- Details
- Category: อสังหาริมทรัพย์ฯ
- Published: Sunday, 03 March 2019 20:35
- Hits: 2617
'เอสซีจี ซิเมนต์' ต่อยอดเทคโนโลยี 3D Printing ในวงการก่อสร้างด้วยนวัตกรรม '3D Cement Extrusion Printing'พร้อมเชิญกูรูระดับโลกอัพเดตเทรนด์สถาปัตยกรรม
ปัจจุบัน ผู้รับเหมา วิศวกร ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ และสถาปนิกรุ่นใหม่ มีความต้องการชิ้นงานที่หลากหลาย มีเอกลักษณ์ สวยงาม และคงทน จึงเป็นที่มาที่ทำให้ เอสซีจี ซิเมนต์ ได้พัฒนานวัตกรรม 3D Cement Extrusion Printing ขึ้น ซึ่งนับเป็นการก้าวไปอีกขั้นของวงการก่อสร้างที่สามารถสร้างสรรค์ชิ้นงานด้วยการใช้ปูนซีเมนต์พิมพ์ 3 มิติ เพื่อเป็นส่วนประกอบโครงสร้าง ผนัง วัสดุตกแต่งอาคารบ้านเรือน ชิ้นงานเฟอร์นิเจอร์
คุณสยามรัฐ สุทธานุกูล Chief Marketing Officer-Cement and Construction Solution Business ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เอสซีจี เปิดเผยว่า บริษัท เอสซีจี ซิเมนต์ จำกัดร่วมกับคุณเฉลิมวุฒิ สงวนญาติ หัวหน้ากลุ่มงานวิจัย Mortar Technology หน่วยงาน Research and Innovation Center ในธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เอสซีจี ได้พัฒนานวัตกรรม 3D Cement Extrusion Printing ขึ้นเพื่อใช้ผลิตชิ้นงาน 3D Printing ที่ใช้ปูนซีเมนต์เป็นวัสดุหลักที่เรียกว่า 3D Cement Extrusion Printing Mortar นับเป็นนวัตกรรมการขึ้นรูปด้วยปูนซีเมนต์สูตรพิเศษ (Mortar Ink) ที่กลุ่มงานวิจัย Mortar Technology หน่วยงาน Research and Innovation Center ในธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เอสซีจี เป็นผู้พัฒนาสูตรขึ้นมา โดยขึ้นรูปด้วยเทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติ ด้วยระบบคอมพิวเตอร์ มีการควบคุมคุณภาพระหว่างการผลิตที่เที่ยงตรงแม่นยำ ช่วยลดปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่มีฝีมือ และได้ชิ้นงานที่มีคุณภาพควบคู่กับระยะเวลาการผลิตเพียงไม่กี่ชั่วโมงต่อชิ้น อีกทั้งยังสามารถ ต่อยอดสร้างสรรค์เป็นสิ่งก่อสร้างอื่น ๆ ได้มากมาย ตั้งแต่ขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ ไปจนถึงการสร้างบ้านพักอาศัย ที่สามารถใช้ชีวิตอยู่ได้จริง
นอกจากนี้ เอสซีจี ซิเมนต์ ยังได้แลกเปลี่ยนไอเดียกับเอ็นริโค ดินี (Enrico Dini) วิศวกรชาวอิตาลี ผู้เชี่ยวชาญที่มีชื่อเสียงระดับโลกทางด้านเทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติ เพื่อพัฒนาขีดความสามารถของเครื่องพิมพ์กับปูนมอร์ตาร์ให้เป็นโซลูชั่น ที่เรียกว่า 3D Cement Extrusion Printing Solution ที่ขยายตลาดได้ทั้งในวงการออกแบบและก่อสร้าง โดยบริการ 3D Cement Extrusion Printing Solution จะให้คำปรึกษา ออกแบบ พร้อมทั้งติดตั้งชิ้นงานในงานสถาปัตยกรรมและงานก่อสร้าง ซึ่งเอสซีจี ซิเมนต์ นอกจากเป็นผู้ผลิตปูนซีเมนต์สูตรพิเศษสำหรับงาน 3D Printing แล้วยังให้บริการโซลูชั่น 3D Cement Extrusion Printing อย่างครบวงจรเป็นรายแรกในไทย
