- Details
- Category: อสังหาริมทรัพย์ฯ
- Published: Monday, 01 November 2021 23:51
- Hits: 10127
BIM กับ ก้าวใหม่ของอสังหาฯ ใน 4 มิติยุค COVID-19
“ลุมพินี วิสดอม” ระบุ การพัฒนา BIM ผนวกกับเทคโนโลยีดิจิทัล และ AI เป็นกระบวนการที่นำมาใช้ในการพัฒนาธุรกิจอสังหาฯ ใน 4 มิติทั้งด้านสุขอนามัย-วิเคราะห์และออกแบบ-การบริหารจัดการพื้นที่ก่อสร้าง-ลดปริมาณขยะ
นายประพันธ์ศักดิ์ รักษ์ไชยวรรณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลุมพินี วิสดอม แอนด์ โซลูชั่น จำกัด (LPN Wisdom หรือ LWS) บริษัทวิจัยและที่ปรึกษาในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในเครือบริษัท แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) (LPN) กล่าวว่า ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโคโรน่า ไวรัสสายพันธ์ใหม่ 2019 (COVID-19) ทำให้ภาคธุรกิจต่างๆ รวมทั้งภาคอสังหาริมทรัพย์ ต้องปรับตัวเพื่อตอบโจทย์กับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งงานออกแบบที่ต้องตอบสนองต่อวิถีชีวิต (Lifestyle) ที่เปลี่ยนแปลงไปตามความต้องการพื้นที่ที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งการให้ความสำคัญในเรื่องสุขอนามัย และสิ่งแวดล้อม จึงมีความจำเป็นต้องนำกระบวนการพัฒนางานออกแบบและก่อสร้างด้วย BIM (Building Information Modeling) มาสนับสนุนงานออกแบบและก่อสร้าง
“เป็นที่รู้กันว่า BIM เป็นกระบวนการทำงาน (Process) ที่มีส่วนช่วยในงานออกแบบและก่อสร้างของภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ในเรื่องของระยะเวลาการทำงานที่ลดลง (Time) การบริหารต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ (Cost) และการพัฒนาคุณภาพของงานออกแบบ (Quality) นอกจากทั้ง 3 มิตินี้แล้ว ปัจจุบัน BIM ยังมีการพัฒนากระบวนการทำงานที่ตอบโจทย์กับการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในอีก 4 มิติ นั่นคือเรื่อง ความปลอดภัยและสุขอนามัย งานวิเคราะห์และออกแบบ การบริหารจัดการพื้นที่ก่อสร้าง และ ลดปริมาณขยะจากกระบวนการทำงาน ที่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับเรื่องของสุขอนามัยและสิ่งแวดล้อม” นายประพันธ์ศักดิ์ กล่าว
ด้านสภาพแวดล้อมของความปลอดภัยและสุขภาพ (Safety & Healthy Environment):
ปัจจุบันการออกแบบสามารถนำเทคโนโลยีร่วมกับการทำงานบนระบบ BIM เข้ามาปรับใช้กับกระบวน การทำงาน ทั้งในพื้นที่ก่อสร้าง (On-Site) และในสำนักงาน (Office) เพื่อลดความเสี่ยงจากอุบัติเหตุในการทำงานและผลกระทบทางด้านสุขภาพ รวมถึงจำกัดการแพร่กระจายเชื้อที่อาจจะเกิดขึ้นในระหว่างขั้นตอนการทำงาน
