- Details
- Category: อสังหาริมทรัพย์ฯ
- Published: Tuesday, 30 September 2014 23:14
- Hits: 4245
THCA อ้อนรัฐ ทบทวนขึ้นแวตแนะจัดแถวผู้ประกอบการรับสร้างบ้านขี้ฉ้อ
บ้านเมือง : ไทยรับสร้างบ้านอ้อนรัฐทบทวนปรับภาษีมูลค่าเพิ่ม 10% ระบุ ผู้บริโภครับกรรมเต็มๆ สร้างบ้านแพงขึ้น แนะ เร่งจัดแถว ดึงผู้ประกอบการขี้โกงเข้าระบบภาษี ไม่เช่นนั้นผู้ประกอบการน้ำดีตายแน่ ขณะที่ช่วงต้นปีหน้าเตรียมจัดงานใหญ่กระตุ้นยอดขายบ้าน
นายสิทธิพร สุวรรณสุต นายกสมาคมไทยรับสร้างบ้าน (THCA) เปิดเผยถึงกรณีที่ กรมสรรพากร จะเตรียมปรับอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มในปัจจุบันยังคงที่ 7% ไปจนถึงวันที่ 30 กันยายน 2558 หรือเป็นการขยายระยะเวลาออกไปอีก 1 ปี (จากเพดานแวตที่ 10%) หลังจากนั้นหากไม่มีการต่อขยายระยะเวลาอีก อัตราภาษีมูลค่าเพิ่มจะปรับขึ้นเป็น 10% นับแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2558 ทันที ส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าวนี้
ทั้งนี้ หากมีการปรับภาษีดังกล่าวขึ้น จะส่งผลโดยตรงต่อผู้บริโภคที่ต้องแบกรับภาษีมากขึ้น นั่นหมายถึงราคาบ้านจะแพงขึ้น ซึ่งถือว่า เป็นการสวนทางเศรษฐกิจที่ยังคงไม่ฟื้นตัวมากนัก
ขณะเดียวกัน ต้องยอมรับว่ากรมสรรพากรยังไม่สามารถจัดระบบให้ ผู้ประกอบการเข้ามาสู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่มได้อย่างถูกต้อง โดยเฉพาะปัจจุบันนี้ ในส่วนธุรกิจรับสร้างบ้านยังมีจำนวนมากที่หลีกเลี่ยงการจ่ายภาษี ดังนั้น หากภาครัฐไม่สามารถดำเนินการกับผู้ประกอบการเหล่านี้ ย่อมส่งผลให้เกิดผลกระทบต่อความเลื่อมล้ำในด้านการแข่งขันธุรกิจ จะเกิดความไม่เป็นธรรมต่อ ผู้ประกอบการที่เขาทำถูกต้องตามกฎหมาย
"ผมพูดในส่วนของธุรกิจรับสร้างบ้านและธุรกิจเอสเอ็มอี ต้องยอมรับว่า ส่วนใหญ่ยังทำธุรกิจใต้ดิน ก็คือยังมีการหลีกเลี่ยงจ่ายภาษีให้กับภาครัฐเป็นจำนวนมาก ซึ่งในแง่ของผู้บริโภคถ้าหากคิดจะสร้างบ้านหากเลือกผู้ประกอบการที่อยู่ในระบบของภาษี ก็จะทำให้ผู้บริโภคต้องจ่ายค่าบ้านที่แพงขึ้นแน่นอน" นายสิทธิพร กล่าว
นายสิทธิพร ยังกล่าวต่อว่า จากปัญหาที่ภาครัฐเตรียมจะปรับภาษีนั้นไปอยู่ 10% ย่อมส่งผลโดยตรงและยังถือว่าเป็นการบั่นทอนให้ผู้ประกอบการที่เข้าสู่ในระบบ อาจจะคิดออกจากระบบภาษีในเวลาอันใกล้นี้ ก็จะทำให้ภาครัฐอาจต้องสูญเสียรายได้ตรงนี้เพิ่มขึ้น
ดังนั้น ตนอยากฝากไปยังกรมสรรพากร หากว่าหน่วยงานรัฐสามารถตรวจสอบและมีการจัดระเบียบให้ผู้ประกอบการเหล่านี้เข้ามาในระบบได้ ก็จะทำให้ภาครัฐมีเม็ดเงินเข้ามาจำนวนมาก เพราะในแต่ละปีต้องยอมรับ มีธุรกิจ เอสเอ็มอีและธุรกิจรับสร้างบ้านอีกจำนวนมาก ที่ยังเลี่ยงจ่ายภาษีให้กับรัฐ ถือว่าเป็นปัญหาเรื้อรังมานานที่ภาครัฐยังไม่สามารถแก้ไขตรงนี้ได้
อย่างไรก็ตาม ในฐานะที่อยู่ในแวดวงธุรกิจรับสร้างบ้าน จึงอยากฝากให้ทบทวนนโยบายตรงนี้เสียใหม่ ไม่เช่นนั้นผู้ประกอบการน้ำดีจะต้องล้มหายไปจากระบบในการจ่ายภาษีที่ถูกต้องตามกฎหมายแน่นอน
