- Details
- Category: อสังหาริมทรัพย์ฯ
- Published: Friday, 02 November 2018 17:23
- Hits: 5577
สมาคมสถาปนิกสยามฯ ยื่นหนังสือนายกฯ ทบทวนการสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2(Terminal 2)
นายอัชชพล ดุสิตนานนท์ นายกสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ (ASA)ได้เข้ายื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ผ่าน ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล 1111 สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาชะลอและทบทวนการจัดวางอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 (Terminal 2) ในตำแหน่งใหม่ ที่จะส่งผลต่อการเปลี่ยนแผนแม่บท (Master Plan) ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2561 ที่ผ่านมา สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้จัดเวทีเสวนาสาธารณะในหัวข้อ ‘กะเทาะเปลือกสนามบินสุวรรณภูมิ’เพื่อเข้าสู่กระบวนการรับฟังสาธารณชนแบบเปิด (Open Dialogue) อย่างมีคุณภาพและประเมินผลร่วมกัน (Qualitative Research) โดยได้รับเกียรติจากองค์กรวิชาชีพและสถาบันการศึกษาที่เกี่ยวข้อง จำนวน 12 องค์กรเข้าร่วมรับฟัง ณ ที่ทำการสมาคมสถาปนิกสยามฯ ภายหลังจากการรับฟังข้อเท็จจริงที่นำเสนอต่อสาธารณะและผ่านการประเมินผลแล้ว ที่ประชุมองค์กรวิชาชีพและสถาบันการศึกษาที่เกี่ยวข้องได้ประมวลผลร่วมกันซึ่งได้มีมติเป็นเอกฉันท์ ไม่เห็นด้วยกับการจัดวางอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 (Terminal 2) ในตำแหน่งใหม่
โดยหนังสือที่ยื่นมีนายพันศักดิ์ เจริญ ผอ.ส่วนประสานงานมวลชนและองค์กรประชาชน ทำการรับมอบหนังสือและได้ส่งมอบให้ น.ส.ถนอมสิน ปีตวัฒนกุล นักวิเคราะห์นโยบายและแผนปฏิบัติการ สำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคม ดำเนินการส่งเรื่องไปยัง ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีและรมต.ว่าการกระทรวงคมนาคมตามลำดับต่อไป
เรื่อง ข้อเสนอเพื่อโปรดพิจารณาชะลอและทบทวนการจัดวางอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 (Ter-2)
ในตำแหน่งใหม่ที่จะส่งผลต่อการเปลี่ยนแผนแม่บท (Master Plan) ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
กราบเรียน ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี
สำเนาเรียน ฯพณฯ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
ฯพณฯ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม
ประธานกรรมการบริหารและกรรมการบริหาร บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)
สิ่งที่ส่งมาด้วย 1. รายนาม 12 องค์กรด้านวิชาชีพและสถาบันการศึกษาที่เกี่ยวข้อง
2. ตารางเปรียบเทียบ ข้อเสนอแนะในรายงานของ ICAO 2554 กับการพัฒนาอาคารผู้โดยสารหลัง
ที่ 2 ตามแผนแม่บทปี 2561 ของ ทอท. และผลกระทบจากการดำเนินการที่เบี่ยงเบนโดย ทอท.
