาด เรายังคงยืนหยัดและเติบโตได้อย่างดี ด้วยการช่วยให้ลูกค้าของเราผ่านพ้นช่วงเวลาแห่งความท้าทายที่พวกเขากำลังเผชิญไปได้ และยังเพิ่มมูลค่าให้กับโซลูชั่นต่างๆ ของเราในทุกๆ เฟสของวงจรธุรกิจอสังหาริมทรัพย์”
“ปีที่ผ่านมานับเป็นปีแห่งประวัติศาสตร์ของพร็อพเพอร์ตี้กูรู เพราะเราได้ก้าวสู่การเป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของโลกอย่างนิวยอร์ก (NYSE) และต่อจากนี้ไป เรายังคงมองเห็นโอกาสที่ดีในปี 2565 รวมถึงในอนาคต โดยเรายังคงเดินหน้านำเสนอโซลูชั่นที่แตกต่างให้กับลูกค้าของเรา และยังมองหาโอกาสใหม่ๆ ในการลงทุนอย่างชาญฉลาดเพื่อเร่งการเติบโตของบริษัท เซนด์เฮลเพอร์ (Sendhelper) เป็นตัวอย่างที่ดีของการซื้อกิจการอย่างมีกลยุทธ์ที่เรารู้สึกตื่นเต้นที่ได้สร้างมูลค่าให้กับกลุ่มเป้าหมายขนาดใหญ่ของเรา และเน้นย้ำการทำงานร่วมกันระหว่างบริษัทต่างๆ” นายแฮร์รี่ยังกล่าวต่อไปอีกว่า “อัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มสูงขึ้น ค่าเงินเฟ้อทั่วโลกและมาตรการหรือนโยบายทางภาษีของรัฐบาลคือความท้าทายที่เราจะต้องเผชิญในอนาคตอันใกล้นี้ เราจะยังคงมุ่งมั่นที่จะส่งมอบสิ่งที่ดีที่สุดให้กับลูกค้าของเรา ด้วยการทำให้ระบบนิเวศของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มีความเป็นดิจิทัลยิ่งขึ้นและทำให้มีความโปร่งใส มีประสิทธิภาพมากขึ้น เราเชื่อว่าตลาดต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เราดำเนินธุรกิจอยู่จะเติบโตขึ้นมาอยู่ในระดับแถวหน้าในระดับโลกได้ในอนาคต”
ด้านนายโจ ดิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการเงิน กล่าวเสริมว่า “พร็อพเพอร์ตี้กูรูมีรายได้ที่เติบโตอย่างแข็งแรงถึง 35% ในปี 2565[4] ในทุกเซ็กเมนต์ของธุรกิจทำผลงานได้อย่างดีแม้ว่าจะต้องเผชิญกับการทำงานที่เต็มไปด้วยความท้าทาย เรารู้สึกยินดีกับผลประกอบการที่ออกมา ด้วยมาตรการเชิงรุกในการควบคุมค่าใช้จ่ายต่างๆ ทำให้เราสามารถมีผลกำไรที่ปรับแล้วเป็นบวก คือ 25 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ในปีนี้ เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ในปี 2566 เรายังคงมีแผนที่จะเพิ่มรายได้ให้เติบโตและพัฒนาผลประกอบการให้ดียิ่งขึ้น เรายังคงเดินหน้าขยายธุรกิจ เร่งการลงทุน และเพิ่มการลงทุนที่สร้างผลกำไรในอนาคตให้มากยิ่งขึ้น”
ไฮไลต์ผลประกอบการ – ไตรมาส 4 และตลอดทั้งปี 2565
• ยอดรายได้ทั้งหมดเพิ่มขึ้น 17% มาอยู่ที่ 40 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ในไตรมาส 4 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว และรายได้ทั้งปีเพิ่มขึ้น 35% มาอยู่ที่ 136 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา
• รายได้จากธุรกิจมาร์เก็ตเพลส (Marketplaces) เพิ่มขึ้น 15% อยู่ที่ 38 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ในไตรมาส 4 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า และรายได้ทั้งปีเพิ่มขึ้น 34% มาอยู่ที่ 131 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยยังรักษาความแข็งแกร่งไว้ได้ในตลาดสิงคโปร์และมาเลเซีย ชดเชยความท้าทายที่ต้องเผชิญในตลาดเวียดนาม เนื่องจากข้อบังคับด้านการปล่อยสินเชื่อในช่วงปลายปีที่ผ่านมานั่นเอง
