- Details
- Category: อสังหาริมทรัพย์ฯ
- Published: Friday, 18 March 2022 16:42
- Hits: 6986
‘การเคหะแห่งชาติ’ ได้รับการยกย่องเป็น ‘องค์กรส่งเสริมอารยสถาปัตย์แห่งปี’ จากแนวคิดการออกแบบอาคารสูง 7 ชั้น (อาคาร 6) ณ สำนักงานใหญ่ มุ่งเป็นมิตรกับคนทั้งมวล ทั้งผู้สูงอายุและคนพิการ
นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานเปิดงาน “มหกรรมอารยสถาปัตย์และนวัตกรรมสุขภาพเพื่อคนทั้งมวล” ครั้งที่ 5 Thailand Friendly Design Expo 2022 “วีลแชร์เดย์” ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 10-13 กุมภาพันธ์ 2565 โดยมี นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ เข้าร่วมในพิธีเปิดดังกล่าว พร้อมรับมอบป้ายประกาศเกียรติคุณรางวัล “Friendly Design Awards 2022” จากนางสาวสราญภัทร อนุมัติราชกิจ อธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ณ ห้องประชุม ฮอลล์ 101 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2565
นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ เปิดเผยว่า สำหรับรางวัลที่ได้รับในครั้งนี้ เพื่อยกย่องให้การเคหะแห่งชาติเป็น “องค์กรส่งเสริมอารยสถาปัตย์แห่งปี” (Housing for All) ด้วยการส่งเสริมและสร้างอารยสถาปัตย์ เพื่อให้ทุกคนทุกเพศ ทุกวัย และทุกสภาพร่างกายให้สามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้โดยสะดวก ปลอดภัย ทันสมัย เป็นธรรม ทั่วถึง และเท่าเทียม
ด้วยนโยบายและแนวคิดการออกแบบอาคารสำนักงานสูง 7 ชั้น (อาคาร 6) สำนักงานใหญ่ การเคหะแห่งชาติ ซึ่งเป็นมาตรฐานสากลและเป็นมิตรกับคนทั้งมวล (Friendly Design) ไม่ว่าจะเป็นผู้สูงอายุ หรือคนพิการ ให้ได้รับความสะดวก ตรงกับแนวคิดในการสร้างความเท่าเทียม ที่เป็นแนวคิดตามหลักสากล สนับสนุนให้เกิดการเข้าถึง และมีส่วนร่วม ซึ่งการเคหะแห่งชาติได้ให้ความสำคัญ ตามภารกิจของการเคหะแห่งชาติ ในการพัฒนาที่อยู่อาศัยเพื่อผู้มีรายได้น้อยกลุ่มเปราะบางและผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ โดยให้ความสำคัญกับแนวคิดอารยสถาปัตย์ (Universal Design) ทั้งมิติของอาคารสำนักงานและการพัฒนาที่อยู่อาศัยเพื่อประชาชน
นายคำแหง ทองอินทร์ ผู้ช่วยผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ กล่าวว่า อาคารสำนักงานสูง 7 ชั้น (อาคาร 6) สำนักงานใหญ่ การเคหะแห่งชาติ ได้รับรางวัล “องค์กรส่งเสริมอารยสถาปัตย์แห่งปี” เนื่องจากมีแนวคิดการออกแบบในเชิงอารยสถาปัตย์ หรือการออกแบบเพื่อคนทั้งมวล โดยมีองค์ประกอบต่างๆ ดังนี้ 1.ลิฟต์ ที่จัดให้ผู้สูงอายุหรือคนพิการสามารถใช้ลิฟต์ได้ด้วยตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการใช้วัสดุที่เป็นสัญลักษณ์ปรากฏที่พื้น ปุ่มอักษรเบรลล์ การติดตั้งสัญญาณเสียงเพื่อเป็นแนวปฏิบัติในการเดินของผู้พิการทางสายตา 2.