- Details
- Category: อสังหาริมทรัพย์ฯ
- Published: Wednesday, 29 October 2014 13:07
- Hits: 2763
ตลาดนิคมอุตสาหกรรมคาดสดใสปลายปี รัฐหนุนพัฒนาเขตอุตสาหกรรมเพิ่ม
อุปทานพื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรมสะสม ณ ครึ่งแรกปีพ.ศ.2557
ที่มา: การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และฝ่ายวิจัย คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย
หมายเหตุ:
1. อุปทานในกราฟข้างบนครอบคลุมนิคมอุตสาหกรรม และสวนอุตสาหกรรมทั้งหมดที่พัฒนา และดำเนินการโดยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) พัฒนา และดำเนินการร่วมระหว่าง กนอ. กับบริษัทเอกชน รวมทั้งนิคมอุตสาหกรรมที่พัฒนา และดำเนินการโดยบริษัทเอกชน
2. เนื้อที่ในกราฟข้างบนเป็นเนื้อที่ทั้งหมดในนิคมอุตสาหกรรม แม้ว่านิคมอุตสาหกรรมส่วนใหญ่จะทยอยพัฒนาเป็นเฟส
พื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรมประมาณ 8,000 ไร่ที่เข้าสู่ตลาดในช่วงครึ่งแรกปีพ.ศ.2557 ซึ่งมีผลให้อุปทานที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมสะสม ณ ครึ่งแรกปีพ.ศ.2557 อยู่ที่ประมาณ 152,460 ไร่ ผู้ประกอบการนิคมอุตสาหกรรมหลายรายเลื่อนการเปิดขายที่ดินเฟสใหม่ออกไป เนื่องจากปัญหาการเมืองในไตรมาสที่ 4 ปีพ.ศ.2556 และครึ่งแรกปีพ.ศ.2557 แต่ว่าหลังจากที่ทางคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ายึดอำนาจในเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2557 และออกนโยบายหลายอย่างเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และฟื้นความเชื่อมั่น แต่ว่านักลงทุนต่างชาติหลายรายยังคงกังวลต่อสถาณการณ์ในประเทศไทย และมีผลกระทบโดยตรงต่อตลาดนิคมอุตสาหกรรมในครึ่งแรกปีพ.ศ.2557
ภาคตะวันออกมีสัดส่วนมากที่สุดในตลาดนิคมอุตสาหกรรมในประเทศไทยโดยอยู่ที่ประมาณ 70% ตามมาด้วยภาคกลางที่ประมาณ 25% โดยที่เกือบ 100% ของพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมในประเทศไทยอยู่ในภาคตะวันออกและภาคกลาง ในขณะที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีสัดส่วนน้อยที่สุด นิคมอุตสาหกรรมหลายแห่งอยู่ในภาคตะวันออก โดยเฉพาะในจังหวัดชลบุรี และระยอง เนื่องจากมีท่าเรือน้ำลึก 2 แห่งของประเทศไทยตั้งอยู่ที่นั่น
พื้นที่นิคมอุตสาหกรรมประมาณ 18,500 ไร่ที่อยู่ระหว่างการพัฒนาและมีกำหนดแล้วเสร็จพร้อมดำเนินการในครึ่งหลังปีพ.ศ.2557 ในขณะที่มีพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมประมาณ 96,450 ไร่จะเข้าสู่ตลาดในอนาคต โดยภาคใต้มีพื้นที่มากที่สุดคือประมาณ 39% หรือ 37,800 ไร่ ของจำนวนอุปทานในอนาคตทั้งหมด ตามมาด้วยภาคตะวันออกที่ประมาณ 36% ในขณะที่ทำเลอื่นๆ ยังคงต่ำกว่าภาคตะวันออก และภาคใต้อย่างเห็นได้ชัด
อัตราการครอบครองพื้นที่เฉลี่ยของทุกนิคมอุตสาหกรรมในประเทศไทย ณ ครึ่งแรกปีพ.ศ.2557 อยู่ที่ประมาณ 88% เพิ่มขึ้นประมาณ 3% จากปีที่ผ่านมา เนื่องจากปัญหาการเมืองมีผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนชาวไทย และต่างชาติ หลังจากที่คสช. เข้ายึดอำนาจและจัดการปัญหาการเมืองที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมจึงเริ่มมีการขายได้มากขึ้น อัตราการครอบครองพื้นที่ในภาคกลาง และภาคตะวันออกอยู่ที่ประมาณ 89% สูงกว่าทำเลอื่นๆ แม้ว่าทั้ง 2 ทำเลดังกล่าวจะมีสัดส่วนมากที่สุดในตลาดนิคมอุตสาหกรรมในประเทศไทย นิคมอุตสาหกรรมใหม่ๆ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาส่วนใหญ่ตั้งอยู่ใน 2 ทำเลนี้ โดยเฉพาะในจังหวัดชลบุรี และระยอง โดยราคาขายเฉลี่ยของที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมในช่วงครึ่งแรกปีพ.