- Details
- Category: อสังหาริมทรัพย์ฯ
- Published: Wednesday, 29 October 2014 21:44
- Hits: 5294
ชง 7 ข้อแก้ขอใบก่อสร้างอืด
บ้านเมือง : นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย (วสท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ประชาชนและผู้ประกอบการทนไม่ไหวและรับไม่ได้กับการออกใบอนุญาตก่อสร้างของหน่วยงานราชการที่ล่าช้า ซึ่งแต่ละปีงานก่อสร้างภาคราชการมีมูลค่าสูงถึงประมาณปีละ 600,000 ล้านบาท ยังไม่นับรวมการก่อสร้างภาคเอกชนอีกมากที่ต้องล่าช้า
ดังนั้น 8 องค์กรที่เกี่ยวข้อง อาทิ วสท. สมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรรและสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย เป็นต้น เตรียมเสนอ 7 ข้อแก้ไขปัญการออกใบอนุญาตก่อสร้างต่อนายกรัฐมนตรีเดือนพฤศจิกายนนี้ และยินดีรับข้อเสนอแนะอื่นๆ เพิ่มจากภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย
สำหรับ 7 ข้อเสนอมีดังนี้ 1.กำหนดระยะเวลาการออกใบอนุญาตก่อสร้าง และใบอนุญาตถมดิน ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องระบุการใช้เวลา จำนวนวันการอนุมัติให้ชัดเจน ตามประเภทของอาคารและโรงงานอุตสาหกรรม หากพ้นกำหนดตามระยะเวลาให้แจ้งสาเหตุความล่าช้า สำหรับหน่วยงานอนุญาต ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร (กทม.) องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เทศบาล กระทรวงอุตสาหกรรม ผู้ว่าราชการจังหวัด
2.กำหนดค่าธรรมเนียมการออกใบอนุญาตก่อสร้าง แบ่งตามชนิดและประเภทของอาคาร ประเภทของโรงงานและใบอนุญาตถมดิน โดยให้ใช้เป็นมาตรฐานแก่หน่วยงานของรัฐในส่วนความรับผิดชอบทั่วประเทศ และห้ามไม่ให้มีค่าใช้จ่ายใดๆ อีก 3.ยกเลิกมาตรา 39 ทวิ ในการให้วุฒิวิศวกรหรือวุฒิสถาปนิกเซ็นรับรองการขอใบอนุญาตก่อสร้างในการออกแบบและคุมงานก่อสร้าง เพื่อจะได้มาซึ่งหน่วยงานราชการอนุมัติใบอนุญาตก่อสร้างในโครงการนั้น 4.ให้สภาวิศวกรและสภาสถาปนิก ห้ามไม่ให้ข้าราชการ วิศวกรและสถาปนิก ที่ทำงานในเขต กทม. อบจ. อบต.เทศบาล ออกแบบ คุมงานโครงการก่อสร้างในพื้นที่ที่เขตการปกครองของตนทำงานอยู่ เพื่อปกป้องวิชาชีพวิศวกรและสถาปนิก
5.เจ้าหน้าที่รัฐของ กทม. อบจ. อบต. เทศบาล ทำหน้าที่ทุกระดับชั้นในการออกใบอนุญาตก่อสร้าง ต้องแสดงบัญชีทรัพย์สินทุกปีแก่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อแสดงความมีคุณธรรม 6.กรณีหน่วยของรัฐขอใบอนุญาตก่อสร้างจากหน่วยงานรัฐ กทม. อบจ. อบต. เทศบาล ให้หน่วยงานของรัฐขอโดยตรง โดยไม่ต้องรอผู้รับเหมาก่อสร้างเป็นผู้ขอใบอนุญาตก่อสร้างแทน และ 7.ปรับปรุงแก้ไขกฎกระทรวงและ พ.ร.บ.ควบคุมอาคารที่ล้าสมัย