- รายได้จากธุรกิจมาร์เก็ตเพลสในสิงคโปร์เพิ่มขึ้น 15% อยู่ที่ 19 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ในไตรมาสที่ 4 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่รายได้ทั้งปีเพิ่มขึ้น 24% มาอยู่ที่ 69 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ซึ่งเป็นผลมาจากทั้งการเพิ่มรายได้เฉลี่ยต่อเอเจนต์ (Average Revenue Per Agent หรือ ARPA) และรายได้โดยรวมจากเอเจนต์ที่เพิ่มขึ้น โดยในไตรมาส 4 รายได้เฉลี่ยต่อเอเจนต์เพิ่มขึ้นราว 20% มาอยู่ที่ 1,076 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อคนเมื่อเทียบกับช่วงไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า และรายได้เฉลี่ยต่อเอเจนต์ทั้งปีเพิ่มขึ้น 24% จากปีก่อนหน้ามาอยู่ที่ 4,078 ดอลลาร์สิงคโปร์ในปี 2565 นอกจากนี้ ในไตรมาส 4 สิงคโปร์มีเอเจนต์จำนวน 15,529 ราย โดยอัตราการต่ออายุในไตรมาสที่ 4 นี้อยู่ที่ 79%
- รายได้จากธุรกิจมาร์เก็ตเพลสในมาเลเซียในไตรมาสที่ 4 เพิ่มขึ้น 28% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า มาอยู่ที่ 8 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ และรายได้ทั้งปี เพิ่มขึ้น 77% จากปีก่อนหน้ามาเป็น 25 ล้านสิงคโปร์ดอลลาร์ โดยบริษัทยังคงสร้างรายได้จาก 2 แบรนด์ชั้นนำ และใช้ประโยชน์จากการควบรวมธุรกิจจาก iProperty เมื่อเดือนสิงหาคม 2564
- รายได้จากธุรกิจมาร์เก็ตเพลสในเวียดนามลดลง 7% ในไตรมาสที่ 4 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า มาอยู่ที่ 6 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ และรายได้ทั้งปีเพิ่มขึ้น 28% จากปีก่อนหน้า มาอยู่ที่ 24 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ ทั้งนี้ การที่รัฐบาลประกาศนโยบายที่เข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ ส่งผลต่อจำนวนประกาศอสังหาริมทรัพย์ในประเทศเวียดนามโดยรวม โดยจำนวนประกาศในไตรมาส 4 ลดลงถึง 22% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้ามาอยู่ที่ 1.6 ล้านรายการ ในขณะที่รายได้เฉลี่ยต่อประกาศ (“ARPL”) ในไตรมาสที่ 4 เพิ่มขึ้น 22% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน มาอยู่ที่ 3.25 ดอลลาร์สิงคโปร์ และรายได้เฉลี่ยต่อประกาศทั้งปีเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 8% มาอยู่ที่ 2.97 ดอลลาร์สิงคโปร์
• ณ สิ้นปี เงินสด และรายการเทียบเท่าเงินสดมีมูลค่าอยู่ที่ 309 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์
ความเป็นผู้นำอย่างแข็งแกร่งในธุรกิจเป็นตัวขับเคลื่อนโอกาสต่างๆ ทางธุรกิจ
ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 พร็อพเพอร์ตี้กูรูยังคงครองความเป็นผู้นำส่วนแบ่งการตลาด[5] ในประเทศสิงคโปร์ เวียดนาม มาเลเซีย และประเทศไทย
สิงคโปร์: 81% – นำหน้าอันดับที่ 2 อยู่ 5.2 เท่า
ไทย: 58% – นำหน้าอันดับที่ 2 อยู่ 2.5 เท่า
เวียดนาม: 75% – นำหน้าอันดับที่ 2 อยู่ 3.1 เท่า
อินโดนีเซีย: 22% – นำหน้าอันดับที่ 2 อยู่ 0.3 เท่า
มาเลเซีย: 93% – นำหน้าอันดับที่ 2 อยู่ 15.2 เท่า
คาดการณ์ผลประกอบการปี 2566