ทางลาดคนพิการ ซึ่งออกแบบทางลาดไว้เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้พิการที่ใช้รถเข็นนั่ง (Wheelchair) ให้เดินทางแบบไร้รอยต่อจนถึงไร้พื้นต่างระดับ และสามารถเดินทางเชื่อมได้ทุกอาคารของการเคหะแห่งชาติ และ 3.ห้องน้ำสำหรับผู้สูงอายุและคนพิการทุกกลุ่ม โดยได้นำแนวคิดของ Universal Design มาเป็นแนวทางในการออกแบบเพื่อให้เกิดการใช้งานและการเข้าถึงที่สะดวก
“ความโดดเด่นของอาคารสำนักงานสูง 7 ชั้นแห่งนี้ ยังเป็นเรื่องของตำแหน่งที่ตั้งที่อยู่ติดกับสวนพฤกษชาติ ซึ่งเป็นพื้นที่สีเขียวในย่านบางกะปิเพื่อใช้ในการออกกำลังกาย และเป็นพื้นที่พักผ่อนของประชาชน การเป็นอาคารที่อยู่ติดกับพื้นที่สีเขียว ถือว่าเป็นจุดที่ส่งเสริมให้ผู้ใช้อาคารมีความรู้สึกและบรรยากาศการทำงานที่สบายตา ทำให้ห้ผู้ปฏิบัติงานทุกคนได้ใกล้ชิดธรรมชาติ และมีมุมมองที่โปร่งโล่งสบายตา ซึ่งถือเป็นความโดดเด่นของการออกแบบอาคารแห่งนี้” นายคำแหง กล่าว
อีกแนวคิดในการออกแบบอาคารดังกล่าว คือ การเชื่อมต่ออาคาร ให้เป็นอาคารที่เชื่อมต่อระหว่างอาคารสมัยเก่าสู่ยุคสมัยใหม่ โดยนำเอาองค์ประกอบของยุคสมัยของอาคารเก่า ทั้งอาคารสูง 16 ชั้นและอาคารสูง 4 ชั้นหรือที่เรียกกันว่าตึกแดง มาใส่ในอาคารหลังนี้เพื่อเป็นการเชื่อมโยงระหว่างยุคสมัยเก่า สู่ยุคสมัยใหม่ไม่ว่าจะเป็นทั้งสีสันที่นำมาใช้หรือแม้กระทั่งวัสดุ รวมทั้งเส้นตั้ง เส้นนอน โดยได้ผสานลักษณะของสมัยเก่ามารวมไว้ที่อาคารใหม่แห่งนี้ทั้งหมด
นายคำแหง กล่าวว่า นอกจากได้รับการยกย่องให้เป็น “องค์กรส่งเสริมอารยสถาปัตย์แห่งปี” แล้ว อาคารแห่งนี้ยังได้รับรางวัลจากกระทรวงพลังงาน โดยกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ได้ออกกฎกระทรวงกำหนดประเภทหรือ ขนาดของอาคาร และมาตรฐาน หลักเกณฑ์ วิธีในการออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2552 โดยกำหนดให้มีการออกแบบอาคารและระบบต่างๆ ที่ใช้พลังงานให้เป็นไปตามข้อกำหนดในกฎกระทรวงฯ โดยการเคหะแห่งชาติ ได้ยื่นแบบก่อสร้างอาคารแห่งนี้ เพื่อเข้ารับการประเมินอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงานตามกฎกระทรวงฯ
ทั้งนี้ อาคารดังกล่าวได้ผ่านการตรวจประเมินแบบอาคารเป็นไปตามข้อกำหนดประเภทหรือขนาดของอาคาร และมาตรฐาน หลักเกณฑ์ วิธีในการออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2552 โดยกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน ได้มีหนังสือรับรองให้ไว้ ณ วันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2562 ซึ่งเป็นรางวัลที่ให้กับอาคารสูง 7 ชั้น ด้านการออกแบบ
A3635