นายสิทธิพร ยังกล่าวต่อไปว่า ในส่วนของสมาคมไทยรับสร้างบ้าน ซึ่งผ่านมา 4 ปีของการจัดตั้งสมาคมฯ นั้นได้มุ่งเน้นนโยบายการส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบการ ที่เป็นสมาชิกสามารถดำเนินธุรกิจรับสร้างบ้านได้อย่างเข้มแข็ง ถึงแม้ว่าสมาชิกส่วนใหญ่จะเป็นผู้ประกอบการหน้าใหม่ และเกือบทุกรายเป็นผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดย่อม ทั้งนี้ภารกิจหลักๆ ในระยะ 4 ปีแรก สมาคมฯ ได้วางกลยุทธ์การพัฒนาในลักษณะที่เรียกว่า "จากในสู่นอก" ด้วยการสร้างกรอบมาตรฐานคุณภาพและบริการสร้างบ้าน พร้อมๆ กับกระตุ้นให้สมาชิกเห็นถึงความสำคัญที่จะดำเนินธุรกิจให้ก้าวไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งเป็นแนวทางการขับเคลื่อนที่เริ่มต้นจากข้างในองค์กรของสมาชิก ก่อนจะขยายผล ไปสู่ข้างนอก เพื่อให้ภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ภาครัฐ ผู้บริโภค และประชาชนทั่วไปเกิดการยอมรับและเชื่อมั่น
อย่างไรก็ดี ยอมรับว่าผู้ประกอบการที่เป็นสมาชิกนั้น มีความแตกต่างกัน ทั้งขนาดกิจการ เงินทุน และขีดความสามารถในเชิงบริหารธุรกิจ ซึ่งเป็นสิ่งที่สมาคมฯ ตระหนักเป็นอย่างดี ดังนั้นจึงได้วางแนวทางการปฏิบัติด้วยการให้สมาชิกมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน และมีการประเมินศักยภาพของสมาชิกอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นการนำเอากลยุทธ์ที่เรียกว่า "Push-Pull" หรือ "ดัน-ดึง" มาใช้ในการส่งเสริมและสนับสนุนสมาชิก เพื่อจะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยสมาชิกรายใดที่มีความพร้อมและมีมาตรฐานสูง สมาคมฯ ก็จะผลักดัน (Push) ให้ขยายธุรกิจและเติบโตต่อไปได้ เช่น การขยายสาขาเพิ่มเพื่อให้เข้าถึงกำลังซื้อที่มีอยู่ทั่วประเทศ
นายสิทธิพร กล่าวต่อว่า ในช่วงต้นปี 2558 ที่จะถึงนี้สมาคมฯ จะต่อยอดกลยุทธ์จาก "ในสู่นอก" ด้วยการหันมาผลักดันตลาดรับสร้างบ้านและวัสดุก่อสร้างให้ขยายใหญ่ขึ้น โดยสมาคมฯ จะจัดงาน "มหกรรมสร้างบ้านและวัสดุก่อสร้าง 2558" หรือ Thai Home Builder & Material Fair 2015 หรือ THBF'15 ขึ้นในระหว่างวันที่ 28 ม.ค.-1 ก.พ. 58 ภายใต้แนวคิด "สร้างบ้าน สร้างแลนด์มาร์ค" ณ ฮอลล์ 3-4 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี บนพื้นที่จัดงานขนาด 10,000 ตารางเมตร ทั้งนี้เพื่อใช้สำหรับเป็นเวทีกลางให้ผู้ประกอบการรับสร้างบ้านทั่วประเทศ ทั้งที่เป็นสมาชิกและที่มิใช่สมาชิกสมาคมฯ ได้นำเสนอสินค้าและบริการแก่ ผู้บริโภคและประชาชนทั่วไปที่มีความต้องการสร้างบ้านหรือซื้อที่อยู่อาศัยหลังใหม่
นอกจากนี้ สมาคมฯ จะดึงผู้ผลิตและจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง สถาบันการเงิน และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องเข้ามาร่วมมือกัน เพื่อจะสร้างความเข้าใจในสินค้าและบริการได้อย่างถูกต้อง โดยเฉพาะการจะเลือกใช้วัสดุอุปกรณ์ที่ดีมีคุณภาพในการสร้างบ้านเพื่ออนาคต ซึ่งสมาคมฯ ได้รับความร่วมมือและตอบรับจากสถาบันการเงินชั้นนำอย่างธนาคารไทยพาณิชย์ ในการเป็นผู้สนับสนุนการปล่อยสินเชื่อปลูกสร้างบ้าน แก่ผู้ที่สนใจจะกู้ซื้อและสร้างบ้านหลังใหม่ภายในงานนี้แล้ว งานดังกล่าวถือเป็นการขับเคลื่อนตามยุทธศาสตร์ระยะกลางของสมาคมฯ ที่วางไว้ในการที่จะขยายตลาดรับสร้างบ้านให้เติบโตทั่วประเทศ พร้อมกันนี้ สมาคมฯ ได้เตรียมงบประมาณประชาสัมพันธ์เอาไว้กว่า 8 ล้านบาท โดยตั้งเป้ามี ผู้สนใจเข้าร่วมชมงาน 8 หมื่นคนจากทั่วประเทศ