- Details
- Category: อสังหาริมทรัพย์ฯ
- Published: Friday, 25 January 2019 17:02
- Hits: 5439
กรุงเทพฯ ติดกลุ่ม 20 เมืองที่มีพลวัตสูงสุดในโลก การเติบโตของเมืองและภาคอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงการลงทุนของภาครัฐฯ เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญคาดความไม่แน่นอนทางการเมืองก่อนการเลือกตั้งไม่กระทบ
รายงาน City Momentum Index (ดัชนีพลวัตของเมือง) ฉบับประจำปี 2562 โดยบริษัทที่ปรึกษาและบริการด้านอสังหาริมทรัพย์ เจแอลแอล เปิดเผยว่า กรุงเทพฯ ติดอันดับหนึ่งใน 20 เมืองที่มีดัชนีพลวัตสูงสุดในโลก โดยอยู่ในอันดับที่ 18 นำหน้าเมืองเสิ่นเจิ้นและเฉิงตูของจีน ซึ่งอยู่ในอันดับที่ 19 และ 20 ตามลำดับ
รายงานฉบับดังกล่าวของเจแอลแอล ประเมินพลวัตของ 131 เมืองที่มีความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงสูงในด้านธุรกิจ-การพาณิชย์ จากทุกภูมิภาคของโลก โดยติดตามตรวจสอบดัชนีบ่งชี้ต่างๆ ด้านสังคมเศรษฐกิจและอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ในช่วง 3 ปี เพื่อจัดอันดับเมืองที่มีการขยายตัวของภาคเศรษฐกิจและภาคอสังหาริมทรัพย์รวดเร็วที่สุด
20 เมืองที่มีพลวัตสูงสุดในโลก
1. เบงกาลูรู (อินเดีย)
2. ไฮเดอราบัด (อินเดีย)
3. ฮานอย (เวียดนาม)
4. เดลี (อินเดีย)
5. ปูเน่ (อินเดีย)
6. ไนโรบี (เคนย่า)
7. เชนไน (อินเดีย)
8. โฮจิมินห์ซิตี้ (เวียดนาม)
9. ซีอาน (จีน)
10. กวางโจว (จีน)
11. นานกิง (จีน)
12. มะนิลา (ฟิลิปปินส์)
13. ปักกิ่ง (จีน)
14. เซี่ยงไฮ้ (จีน)
15. กอลกัตตา (อินเดีย)
16. ฉงชิ่ง (จีน)
17. หางโจว (จีน)
18. กรุงเทพฯ (ไทย)
19. เสิ่นเจิ้น (จีน)
20. เฉิงตู (จีน)
ที่มา รายงาน City Momentum Index 2019 โดยเจแอลแอล
รายงานฉบับดังกล่าวของเจแอลแอลระบุว่า ในช่วงสองปีที่ผ่านมา พลวัตในภาคเศรษฐกิจของกรุงเทพฯ ค่อยๆ ปรับเพิ่มสูงขึ้น โดยมีแรงขับเคลื่อนปัจจัยสำคัญๆ ได้แก่ การเติบโตของภาคการท่องเที่ยว โดยมีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงสิบปีที่ผ่านมา การริเริ่มนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ตั้งแต่ปี 2559 เพื่อดึงดูดการลงทุนใหม่ๆ ที่จะช่วยเปลี่ยนโฉมเศรษฐกิจของประเทศ การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศที่ปรับตัวดีขึ้นมากในปี 2560 โดยมีนักลงทุนต่างชาติจำนวนมากที่ประสบความสำเร็จในการร่วมลงทุนกับนักลงทุนไทย และการพัฒนาระบบสาธารณูปโภค โดยกำลังมีการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้า MRT ใหม่สี่สายควบคู่กับการก่อสร้างส่วนต่อขยายของสองสายที่มีอยู่เดิม
สำหรับ ปี 2562 นี้ ความไม่นอนทางการเมืองในประเทศไทย ทำยังเร็วเกินไปที่จะประเมินว่า กรุงเทพฯ จะยังสามารถรักษาระดับพลวัตของเมืองได้มากเท่ากับปีที่ผ่านหรือไม่ แม้การประกาศกำหนดการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในวันที่ 24 มีนาคม ได้รับผลตอบรับที่ดีทั้งจากภาคธุรกิจและประชาคมโลก แต่มีมีการคาดการณ์ว่า ความไม่แน่นอนทางการเมืองจะยังคงดำเนินต่อไปจนกว่าจะมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่หลังการเลือกตั้ง
