- Details
- Category: อสังหาริมทรัพย์ฯ
- Published: Tuesday, 06 September 2022 19:08
- Hits: 3282
‘ลุมพินี วิสดอม’ ระบุ 3 แนวทางการบริหารจัดการน้ำในโครงการอสังหาฯ ลดปัญหาน้ำรอระบายในโครงการ
“ลุมพินี วิสดอม” ระบุ การเพิ่มพื้นที่สีเขียว เลือกใช้วัสดุที่น้ำซึมผ่านได้ง่าย และการวางระบบโครงสร้างภายในโครงการ เป็น 3 แนวทางในการบริหารจัดการน้ำท่วมขังในโครงการ
นายประพันธ์ศักดิ์ รักษ์ไชยวรรณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลุมพินี วิสดอม แอนด์ โซลูชั่น จำกัด บริษัทด้านวิจัยและพัฒนาในเครือบริษัท แอล. พี. เอ็น. ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) (LPN) “ลุมพินี วิสดอม” ระบุว่า เนื่องจากกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เป็นพื้นที่ลุ่มน้ำภาคกลาง ทำให้เมื่อเข้าสู่ฤดูฝนและมีมรสุมเข้า ทำให้ต้องประสบกับภาวะน้ำท่วมขัง รอระบาย กลายเป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นตามฤดูกาล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อฝนตกก็จะมาพร้อมกับปัญหารถติด ยิ่งพื้นที่ไหนเกิดน้ำท่วมขังเพราะปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมามีมากจนไม่สามารถระบายน้ำได้ทัน ก็ยิ่งสร้างความลำบากในการใช้ชีวิตให้กับคนกรุงเทพฯ
“สาเหตุหนึ่งของการที่ฝนตกหนัก จนทำให้เกิดน้ำท่วมขัง รอระบาย มาจากระบบระบายน้ำอย่างท่อระบายน้ำสาธารณะไม่สามารถระบายน้ำได้ทัน ทำให้มีปริมาณน้ำฝนที่รอระบายจำนวนมากจนเป็นเหตุให้เกิดการท่วมขังบางพื้นที่ แน่นอนว่าการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่สาธารณะ จำเป็นต้องแก้ไขที่ระบบระบายน้ำของกรุงเทพฯ ให้สามารถทำงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งหน่วยงานต่างๆ ของกรุงเทพฯ ได้มีแนวทางในการแก้ไขปัญหาโดยการวางระบบท่อระบายน้ำขนาดใหญ่ การสร้างอุโมงค์เพื่อระบายน้ำเป็นต้น อย่างไรก็ตามในส่วนของผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ ที่พัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล สามารถมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขัง และรอระบาย ขณะที่เกิดมรสุม และฝนตก จำนวนมาก โดยเริ่มต้นตั้งแต่การออกแบบในการพัฒนาโครงการทั้งอาคารชุดและบ้านพักอาศัย” นายประพันธ์ศักดิ์ กล่าว
นายประพันธ์ศักดิ์ กล่าวว่า ปัจจุบันในการพัฒนาโครงการที่พักอาศัย ทั้งอาคารชุด และบ้านพักอาศัย โดยเฉพาะโครงการที่ตั้งอยู่ในเขตเมือง เรื่องการบริหารจัดการน้ำในโครงการ เป็นหัวข้อที่ผู้ประกอบการอสังหาฯ ต้องให้ความสำคัญตั้งแต่กระบวนการการออกแบบ โดยคำนึงถึง การบริหารการใช้น้ำที่ใช้ประโยชน์ในโครงการ รวมไปถึงการจัดการน้ำเสียและน้ำฝนก่อนที่จะระบายไปสู่ท่อระบายน้ำสาธารณะ ซึ่งการออกแบบหรือวางแผนการจัดการน้ำ มีทั้งที่ถูกกำหนดด้วยกฎหมายและออกแบบเพื่อการบริหารจัดการน้ำให้มีประสิทธิภายในโครงการเอง
ในทางกฎหมาย มีข้อกำหนดที่ว่าด้วยเรื่องการออกแบบการบริหารจัดการเกี่ยวกับการระบายน้ำฝนโดยเฉพาะ เพื่อให้ปริมาณน้ำฝนที่ออกจากโครงการมีปริมาณที่เหมาะสมและไม่ก่อให้เกิดผลกระทบกับพื้นที่ข้างเคียงหรือระบบระบายน้ำสาธารณะ ซึ่งเป็นข้อปฏิบัติขั้นพื้นฐานในการออกแบบและบริหารจัดการน้ำภายในโครงการทั้งน้ำที่ใช้ประโยชน์และระบบระบายน้ำภายในโครงการ แต่หากต้องการให้โครงการมีการบริหารจัดการน้ำฝนที่มีประสิทธิภาพขั้นสูงสุดผู้ประกอบการอสังหาฯ จำเป็นต้องให้ความสำคัญในการออกแบบและวางระบบบริหารจัดการน้ำภายในโครงการ โดยเฉพาะระบบระบายน้ำที่มีประสิทธิภาพนอกเหนือจากข้อปฏิบัติขั้นพื้นฐานตามที่กฏหมายกำหนด
