- Details
- Category: อสังหาริมทรัพย์ฯ
- Published: Tuesday, 18 November 2014 22:52
- Hits: 2442
'สิงห์'ทุ่มแสนล้านลุยอสังหา คลังห่วง'ก่อสร้าง'ยังเปราะบาง
ไทยโพสต์ : ราชดำริ *สิงห์ เรียลเอสเตท กางแผน 5 ปี ทุ่มงบ 100,000 ล้านบาท พัฒนาอสังหาฯ แบบครบวงจร มั่นใจดันยอดขายโต 50% คลังห่วงอสังหาริมทรัพย์ระยะสั้นยังเปราะบาง หลังลงทุนเอกชนยังชะลอตัว
นายนริศ เชยกลิ่น ประธาน เจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.สิงห์ เอสเตท หรือ S เปิดเผยว่า บริษัทมีแผนการลงทุนภายใน 5 ปีนับจาก นี้ หรือปี 2558-2562 เพื่อประ กอบธุรกิจให้ครอบคลุมอสังหาริม ทรัพย์ทุกประเภท ทั้งที่พักอาศัยแนวราบและแนวสูง รวมไปถึงอาคารพาณิชย์ อาคารสำนักงานให้เช่า ธุรกิจโรงแรม คลังสินค้า ด้วยงบลงทุนกว่า 100,000 ล้านบาท ทั้งนี้ บริษัทตั้งเป้ามียอดขายเพิ่มขึ้น 50% และมีรายได้มากกว่า 20,000 ล้านบาทใน 5 ปีข้างหน้าอีกด้วย
"ผมทำงานที่ซีพีเอ็นมา 16 ปีครึ่ง และย้ายมาทำงานที่สิงห์กว่า 9 เดือนแล้ว หวังว่าจะมาทำให้สิงห์ยิ่งใหญ่ไม่แพ้ที่บริษัทเดิม โดยกลยุทธ์ในการทำ งานคือการนำจุดแข็งของกลุ่มบุญรอดฯ มาใช้ ตั้งแต่เงินทุนที่แข็งแกร่ง พันธมิตรที่หลากหลาย โดยเฉพาะจากตัวแทนจำหน่าย (เอเยนต์) ของสิงห์ทั่วประเทศกว่า 200 ราย ที่มีที่ดินเพื่อร่วมทุนนำมาพัฒนาโครงการต่างๆ ซึ่งจะทำให้บริษัทเติบโตได้อย่างรวดเร็ว แม้ว่าปีนี้จะยังขาดทุนอยู่ 100 ล้านบาท แต่มั่นใจว่าตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไป บริษัทจะมีรายได้แน่ หรือปีหน้ามีกำไร 2,000 ล้านบาท"
ทั้งนี้ บริษัทวางเป้าหมายระยะยาวและเข้าซื้อกิจการ ควบรวมกิจการ และร่วมทุนกับพันธ มิตร ซึ่งแหล่งเงินทุนจะมาจากการกู้สถาบันการเงิน ซึ่งขณะนี้มี 2 ธนาคารใหญ่ได้อนุมัติวงเงินกู้เบื้องต้นรวม 1 หมื่นล้านบาท รวมทั้งจะมาจากการเพิ่มทุน และการขายสินทรัพย์ที่เป็นโรงแรมเข้ากองทรัสต์พื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REIT) ขนาดกว่า 10,000 ล้านบาท
ล่าสุดได้เปิดโครงการสิงห์ คอมเพล็กซ์ พื้นที่ 11 ไร่ ที่แยกอโศก-เพชรบุรี ซึ่งเป็นอาคารมิกซ์ยูส ทั้งอาคารสำนักงาน คอนเวนชั่นฮอลล์ โรงแรม และค้าปลีก มูลค่าการลงทุนกว่า 10,000 ล้าน บาท คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างกลาง ปีหน้า ขณะนี้อยู่ระหว่างการออก แบบและยื่นขออนุมัติรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และคาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือน ธ.ค.2560 เริ่มรับรู้รายได้ในปี 2561
รายงานข่าวจากสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ระบุว่า ขณะนี้ภาคอสังหาริมทรัพย์ในระยะสั้นยังคงมีความเปราะบาง โดยข้อมูลสะท้อนจากพื้นที่ที่ได้รับอนุญาตในการก่อสร้างรวม ช่วง 9 เดือนของปีนี้ ยังคงหดตัวที่ 1.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่ยอดขายปูนซีเมนต์ ยังคงหดตัวลึก 5.6% และยอดขายเหล็ก หดตัวที่ 13.2% แต่เชื่อว่าภายหลังจากมาตรการการ ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมของภาครัฐซึ่งจะมีความชัดเจนและเริ่มดำเนินการในปี 2558 ซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ภาคอสังหาริมทรัพย์ขยายตัวได้ในปีหน้า.