นางสุพินท์ มีชูชีพ กรรมการผู้จัดการ เจแอลแอล กล่าวว่า “ความไม่แน่นอนทางการเมืองอาจมีผลกระทบต่อการตัดสินใจลงทุนของภาคธุรกิจอยู่บ้าง แต่เชื่อว่า หากมีผลกระทบใดๆ เกิดขึ้นจะเป็นเพียงระยะสั้นๆ เท่านั้น เนื่องจากความเชื่อมั่นน่าจะปรับตัวดีขึ้นเมื่อมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่หลังการเลือกตั้ง”
“นอกจากนี้ การขยายจำนวนของประชากรเมืองและปัจจัยพื้นฐานที่เข้มแข็งในภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์กลุ่มหลักๆ คาดว่าจะยังคงเอื้อให้เศรษฐกิจและภาคอสังหาริมทรัพย์ของกรุงเทพฯ ยังคงเติบโตต่อไปได้ ซึ่งจะส่งผลให้กรุงเทพฯ ยังคงเป็นเมืองที่มีพลวัตสูงต่อไป”นางสุพินท์กล่าว
เอเชียครองตำแหน่งเมืองที่มีพลวัตสูงสุดในโลก
ในรายงาน City Momentum Index ของเจแอลแอล เมืองที่มีดัชนีพลวัตสูงสุดในระยะสั้นของโลก 20 เมือง มี 19 เมืองที่อยู่ในเอเชีย สะท้อนให้เห็นถึงระดับความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงที่เพิ่มสูงขึ้นของเอเชียเหนือภูมิภาคอื่นๆ ของโลก ทั้งในแง่ของการเติบโตของเมืองและเศรษฐกิจที่มีปัจจัยหนุนสำคัญ ได้แก่ โลกาภิวัฒน์ นวัตกรรม และการเติบโตของจำนวนประชากรในเมือง
ทั้งนี้ โดยรวม พบว่าเมืองของอินเดียและจีนติดอันดับมากที่สุด มีสัดส่วนคิดเป็น 3 ใน 4 ของเมืองที่มีดัชนีพลวัตสูงสุด 20 อันดับแรกของโลก โดยเมืองที่มีค่าดัชนีสูงสุดคือเบงกาลูรู (ที่หนึ่ง) และไฮเดอราบัด (ที่สอง) ของอินเดีย ตามมาด้วยกรุงฮานอยของเวียดนามในอันดับที่สาม ส่วนเมืองเดียวในกลุ่มที่ได้อยู่ในเอเชียคือกรุงไนโรบี (ที่หก) ของประเทศเคนย่าซึ่งได้รับอานิสงค์จากการที่จีนเข้าไปลงทุนสูงในโครงการก่อสร้างระบบสาธารณูปโภค
เจรามี เคลลีย์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยเจแอลแอลทั่วโลก กล่าวว่า “เอเชียยังคงเป็นภูมิภาคที่มีพลวัตสูง โดยเมืองใหญ่ของประเทศต่างๆ ยังคงมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจ มีความสามารถในการดึงดูดให้นักลงทุนเข้ามาลงทุน ดึงดูดบริษัทให้เข้ามาเปิดธุรกิจและผู้คนให้เข้ามาทำงาน-อยู่อาศัย”
เป็นที่ชัดเจนว่า บริษัทเทคโนโลยีเป็นกลุ่มธุรกิจหนึ่งที่มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโตทั้งในภาคเศรษฐกิจและภาคอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงการเกิดขึ้นของกลุ่มธุรกิจสตาร์ทอัพอย่างคึกคักในเมืองต่างๆ เช่น เบงกาลูรู ไฮเดอราบัด โฮจิมินห์ซิตี้ และเสิ่นเจิ้น
แม้เศรษฐกิจโลกกำลังเข้าสู่ภาวะชะลอตัว แต่ยังคงมีหลายๆ เมืองของโลกที่ยังคงมีสภาพเศรษฐกิจและตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่คึกคัก อย่างไรก็ดี แม้การเติบโตจะนำมาซึ่งโอกาสในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม แต่ขณะเดียวกันก็นำมาซึ่งความท้าทายที่เมืองต่างๆ ต้องให้ความสำคัญ เพื่อให้สามารถเปลี่ยนผ่านไปอยู่ในกลุ่มเมืองที่มีดัชนีพลวัตระยะยาว ซึ่งในประเด็นนี้ การลงทุนพัฒนาระบบสาธารณูปโภค และการพัฒนาความโปร่งใส เป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้เกิดการเปลี่ยนผ่านดังกล่าวได้