ในโอกาสที่ได้เปิดตัวนวัตกรรม 3D Cement Extrusion Printing ขึ้น เอสซีจี ซิเมนต์ จึงได้จัดให้มีการเสวนาอัพเดตเทรนด์ของสถาปัตยกรรมของต่างประเทศและในไทยที่มีแนวโน้มใช้ 3D Printing มากขึ้น พร้อมโชว์นวัตกรรม ในหัวข้อ 3D Cement PRINTING for ARCHITECTURE, PAST, Present, Future towards sustainability โดยได้ รับเกียรติจาก มร.เอ็นริโค ดีนี วิศวกรชาวอิตาลี ผู้เชี่ยวชาญที่มีชื่อเสียงระดับโลกทางด้านเทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติ และ คุณกัลยา โกวิทวิสิทธิ์ อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ร่วมก่อตั้งแฟบ คาเฟ่ (Fab Cafe) รวมทั้ง ดร.ลาภยศ ประสิทธิโศภิน นักวิจัยจาก Mortar Technology หน่วยงาน Research and Innovation Center ในธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เอสซีจี มาร่วมถ่ายทอดความรู้ ประสบการณ์ และความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับเทคโนโลยี 3D Printing โดยทั้ง 3 คนได้ให้ข้อมูลในแง่มุมต่าง ๆ ที่น่าสนใจ
งานก่อสร้างเคลื่อนสู่ยุคเทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติ
คุณกัลยา โกวิทวิสิทธิ์ กล่าวว่า เทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติได้เริ่มขึ้นเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว โดยใช้ Additive เป็นวัสดุพื้นฐานสำหรับการขึ้นรูปทรง 3 มิติ จากการเก็บข้อมูลของ 3D HUBs ซึ่งเป็นแหล่งรวมผู้ใช้ 3D Printers ที่ใหญ่ที่สุดในโลก พบว่า ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา เทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติ มีไม่ต่ำกว่า 7 ประเภท โดยแบ่งวัสดุตาม Code Base ในการขึ้นรูป อาทิ โพลิเมอร์ไลต์ อิงค์เจ็ต ผง แก้ว โลหะ ลามิเนต เป็นต้น
สำหรับ การเข้ามาของ 3D Printing เริ่มจากยุคแรก ที่ต่อยอดมาจากการทำ 3D Print โดยวัสดุขึ้นรูป การพิมพ์ 3 มิติที่นิยมมากที่สุดคือ กลุ่มปูนมอร์ต้าร์ กลุ่มซีเมนต์ และพลาสติก ในยุคนี้มีบุคคลสำคัญที่คิดค้นเครื่องเพื่อใช้ผลิต คือ เอ็นริโค ดีนี ผู้เชี่ยวชาญด้านการพิมพ์ 3 มิติ จากดี.เชป (D.Shape) จากนั้นได้มีการนำวัสดุประเภทอื่นๆ เช่น แก้ว โลหะ มาใช้ในการขึ้นรูป เมื่อเข้าสู่ยุคที่ 2 เริ่มมีเครื่องพิมพ์ 3 มิติ เพื่อสร้างบ้านหลังเล็ก ๆ และยุคที่ 3 เริ่มมีบริษัทอสังหาริมทรัพย์นำเครื่องมือไปใช้ในเชิงพาณิชย์ เช่น กลุ่มบริษัท วินตัน ประเทศจีน หรือกลุ่มบริษัทที่ผลิตชิ้นงานในลักษณะสั่งผลิตแบบ Custom Made ในประเทศยุโรป เป็นต้น
ขณะนี้ ในประเทศไทย มีการใช้เครื่อง 3D Printing ที่มีขนาดใหญ่ที่สุด และสามารถผลิตชิ้นงานได้จริงแล้ว ส่วนในสถาบันการศึกษา เช่น คณะสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็มีสตูดิโอสอนให้นักศึกษา นำเทคโนโลยีนี้มาใช้งานจริง ส่วนในต่างประเทศ 3D Printing เป็นเครื่องมือที่ถูกคิดค้นมาเพื่อหาวิธีก่อสร้างใหม่ๆ ช่วยมนุษย์ในการก่อสร้าง อย่างกลุ่ม MS 3D ซึ่งถือเป็นกลุ่มแนวหน้าในการใช้เครื่องพิมพ์ 3 มิติ ในงานก่อสร้างสะพานเหล็กขนาดใหญ่และใช้งานจริงในประเทศสเปน
สำหรับ เทคโนโลยี 4D Printing คาดว่าจะเข้ามามีบทบาทใน 3-4 ปีข้างหน้า จากการนำร่องของกลุ่ม Self-Assembly Labs โดยมีแนวคิดการทำงานขึ้นรูปด้วยวัสดุที่สามารถนำมาประกอบได้ด้วยตัวเองจากวัสดุหรือสิ่งกระตุ้น เช่น การใช้ของเหลวบางประเภทที่สามารถพัฒนาเป็นเซอร์กิตบอร์ด ไปจนถึงการประยุกต์การทำงาน 4D Printing ร่วมกับหลักสูตรการเรียนการสอน การพับกระดาษโอริกามิของญี่ปุ่นที่ต่อยอดมาใช้หลักการขึ้นรูปด้วยเครื่องพิมพ์ 4 มิติ โดยมีตัวอย่างชิ้นงานในปัจจุบัน อาทิ การพัฒนาแผงวงจรไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่มีความบาง หรือการพัฒนาน้ำหมึกนำกระแสไฟฟ้า (The Octobot) เพื่อนำไปใช้ในการเขียนแผงวงจรไฟฟ้า เป็นต้น
Click Donate Support Web