นายประพันธ์ศักดิ์ กล่าวว่า ในพื้นที่ก่อสร้าง (On-Site) สามารถปรับการทำงานเป็นรูปแบบกึ่งอัตโนมัติ (Semi-Automated) เพราะยังต้องมีคนงานทำงานที่พื้นที่ก่อสร้างอยู่ แต่สามารถนำเทคโนโลยีเข้ามา ช่วยในการตรวจสอบความปลอดภัยได้ เช่น เทคโนโลยี Sensor ตรวจจับอุณหภูมิ ค่าสุขภาพร่างกายและตรวจจับการเคลื่อนไหวของคนงานที่อยู่ใกล้พื้นที่เสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุ เพื่อความปลอดภัยในการทำงานและคัดกรองคนที่มีความเสี่ยงในพื้นที่การทำงานได้ ในขณะเดียวกันหัวหน้างานสามารถที่จะตรวจสอบการทำงานได้แบบ Real-Time Monitoring และแจ้งเตือนคนงานได้ทันที อีกทั้งยังสามารถตรวจสอบปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างการก่อสร้างได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยเทคโนโลยี VR ที่เป็นตัวช่วยสนับสนุนการทำงานของ สถาปนิก วิศวกรหรือผู้เชี่ยวชาญ ให้สามารถประเมินปัญหาและหาแนวทางการแก้ไขได้อย่างรวดเร็ว โดยไม่จำเป็นต้องลงพื้นที่จริง ช่วยลดความหนาแน่นในพื้นที่ก่อสร้างและช่วยประหยัดทั้งทรัพยากรเวลาและเงิน
ในขณะเดียวกันในส่วนของสำนักงาน (Office) สามารถปรับการทำงานเป็นรูปแบบอัตโนมัติ (Automated) ด้วยการทำงานบนระบบ BIM ซึ่งเป็นระบบแบบรวมศูนย์ข้อมูล (Data Centric) ที่ช่วยลดความผิดพลาดของข้อมูลและลดความซ้ำซ้อนของการทำงานลง โดยทำงานร่วมกันผ่าน Cloud Platform ที่สามารถทำงาน ประสานงานและแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างฝ่ายงานได้อย่างสะดวกรวดเร็ว สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและรองรับกับแนวคิดการทำงานในรูปแบบใหม่ เช่น Work from Home หรือ Remote Working
ลดปริมาณขณะ ที่เกิดขึ้นจากงานเอกสาร:
นายประพันธ์ศักดิ์ กล่าวว่า ปัจจุบันเรื่องของการพัฒนาอย่างยั่งยืนโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม (Environment Sustainable Development) เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการในทุกอุตสาหกรรม รวมทั้งธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ให้ความสำคัญ ถึงแม้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จะเป็นธุรกิจที่สร้างผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมทั้งเรื่องของฝุ่นและเสียงในพื้นที่ก่อสร้าง แต่การนำระบบการบริหารจัดการโครงการโดยใช้ระบบ BIM จะสามารถช่วยบริหารจัดการการใช้ทรัพยากรในพื้นที่ก่อสร้าง ทั้งการบริหารจัดการเอกสารให้มีจำนวนการใช้กระดาษลดลง ทั้งการจัดทำเอกสารและแบบก่อสร้าง
“BIM มีรูปแบบเป็น Digital File ทดแทนรูปแบบกระดาษในแบบดั้งเดิม เพื่อสะดวกต่อการติดตามเอกสาร และประหยัดการใช้ทรัพยากรกระดาษ ปัจจุบันหลายๆ ประเทศเริ่มมีกฎและข้อบังคับออกมาเพื่อให้ผู้ออกแบบ และผู้ก่อสร้างโครงการปฏิบัติตาม เช่น สิงคโปร์ มีการกำหนดการส่งแบบขออนุญาตทั้งหมด เป็น Digital File นอกจากจะช่วยการลดการใช้กระดาษที่ไม่จำเป็นซึ่งเป็นผลพลอยได้ทางอ้อมแล้ว ผู้ตรวจสอบแบบยังได้รับประโยชน์ทางตรงจากการใช้งาน BIM ในมิติต่างๆ ทำให้การตรวจสอบข้อมูลมีความถูกต้องและลดความผิดพลาด ในการทำงาน” นายประพันธ์ศักดิ์ กล่าว
วิเคราะห์และพัฒนาแบบด้วย AI : Artificial Intelligence:
ปัจจุบัน BIM ได้มีการนำ AI (Artificial Intelligence หรือ ปัญญาประดิษฐ์) เข้ามายกระดับและเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานเช่นเดียวกับอุตสาหกรรมอื่นๆ โดยการนำ AI เข้ามาใช้ในการรวบรวม เรียนรู้ คิดวิเคราะห์ พร้อมกับจัดการหาวิธีแก้ปัญหา ในการออกแบบ ยิ่งมีข้อมูลมาก ก็จะสามารถนำมาใช้ในการประมวลผลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งกุญแจสำคัญในการบริหารจัดการทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดย AI เข้ามามีส่วนช่วยปรับปรุงกระบวนการทำงาน ลดต้นทุน ลดเวลาและความเสี่ยง ซึ่งเป็นปัจจัยในการปรับปรุงคุณภาพของโครงการ เช่น การใช้ Generative Design หรือ AI ช่วยออกแบบ ด้วยหลักอัลกอริทึม (Algorithm) ในการออกแบบโครงการที่มี Design Criteria จำนวนมาก เนื่องจาก AI สามารถเรียนรู้และวิเคราะห์ข้อมูลจำนวนมากได้ในระยะเวลาอันสั้น ทำให้ผู้ออกแบบสามารถระบุความต้องการ ข้อกำหนดของอาคาร กฎหมาย ทิศทางของแสงอาทิตย์ รวมถึงพื้นที่ใช้สอยต่างๆ โดยการนำข้อมูลต่างๆ เข้าสู่ระบบ จากนั้น AI จะช่วยออกแบบอาคารตามข้อกำหนดที่ระบุไว้เป็น Design Option ได้หลากหลาย พร้อมกับวิเคราะห์ข้อดี ข้อเสีย ประสิทธิภาพของทางเลือกเหล่านั้น ทำให้ผู้ออกแบบเลือกทางเลือกที่เหมาะสมที่สุดนำไปพัฒนาต่อไป หรือ การใช้ Generative Design ในงานออกแบบทางวิศวกรรม เพื่อลดปริมาณวัสดุหรือน้ำหนักลง แต่ยังสามารถรับน้ำหนักและปลอดภัยได้ตามเดิมอยู่
การบริหารจัดการพื้นที่ก่อสร้าง
ปัจจุบันการก่อสร้างในยุค COVID-19 มีข้อจำกัดเมื่อเทียบกับสถานการณ์ปกติ มีความจำเป็นต้องลดปริมาณคนเข้าทำงานลงเพื่อลดความแออัดตามมาตรการป้องกันโรค อีกทั้งการเข้าทำงานหน้างานมีการจำกัดเวลา แบ่งพื้นที่การเข้าถึง ทำให้การเก็บข้อมูลและส่งต่อข้อมูลระหว่างกันเกิดความคลาดเคลื่อนสูง การนำเทคโนโลยี เช่น การใช้โดรนในการเก็บภาพถ่ายงานก่อสร้าง ผสานกับการใช้ BIM Model เพื่อติดตามความก้าวหน้าของการก่อสร้างจึงช่วยลดปัญหาการบริหารจัดการงานก่อสร้าง โดยระบบสามารถนำข้อมูลภาพจากโดรนและ BIM Model ไปเปรียบเทียบกับแผนการก่อสร้าง ใช้ Software ด้านการบริหารจัดการ (Management) ช่วยประเมินความเสี่ยงในการก่อสร้างต่อไป
นอกจากนี้ข้อมูลทั้งหมดสามารถเก็บอยู่บน Cloud ตอบโจทย์ในด้านการจัดเก็บข้อมูลไม่ให้สูญหาย มีข้อมูลถูกต้องครบถ้วนและสามารถอัพเดทข้อมูลแบบ Real Time เพื่อตรวจสอบความก้าวหน้าของงานได้ตลอดเวลา และสามารถบริหารจัดการพื้นที่ก่อสร้างได้มากกว่า 1 พื้นที่ก่อสร้าง จากการศึกษาพบว่าวิธีเก็บข้อมูลหน้างานด้วยโดรน สามารถช่วยลดเวลาการเดินตรวจงานในพื้นที่ก่อสร้างได้ถึง 400 เท่าของเวลาทำงาน และช่วยลดต้นทุนการจัดเก็บข้อมูลเดิมได้ถึง 40%
“จากกระบวนการทำงานของ BIM ผนวกกับเทคโนโลยีในปัจจุบัน ทำให้ผู้ประกอบการอสังหาฯ สามารถพัฒนางานออกแบบและงานก่อสร้างได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในขณะเดียวกันทำให้ผู้ซื้อที่อยู่อาศัยได้ที่อยู่อาศัยที่มีคุณภาพตอบโจทย์กับความต้องการ” นายประพันธ์ศักดิ์ กล่าว
A11033
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