ตามที่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. มีความประสงค์ที่จะจ้างออกแบบและก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 (Ter-2) ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยปรับเปลี่ยนตำแหน่งการวางอาคารหลังนี้ไปนอกพิกัดจากผังแม่บทเดิม จนเป็นเหตุให้สาธารณชนทั่วไปเกิดข้อโต้แย้งคัดค้านขึ้นอย่างต่อเนื่องมาในระยะหนึ่งแล้วนั้น
เพื่อเป็นการแสวงหาแนวทางยุติข้อโต้แย้งคัดค้านดังกล่าวมิให้ขยายวงกว้างไปอีก ในการนี้เมื่อ วันที่ 16 ตุลาคม 2561 ที่ผ่านมา สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้จัดเวทีเสวนาสาธารณะในหัวข้อ “กะเทาะเปลือกสนามบินสุวรรณภูมิ” เพื่อเข้าสู่กระบวนการรับฟังสาธารณชนแบบเปิด (Open Dialogue) อย่างมีคุณภาพและประเมินผลร่วมกัน (Qualitative Research) โดยได้รับเกียรติจากองค์กรวิชาชีพและสถาบันการศึกษาที่เกี่ยวข้อง จำนวน 12 องค์กร (ตามสิ่งที่ส่งมาด้วย 1.) เข้าร่วมรับฟัง ณ ที่ทำการสมาคมสถาปนิกสยามฯ ถนนพระราม 9 และภายหลังจากการรับฟังข้อเท็จจริงที่นำเสนอต่อสาธารณะแล้ว ที่ประชุมองค์กรวิชาชีพและสถาบันการศึกษาที่เกี่ยวข้อง ได้มีมติเป็นเอกฉันท์ ไม่เห็นด้วยกับการจัดวางอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 (Ter-2) ในตำแหน่งใหม่ ที่จะส่งผลต่อการเปลี่ยนผังแม่บท โดยมีเหตุผลประกอบการพิจารณาเพื่อมีมติร่วมกันดังกล่าว ดังต่อไปนี้
1) การที่ ทอท. ได้ชี้แจงต่อสาธารณชนว่าแผนแม่บทสนามบินที่ได้จัดทำไว้ตั้งแต่ปี 2536 ทอท. ได้พัฒนาปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้นในเชิงปริมาณและคุณภาพ เพื่อรองรับผู้โดยสารและรองรับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงมาแล้วถึง 5 ครั้ง แต่จากข้อเท็จจริงปรากฏว่าในปี 2544 มีแนวคิดในการปรับ Aircraft Stands ด้วยการเปลี่ยนรูปร่างของอาคาร Satellites จากรูปกากบาทเป็น Linear ณ ตำแหน่งเดิมตามแผนแม่บทเดิมเท่านั้น และต่อมาที่ปรึกษาบริหารจัดการโครงการ (Project Management Consultant : PMC) ได้เห็นพ้องในการปรับ Linear และ Tunnel Line จนสำเร็จในปี 2546 แม้ต่อมา ทอท. มีความพยายามจะปรับปรุงแก้ไขแผนแม่บทโดยการจ้างศึกษามาเป็นระยะ ๆ แต่ก็เป็นเพียงแนวคิดและยังมิได้มีผลในเชิงปฏิบัติแต่ประการใด ทอท. จึงใช้แผนแม่บทปี 2546 มาโดยตลอดจนถึงวันนี้
ทั้งโดยบริษัท วิทยุการบินฯ เพื่อควบคุมการบิน และโดย ทอท. ที่กำลังใช้ในการก่อสร้างอาคาร Satellite -1 (SAT-1) อยู่ในขณะนี้
2) นอกจากนี้ การที่ ทอท.ชี้แจงต่อสาธารณชนว่าแผนแม่บทสามารถปรับเปลี่ยนได้โดยง่ายเพื่อให้ทันต่อเหตุการณ์นั้นการชี้แจงดังกล่าวก็เพื่อที่จะนำมาเป็นเหตุที่ ทอท. จะวางอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 (Ter-2) ที่ตำแหน่งปลายของ Concourse A ของอาคารผู้โดยสารหลังที่ 1 ซึ่งเป็นการปรับปรุงแก้ไขที่จะเกิดขึ้นในปี 2561 นี้เท่านั้น โดยยกเหตุผลประกอบว่า ทอท. ได้ศึกษาวิธีการที่จะใช้ที่ดินแปลงนี้ให้มีศักยภาพสูงสุดเพื่อช่วยแก้ปัญหาในเชิงคุณภาพการให้บริการแก่ผู้โดยสาร ที่ดินแปลงนี้มีศักยภาพเหมาะสมที่จะก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังใหม่เพิ่มขึ้นเป็นอาคารหลังที่ 2 (Ter-2) เพราะมีหลุมจอดอยู่แล้วโดยเฉพาะอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 (Ter-2) เป็นไปตามคำแนะนำของ The International Civil Aviation Organization (ICAO) ซึ่งเหตุผลดังกล่าวของ ทอท. ไม่สอดคล้องกับหลักฐานข้อเท็จจริงและมิได้เกิดจากการวิเคราะห์ Value Impact แต่ประการใด แต่กลับจะส่งผลกระทบเป็นปัญหาเกิดขึ้นตามมา ดังที่ปรากฏตามตารางเปรียบเทียบ (ตามสิ่งที่ส่งมาด้วย 2.)