ศ.2557 ยังคงใกล้เคียงกับช่วงครึ่งหลังปีพ.ศ.2556 ผู้ประกอบการส่วนใหญ่พยายามที่จะดึงดูดนักลงทุนในช่วงที่มีปัญหาการเมืองโดยการคงราคาขายเท่ากับปลายปีที่ผ่านมาหรือปรับเพิ่มเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
ในส่วนของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศที่ผ่านการอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนมีมูลค่ารวม ณ สิ้นเดือนมิถุนายน พ.ศ.2557 อยู่ที่ประมาณ 185,000 ล้านบาท ลดลงประมาณ 59% จากช่วงเดียวกันของปีพ.ศ.2556 เนื่องจากปัญหาการเมืองที่ไม่มีเสถียรภาพในประเทศไทยมีผลลบต่อบรรยากาศการลงทุน เพราะนักลงทุนชาวต่างชาติชะลอการตัดสินใจที่จะลงทุนในประเทศไทย หรือเลือกที่จะไปลงทุนยังประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค นอกจากนี้นักธุรกิจต่างชาติหลายรายยกเลิกคำสั่งซื้อ หรือคำสั่งจ้างผลิตสินค้ากับหลายโรงงานในประเทศไทย เนื่องจากความวิตกกังวลเรื่องปัญหาการเมืองที่อาจจะส่งผลกระทบต่อการผลิต และการขนส่งสินค้า
การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) มีแผนที่จะพัฒนานิคมอุตสาหกรรมใหม่ในจังหวัดชายแดนเพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปีพ.ศ.2558 โดยเฉพาะในจังหวัดกาญจนบุรี และเชียงราย อีกทั้งยังมีแผนที่จะพัฒนานิคมอุตสาหกรรมอีก 8 แห่งในบางจังหวัดตามแนวเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก – ตะวันตก นอกจากนี้การนิคมอุตสาหกรรมยังต้องการพันธมิตรจากภาคเอกชนที่จะเข้ามาร่วมพัฒนานิคมอุตสาหกรรมขนาดเล็กเพื่อรองรับอุตสาหกรรมขนาด SME.
คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) จะปรับเปลี่ยนนโยบายการส่งเสริมการลงทุนเป็นรูปแบบใหม่ในปีพ.ศ.2558 เพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย ซึ่งทุกประเทศในภูมิภาคอาเซียนออกมาตรการ และสิทธิประโยชน์ต่างๆ เพื่อดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ นักลงทุนต่างชาติยังคงมีความกังวลต่อเรื่องการแบ่งเขตการลงทุนตามนโยบายส่งเสริมการลงทุนรูปแบบใหม่นี้ เพราะว่าบางพื้นที่ในประเทศไทยยังคงขาดความพร้อมในเรื่องของระบบสาธารณูปโภคเพื่อรองรับอุตสาหกรรม ดังนั้นรัฐบาลควรพัฒนาปรับปรุงระบบสาธารณูปโภคต่างๆ เพื่อรองรับการลงทุน
คสช. มีแผนจะพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทั่วประเทศไทย โดยเฉพาะจังหวัดตามแนวชายแดนที่เชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้านโดยสะพานมิตรภาพ โดยเขตเศรษฐกิจพิเศษทุกแห่งจะประกอบไปด้วยพื้นที่พาณิชยกรรม ที่อยู่อาศัย และอุตสาหกรรม ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อตลาดนิคมอุตสาหกรรมในประเทศไทยในปีพ.ศ.2558 และในอนาคต
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม : พัทธ์ธีรา สุกใส (แตงโม) โทร 080 562 4719 E-Mail: [email protected]
ที่ปรึกษาประชาสัมพันธ์คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จำกัด