นายเคลลีย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า “เมืองเหล่านี้ยังต้องให้ความสำคัญกับผลกระทบด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้นตามมาจากการเติบโตที่รวดเร็วของเอง อาทิ ความเหลื่อมล้ำทางสังคม ความแออัด และความเสื่อมโทรมของสภาพแวดล้อม ทั้งนี้ การพัฒนาอังหาริมทรัพย์ที่ชาญฉลาด สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล และการทำให้เกิดความโปร่งใส จะมีส่วนสำคัญในการช่วยรักษาให้การเติบโตของเมืองมีความยั่งยืนในระยะยาว”
การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์อย่างสร้างสรรค์ด้วยวิสัยทัศน์ที่ยาวไกล ช่วยให้เมืองเติบโตอย่างยั่งยืน
การพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่มีการคิดวางแผนที่ดีและสร้างสรรค์ ด้วยวิสัยทัศน์ระยะยาวที่จะช่วยให้สามารถรองรับธุรกิจใหม่ๆ และยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คน มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าการพัฒนาโครงการระบบสาธารณูปโภคที่ช่วยแก้ปัญหาความแออัดและความสะดวกในการสัญจร
ตัวอย่างเช่น มะนิลา นับเป็นหนึ่งในเมืองที่อัดที่สุดในโลกจากการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของประชากรเมือง รัฐบาของฟิลิปปินส์ได้ประกาศนโยบาย Build, Build, Build (สร้าง สร้าง สร้าง) ซึ่งมุ่งหวังที่จะดำเนินโครงการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคของประเทศรวมกว่า 2,000 โครงการ ซึ่งคาดว่าจะมีส่วนช่วยในการบรรเทาปัญหาความแออัด ปรับปรุงระบบไฟฟ้า-พลังงานให้เสถียรมากขึ้น ลดผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ และปรับปรุงพื้นที่ย่านต่างๆ ในเมือง
ระบบสาธารณูปโภคอัจฉริยะและเทคโนโลยีที่คำนึงถึงความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ช่วยทำให้เมืองน่าอยู่
นวัตกรรมทางเทคโนโลยีที่ช่วยทำให้อาคารเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและมีความเป็นอัจฉริยะ สามารถช่วยตอบโจทย์ความท้าทายด้านสิ่งแสดล้อมที่เกิดจากการเติบโตของเมือง ตัวอย่างเช่นเมืองซีอานของจีน มีการก่อสร้างหอฟอกอากาศ ซึ่งนับเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่มีความสร้างสรรค์อย่างมากที่สร้างขึ้นมาเพื่อลดปัญหาหมอกควันและทำให้คุณภาพดีขึ้น
การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศมีความสำคัญต่อพลวัตของเมืองในระยะยาว
การเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาวของเศรษฐกิจ เมืองเศรษฐกิจเมืองมักมีความสัมพันธ์กับการปริมาณการลงทุนระยะยาวที่เข้ามาโดยตรงจากต่างประเทศ และบรรษัทภิบาลที่มีความโปร่งใส