ตารางเปรียบเทียบที่ส่งมาด้วยนี้ ได้สรุปข้อมูลเพื่อให้เห็นความไม่สอดคล้องในสาระสำคัญตามข้อเสนอแนะในรายงานของ ICAO (2554) เปรียบเทียบกับการพัฒนาอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 (Ter-2) ซึ่งถือเป็นแผนแม่บท ปี 2561 ของ ทอท. หากนำไปปฏิบัติได้จริง
3)จากข้อมูลจากคำชี้แจงประกอบหลักฐานอันเป็นที่ประจักษ์ของทั้งฝ่าย ทอท. และฝ่ายผู้ทรงคุณวุฒิที่ร่วมเสวนานั้นฟังเพิ่มเติมได้อีกว่าข้อมูลของ ทอท. มิได้เป็นไปตามแนวทางที่ ทอท. นำเสนอ เช่น กรณีที่ ทอท. ชี้แจงว่าการพัฒนาเป็นไปตามคำแนะนำของ ICAO ในรายงานเมื่อปี 2554 แต่จากแผนแม่บทใหม่ปี 2561 กลับไม่ได้เป็นไปตามผลรายงานอันเป็นสาระสำคัญของ ICAO อีกทั้งกรณีที่ ทอท. ชี้แจงว่าการปรับปรุงตามแผนแม่บทปี 2561 เป็นไปเพื่อให้มีศักยภาพรองรับผู้โดยสารจำนวน 150 ล้านคนนั้น ก็มิใช่เป็นผลจากการศึกษาของ ICAO แต่อย่างใด คำชี้แจงในส่วนนี้ ทอท. มิได้มีข้อมูลใดสนับสนุน โดยเฉพาะไม่มีรายการคำนวณและ Aircraft Movement Simulation บริเวณ Taxiway หน้าอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 (Ter-2) ซึ่งเป็นเสมือน “ซอย” ที่คับแคบ อยู่ในขณะนี้
4)ข้อชี้แจงของ ทอท. หลายประการ น่าจะคลาดเคลื่อนจากเอกสารหลักฐานอันเป็นที่ประจักษ์จนทำให้เกิดข้อขัดแย้งและสร้างความไม่ศรัทธาต่อสาธารณชนเป็นอย่างมากในขณะนี้ โดยเฉพาะในประเด็นที่องค์กรวิชาชีพและสถาบันการศึกษาที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันศึกษาวิเคราะห์แล้วพบว่ามีข้อที่น่าวิตกกังวลในประเด็นที่ว่า หากมีการลงทุนด้วยงบประมาณสูงกว่า 42,000 ล้านบาท เพื่อก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 (Ter-2) ที่ผิดไปจากแผนแม่บทเดิม ในเชิงการประเมิน (Quantitative Evaluation) แล้ว อาจจะนำมาซึ่งความเสียหายต่อสนามบินและประเทศชาติในอนาคตเป็นอย่างสูงได้
อนึ่ง มีข้อสังเกตเพิ่มเติมอีกว่า การคัดค้านการพัฒนาตามแผนแม่บท ซึ่งรวมอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 (Ter-2) ของ ทอท. ณ ปลาย Concourse A นั้นมีมาโดยตลอด ทั้งจากภาคประชาชนทั่วไป ผู้ทรงคุณวุฒิ และองค์กรวิชาชีพด้านสถาปัตยกรรมและวิศวกรรม รวมถึงอดีตที่ปรึกษาของ ทอท. ในปี 2557 โดยกลุ่ม EPM Consortium ซึ่ง
ทอท. ได้ทำสัญญาจ้างศึกษาด้วยงบประมาณเกือบพันล้านบาท แต่การคัดค้านกลับมีผลให้ถูกบอกเลิกสัญญาจ้างในเวลาต่อมา
จากเหตุผลตามที่ได้เรียนมาแล้วข้างต้น ที่ประชุมองค์กรวิชาชีพและสถาบันการศึกษาที่เกี่ยวข้องจึงได้ลงมติเป็นเอกฉันท์ เห็นควรเสนอ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ได้โปรดพิจารณาสั่งการ ให้บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ชะลอเพื่อให้มีการทบทวนโครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 (Ter-2) ณ ตำแหน่งใหม่ปลาย Concourse A นอกพิกัดแผนแม่บท โดยเสนอแนะให้บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ดำเนินการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 (Ter-2) ให้เป็นไปตามแผนแม่บทเดิมโดยเร็ว ตามข้อเสนอแนะของ International Air Transport Association (IATA) “Immediate and Long-Term Priorities for Thailand’s Airports” ที่ระบุไว้ว่า“… IATA strongly supports the approval of Phase 2 terminal expansion plans to relieve congestion and maintain a focus on passenger experience…, Commencement of Phase 2 Terminal Expansion of BKK…, (IATA, 2017)”
จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาสั่งการกระทรวงคมนาคมให้เร่งแก้ไขปัญหา เดินหน้าพัฒนาอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 (Ter-2) ในตำแหน่งที่ถูก-ที่ต้อง-ที่ควรต่อไปด้วย จักขอบพระคุณยิ่ง