จากการศึกษาของทีมวิจัยของ “ลุมพินี วิสดอม” พบว่า น้ำฝนที่ตกลงมาภายในโครงการมีเส้นทางการไหลหลักๆ อยู่ 2 เส้นทาง คือ น้ำฝนที่ตกลงบนพื้นที่ที่เป็นดิน หรือพื้นที่สีเขียว น้ำฝนจะสามารถไหลซึมลงไปสู่ชั้นดินได้ แต่น้ำฝนที่ตกลงบนพื้นที่ดาดแข็งหรือพื้นที่ที่น้ำฝนไม่สามารถไหลซึมผ่านสู่ชั้นดินได้ เช่น พื้นถนน พื้นที่ดาดฟ้า พื้นคอนกรีต น้ำฝนจะไหลลงสู่ระบบระบายน้ำภายในโครงการก่อนถูกส่งออกไปท่อระบายน้ำสาธารณะ จะเห็นได้ว่า เมื่อภายในโครงการมีพื้นที่สีเขียวหรือพื้นที่ที่น้ำฝนสามารถไหลซึมผ่านได้ จะช่วยให้น้ำฝนซึมผ่านสู่ชั้นดินได้เลย เป็นการลดปริมาณน้ำฝนที่จะไหลเข้าสู่ระบบระบายน้ำ และลดปัญหาการเกิดน้ำท่วมเฉียบพลันในพื้นที่เมือง
จากผลการศึกษาดังกล่าว จึงสามารถกำหนดแนวทางในการการออกแบบและวางแผนพัฒนาโครงการที่พักอาศัย เพื่อให้มีการบริหารจัดการน้ำฝนให้มีประสิทธิภาพและเกิดความยั่งยืนสามารถดำเนินการใน 3 ประการ เพื่อลดผลกระทบจากน้ำท่วมขังและรอการระบาย และเป็นส่วนหนึ่งในการลดผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมโดยรอบ ดังต่อไปนี้
1. “พื้นที่สีเขียว” ยิ่งเยอะยิ่งดี จากที่กล่าวไว้ข้างต้น พื้นที่สีเขียว หรือพื้นที่ที่น้ำฝนสามารถซึมผ่านลงสู่ชั้นดินได้เลย ลดปริมาณน้ำฝนที่ต้องไหลเข้าระบบระบายน้ำของโครงการและลดภาระของท่อระบายน้ำสาธารณะ ตามกฎหมาย ถูกกำหนดสัดส่วนขั้นต่ำในการแบ่งพื้นที่ภายในโครงการด้วย FAR (Floor to Area Ratio) และ OSR (Open Space Ratio) หากต้องการให้โครงการมีพื้นที่สีเขียวที่เหมาะสมมากยิ่งขึ้น สามารถออกแบบโดยใช้เกณฑ์การออกแบบตามมาตรฐานอาคารเขียวได้ เช่น ในเกณฑ์การออกแบบตามมาตรฐาน LEED กำหนดให้ต้องมีพื้นที่ Open Space มากกว่า 30% ของพื้นที่โครงการ และในพื้นที่ Open Space นั้น ต้องมีพื้นที่สีเขียวไม่น้อยกว่า 25%
2. พื้นถนนและทางเท้า ใช้วัสดุปูพื้นผิวที่น้ำซึมผ่านได้ โดยปกติ พื้นถนนและทางเท้าจะเป็นพื้นคอนกรีตที่น้ำไม่สามารถซึมผ่านได้ น้ำฝนที่ตกลงมาจะไหลไปรวมกันตามรางระบบระบายน้ำของโครงการ แต่ในปัจจุบัน มีนวัตกรรมด้านวัสดุปูพื้นผิวของพื้นที่ถนนหรือพื้นที่ดาดแข็ง ให้มีลักษณะเป็นรูพรุนและมีคุณสมบัติให้น้ำซึมผ่านได้ ดังนั้นในการเลือกใช้วัสดุปูพื้นผิวภายนอกอาคาร หากเปลี่ยนจากพื้นคอนกรีตหนาทึบ เป็นวัสดุที่มีคุณสมบัติให้น้ำซึมผ่านได้ จะช่วยเพิ่มพื้นที่ที่สามารถดูดซับน้ำลงสู่ชั้นดิน และลดปริมาณน้ำในระบบระบายน้ำได้
3. ออกแบบพื้นที่สีเขียวในโครงการอย่างยั่งยืน ด้วยการบูรณะการออกแบบพื้นที่สีเขียวกับหลักการการเชื่อมต่อและเสริมสร้าง Ecosystems หรือที่เรียกว่า โครงสร้างพื้นฐานสีเขียว (Green Infrastructure) ที่เน้นในการบริหารจัดการประสิทธิภาพและคุณภาพของพื้นที่สีเขียว น้ำและอากาศ เป็นอีกหนึ่งแนวทางการออกแบบที่ช่วยในการบริหารจัดการน้ำและอนุรักษ์ระบบนิเวศในโครงการ
“จากเทคโนโลยีในการออกแบบ และนวัตกรรมใหม่ๆ ของวัสดุก่อสร้างที่ถูกพัฒนาขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้ประกอบการอสังหาฯ สามารถที่จะพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยที่มีคุณภาพ ลดปริมาณน้ำท่วมขังและรอระบายทั้งในโครงการและในพื้นที่สาธารณะโดยรอบโครงการ เป็นส่วนหนึ่งของการช่วยแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขัง และรอระบายในช่วงฤดูฝน และในขณะเดียวกันยังเป็นการพัฒนาโครงการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน” นายประพันธ์ศักดิ์ กล่าว
A9213