ทั้งนี้ บริษัทได้คาดการณ์รายได้ทั้งปีของปี 2566 ไว้ประมาณ 160-170 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ และ Adjusted EBITDA อยู่ที่ระหว่าง 11–15 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ ในระยะใกล้นี้การร่วมบูรณาการและขยายการควบรวมกิจการกับเซนด์เฮลเพอร์ (Sendhelper) คาดว่าจะส่งผลกระทบในเชิงลบต่อผลกำไรราว 3-4 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ในปี 2566 นี้ และนับตั้งแต่ไตรมาสที่ 1 ของปี 2566 บริษัทจะไม่ลบค่าใช้จ่ายต่อเนื่องที่เกิดขึ้นจากการเป็นบริษัทมหาชนเมื่อต้องคำนวณ Adjusted EBITDA สำหรับปี 2566 บริษัทคาดการณ์ว่าค่าใช้จ่ายดังกล่าวจะอยู่ที่ประมาณ 11–12 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ โดยในปี 2565 ที่ผ่านมา ค่าใช้จ่ายดังกล่าวอยู่ที่ 11 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ และจากฐานดังกล่าวทำให้ Adjusted EBITDA ทั้งปี 2565 ของบริษัทอยู่ที่ 3 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์
ปัจจัยระยะสั้นที่จะส่งผลกระทบต่อบริษัทและทำให้การคาดการณ์ผลประกอบการเป็นไปแบบไม่หวือหวาสำหรับปี 2566 ได้แก่ มาตรการของรัฐบาลเวียดนามที่ควบคุมการให้สินเชื่อแก่ผู้บริโภค, การเมืองที่ยังคงไม่แน่นอนในมาเลเซีย, นโยบายที่เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ที่ค่อนข้างเคร่งครัดในสิงคโปร์, ความไม่ชัดเจนของนโยบายการคลังทั่วโลกอันเกิดจากอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น, แรงกดดันที่เพิ่มขึ้นจากเงินเฟ้อ และเรื่องเกี่ยวกับระบบห่วงโซ่อุปทานของโลก (Global Supply Chain Issues) ในระยะยาว บริษัทยังคงมุ่งมั่นที่จะสร้างการเติบโตแบบก้าวกระโดด มุ่งหวังที่จะเพิ่มพูนผลกำไร และสร้างโอกาสใหม่ๆ ในตลาดหลักที่บริษัทดำเนินการอยู่
[1] อ้างอิงข้อมูลจาก SimilarWeb ช่วงระหว่างเดือน ก.ค. - ธ.ค. 2565
[2] ในการปรับปรุงรายการระหว่างยอดขาดทุนสุทธิ และผลกำไรที่ปรับแล้วของไตรมาส 4 ปี 2565 มูลค่า 10 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (ราว 258 ล้านบาท) นั้นได้รวมถึงค่าเสื่อมราคา (depreciation) และ ค่าตัดจำหน่าย (amortization) มูลค่า 5 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (ราว 129 ล้านบาท) แล้ว
[3] ในการปรับปรุงรายการระหว่างยอดขาดทุนสุทธิ และผลกำไรที่ปรับแล้วของไตรมาส 4 ปี 2564 มูลค่า 23 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ ได้รวมถึงค่าเสื่อมราคา (depreciation) และ ค่าตัดจำหน่าย (amortization) มูลค่า 5 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (ราว 129 ล้านบาท) อีกทั้งยังรวมถึงสิทธิ์ในการจัดสรรและซื้อขายหุ้นมูลค่า 7 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ และค่าใช้จ่ายในการควบรวมกิจการต่างๆ อีก 7 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์แล้ว
4 ผลประกอบการทั้งปี ซึ่งสิ้นสุด ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 นั้นรวมผลประกอบการธุรกิจของ iProperty Malaysia และ thinkofliving ซึ่งถูกควบรวมเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2564
[5] อ้างอิงจากข้อมูลของ SimilarWeb ช่วงระหว่าง ก.ค.- ธ.ค. 2565
A3304