- Details
- Category: อสังหาริมทรัพย์ฯ
- Published: Wednesday, 28 May 2014 23:04
- Hits: 4334
'เลควูด' เปิดตัวไม้เชิงวิศวกรรมชูจุดเด่นทนความชื้นเป็นมิตรสิ่งแวดล้อม
บ้านเมือง : นายวีรศักดิ์ โอมาก ประธานกรรมการ บริษัท เวิลด์ ออฟ เนเจอรัล เทรดดิ้ง จำกัด และเจ้าของผลิตภัณฑ์ไม้เชิงวิศวกรรมสมรรถนะสูง ภายใต้แบรนด์ "เลควูด" กล่าวว่า ภาพรวมของตลาดไม้ทดแทนเติบโตขึ้นอย่างมากสวนกระแสเศรษฐกิจในภาวะปัจจุบัน โดยมีมูลค่ารวมประมาณ 1 หมื่นล้านบาท และมีทิศทางที่จะโตขึ้นอีกในอนาคต บริษัทฯ จึงได้ทำการวิเคราะห์ตลาดและตัดสินใจขยายการลงทุน ด้วยการซื้อสิทธิบัตรไม้เชิงวิศวกรรมสมรรถนะสูง จากทางสถาบันสาขาวิชาวิศวกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จำนวน 5 สิทธิบัตร ถือเป็นเอกสิทธิเฉพาะของแบรนด์ "เลควูด" แต่เพียงผู้เดียว เพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่ให้กับผลิตภัณฑ์ของบริษัทฯ และนำไปสู่การพัฒนาวงการอุตสาหกรรมโครงสร้างที่พักอาศัยต่อไป"
"ในปัจจุบันไม้เชิงวิศวกรรมที่ใช้กันอยู่ในท้องตลาด ยังมีข้อด้อยอยู่หลายประการที่เห็นได้ชัดก็คือ ความแข็งแรงในเชิงกลระดับต่ำ ซึ่งไม่สามารถนำมาใช้ทดแทนไม้เนื้อแข็งจากธรรมชาติ เห็นได้ชัดจากการโก่งบวมของโครงสร้างอาคารหรือเฟอร์นิเจอร์ที่ผลิตจากไม้เชิงวิศวกรรม เมื่ออยู่ในสภาพอากาศที่ชื้นเป็นเวลานานช่วงหนึ่งและยังเกิดเชื้อรา ทั้งยังถูกทำลายโดยแมลงพวกมอดไม้หรือปลวกได้ง่าย" วีรศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติม
สำหรับ ไม้เชิงวิศวกรรมสมรรถนะสูง ภายใต้แบรนด์'เลควูด'ผลิตขึ้นจากวัสดุเหลือใช้ทางภาคเกษตร อาทิ แกลบข้าว, เยื่อชานอ้อย, ขี้เลื่อยไม้, เยื่อยูคาลิปตัส เป็นต้น มาผ่านกระบวนการผลิตวิศวกรรมโดยประยุกต์ใช้กับระบบกาวอีพ๊อกซี่ เป็นกาวยึดติดและที่พิเศษคือการเสริมแรงด้วยใยแก้ว ซึ่งทำมาจากวัสดุเหลือใช้จากอุตสาหกรรมผลิตกระดานโต้คลื่น จึงเป็นที่มาของไม้เชิงวิศวกรรมสมรรถนะสูง ที่มีคุณสมบัติโดดเด่นเทียบเท่าไม้เนื้อแข็งจากธรรมชาติ ทั้งในด้านความสวยงาม ความแข็งแรงทนทานต่อความชื้นดีเยี่ยม ป้องกันการเจาะทำลายของปลวกและมอดกินไม้ คุ้มค่าทั้งราคาและประโยชน์จากการใช้งานอย่างยิ่ง นอกจากนี้ยังเป็นการช่วยชะลอการทำลายระบบนิเวศประเภทป่าไม้ได้อีกทางหนึ่ง ทั้งยังช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับเศษวัสดุเหลือใช้จากอุตสาหกรรมการเกษตรได้อีกทางหนึ่งด้วย" วีรศักดิ์ กล่าวสรุป
ด้าน ศ.ดร.ประสาท สืบค้า อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยี สุรนารี กล่าวถึงความร่วมมือในการมอบสิทธิบัตร "ไม้เชิงวิศวกรรมสมรรถนะสูง" ให้กับแบรนด์ "เลควูด" ในครั้งนี้ว่า ในนามของมหาวิทยาลัยมีความยินดีอย่างยิ่ง ที่เกิดความร่วมมือกันระหว่างมหาวิทยาลัยและภาคเอกชนในการนำทรัพย์สินทางปัญญาไปต่อยอดในธุรกิจ โดยทรัพย์สินทางปัญญาเรื่องไม้เชิงวิศวกรรมสมรรถนะสูงนี้เป็นผลงานวิจัยของ ผศ.ดร.อุทัย มีคำ ซึ่งได้ยื่นคำขอรับสิทธิบัตรไว้กับกรมทรัพย์สินทางปัญญา จำนวน 5 ฉบับ การอนุญาตให้ใช้สิทธิในครั้งนี้จึงเป็นส่วนสำคัญในการสนับสนุนให้เกิดการนำผลงานวิจัยของมหาวิทยาลัยฯ ไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์อย่างแท้จริง