ในประเด็นนี้ เมืองหลายๆ ที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็วที่สุดของอินเดียเป็นเมืองที่ประสบความสำเร็จสูงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยสามารถดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศได้มาก จากการปฏิรูปเชิงโครงสร้าง (รวมถึงการแก้กฎหมายว่าด้วยการควบคุมกฎระเบียบและการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์) ซึ่งช่วยกระตุ้นให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนซื้ออสังหาริมทรัพย์มากขึ้น ส่วนหัวเมืองหลักของจีน อาทิ ปักกิ่งและเซี่ยงไฮ้ การที่จีนมีดัชนีความโปร่งใสปรับตัวดีขึ้นได้มีส่วนช่วยให้นักลงทุนต่างชาติมีความมั่นใจในการเข้ามาลงทุนเพิ่ม
ความโปร่งใสเป็นตัวแปรสำคัญที่ดึงดูดการลงทุนระยะยาวซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการเติบโตที่ยั่งยืน การมีบรรษัทภิบาลที่เข้มแข็งและการวางแผนที่ดี จะช่วยให้ภาคเอกชนสามารถร่วมมือกับหน่วยงานรัฐที่ดูแลการบริหารจัดการเมืองในการผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลง และสร้างประโยชน์ให้กับภาคอสังหาริมทรัพย์ รวมจนถึงเสริมสร้างขีดความสามารถให้กับเมืองด้านด้านธุรกิจ-การพาณิชย์
เกี่ยวกับรายงาน City Momentum Index
รายงาน City Momentum Index ของเจแอลแอล ประเมินพลวัตของ 131 เมืองที่มีความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงสูงในด้านธุรกิจ-การพาณิชย์ จากทุกภูมิภาคของโลก โดยติดตามตรวจสอบดัชนีบ่งชี้ต่างๆ ด้านสังคมเศรษฐกิจและอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ในช่วง 3 ปี เพื่อจัดอันดับเมืองที่มีการขยายตัวของภาคเศรษฐกิจและภาคอสังหาริมทรัพย์รวดเร็วที่สุด การประเมินจะให้คะแนนกับแต่ละเมือง ซึ่งรวบรวมคะแนนการวิเคราะห์ตัวแปรย่อย 20 ตัวแปร ข้อมูลทั้งหมดที่เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์เป็นข้อมูลจากเจแอลแอล ส่วนข้อมูลอื่นๆ มาจากหลายแหล่งที่มา ได้แก่ Oxford Economics, สหประชาชาติ, ACI, GaWC และ fDI Markets รวมถึงสำนักงานสถิติของหลายๆ
ประเทศ (รายงานฉบับเต็ม ดาวน์โหลดได้ที่ : https://www.jll.co.uk/en/trends-and-insights/research/city-momentum-index-2019)
เกี่ยวกับ JLL
เจแอลแอลเป็นบริษัทที่ปรึกษาและบริการด้านอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำของโลก มีสำนักงานสาขา 300 แห่งทั่วโลก สำหรับในประเทศไทย เจแอลแอลเริ่มดำเนินธุรกิจมานับตั้งแต่ปี 2533 ปัจจุบันเป็นบริษัทระหว่างประเทศรายใหญ่ที่สุดในธุรกิจบริการด้านอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทย ด้วยพนักงานมากกว่า 1,600 คน และมีอสังหาริมทรัพย์ภายใต้การบริหารจัดการคิดเป็นพื้นที่รวมทั้งสิ้นกว่า 5 ล้านตารางเมตร นอกจากนี้ เจแอลแอลยังได้รับการจัดอันดับให้เป็นบริษัทที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์โดยภาพรวมอันดับหนึ่งของประเทศไทยติดต่อกันแปดปีซ้อน ในการสำรวจความคิดเห็นของคนในแวดวงอสังหาริมทรัพย์ประจำปี 2561 โดยนิตยสารยูโรมันนี (Euromoney Real Estate Survey 2018)
Click Donate Support Web