- Details
- Category: อสังหาริมทรัพย์ฯ
- Published: Tuesday, 16 October 2018 19:46
- Hits: 4163
สภาวิศวกรย้ำเตือนปัญหารถตกอาคารซ้ำซาก แนะรัฐออกกฎและเจ้าของอาคารตรวจสอบแผงกั้นรถยนต์
จากเหตุการณ์รถกระบะตกลงมาจากอาคารจอดรถชั้น 6 ภายในกระทรวงสาธารณสุขเมื่อวันที่ 10 ตค. ที่ผ่านมา แต่โชคดีที่ไม่มีผู้เสียชีวิต เหตุการณ์รถยนต์ตกจากอาคารจอดรถเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นซ้ำซากหลายครั้งในอดีต เช่น เหตุรถยนต์พุ่งชนแผงกั้นรถยนต์ชั้น 3 อาคารห้างสรรพสินค้าแห่งในหนึ่งในเขตบางกะปิ ปี พ.ศ. 2558 มีผู้เสียชีวิต 1 ราย และรถยนต์ตกอาคารอพารต์เมนท์ ชั้น 4 บริเวณถนนพระราม 4 เมื่อปี 2560 มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 1 ราย
ศ.ดร. อมร พิมานมาศ เลขาธิการสภาวิศวกร กล่าวถึงเรื่องดังกล่าวว่า ปัจจุบันปัญหารถยนต์ตกอาคารจอดรถยังคงเป็นปัญหาที่กระทบต่อความปลอดภัยของผู้ขับขี่ภายในอาคาร และยังมีอาคารจอดรถอีกเป็นจำนวนมากที่ยังมีแผงกั้นรถยนต์ที่ไม่ปลอดภัย ซึ่งการเกิดอุบัติเหตุรถยนต์ตกอาคารนั้น มาจาก 3 สาเหตุหลักคือ 1. การประมาทของผู้ขับขี่รถยนต์ 2. สภาพการณ์ขับขี่ภายในอาคารจอดรถไม่ปลอดภัย เช่น แสงสว่างไม่เพียงพอ ความชันของทางขึ้นลง และรัศมีโค้งของทางวิ่ง และ 3. ความแข็งแรงของแผงกั้นรถยนต์ โดยพบว่าบริเวณที่อันตรายของอาคารจอดรถ คือ 1. บริเวณซองที่รถถอยหลังเข้าจอด และ 2. บริเวณปลายทางวิ่ง
ในแง่ของมาตรฐานความปลอดภัยของแผงกั้นรถยนต์นั้น ปัจจุบัน ยังไม่มีกฎหมายควบคุมอาคารที่ระบุขนาดของแรงกระแทกที่แผงกั้นรถยนต์ต้องออกแบบให้รองรับ จึงเป็นสาเหตุให้อาคารจอดรถหลายแห่ง ยังมีแผงกั้นที่ไม่ได้มาตรฐานความปลอดภัย ดังนั้น เพื่อให้การแก้ไขเกิดขึ้นเป็นรูปธรรม จึงเสนอให้ 1. รัฐควรออกกฎหมายกำหนดค่าแรงกระแทกในการออกแบบและก่อสร้างแผงกั้นรถยนต์ 2. รัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรออกมาตรฐานการแบบและก่อสร้างแผงกั้นรถยนต์สำหรับอาคารจอดรถที่จะก่อสร้างขึ้นใหม่
สำหรับ มาตรฐานการออกแบบแผงกั้นรถยนต์นั้น ในต่างประเทศ ได้มีการกำหนดมาตรฐานกำหนดค่าแรงกระแทกที่ใช้ในการออกแบบ เช่น มาตรฐาน IBC 2006 ของสหรัฐอเมริกา และมาตรฐาน AS/NZS1170.1 ของประเทศออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ซึ่งได้มีการกำหนดค่าแรงกระแทกที่ใช้ในการออกแบบแผงกั้นรถยนต์ดังนี้
1. ค่าแรงกระแทก 3 ตันสำหรับบริเวณที่มีการจราจรไม่มาก และ 4 ตันสำหรับบริเวณที่มีการจราจรปานกลาง
2. ค่าแรงกระแทก 24 ตัน สำหรับแผงกั้นที่บริเวณปลายทางวิ่งที่มีระยะทางเกิน 20 ม.
เลขาธิการสภาวิศวกร กล่าวอีกว่า ประเทศไทยจึงควรเร่งออกกฎหมายควบคุมอาคารและมาตรฐานการออกแบบแผงกั้นรถยนต์โดยเร็วต่อไป ทั้งนี้การออกแบบและก่อสร้างแผงกั้นรถยนต์ควรดำเนินการโดยวิศวกรโยธาที่ได้รับใบอนุญาตจากสภาวิศวกร ส่วนแผงกั้นรถยนต์ในอาคารจอดรถที่ก่อสร้างแล้วนั้นพบว่ามีหลายรูปแบบที่เข้าข่ายเสี่ยงอันตราย โดยมีข้อสังเกตแผงกั้นรถยนต์ที่อาจไม่ปลอดภัยดังนี้
1. แผงกั้นที่ทำขึ้นจากอิฐมอญ หรือ คอนกรีตบล๊อกที่ไม่มีการเสริมเหล็ก
2. แผงกั้นรถยนต์ที่ทำจากผนังสำเร็จรูป ซึ่งมีจุดยึดระหว่างผนังกับพื้นไม่แข็งแรง เช่นใช้กับการเชื่อมแท็คเวลดิ้งเพียง 2-3 ตำแหน่ง
3. แผงกั้นรถยนต์ที่ทำจากผนังคอนกรีตเสริมเหล็กที่บางและมีเหล็กเสริมไม่ได้มาตรฐาน
สำหรับ แนวทางแก้ไขปัญหาในทางวิศวกรรมนั้น ควรเร่งดำเนินการโดยแบ่งออกเป็นอาคารจอดรถที่จะก่อสร้างขึ้นใหม่ และ อาคารจอดรถเดิมที่ก่อสร้างแล้ว ดังนี้
สำหรับ อาคารจอดรถที่จะก่อสร้างใหม่นั้น มีข้อเสนอก่อสร้างแผงกั้นรถยนต์ดังนี้
1. แผงกั้นควรมีความสูงจากพื้นอย่างน้อย 130 ซม.
2. ควรก่อสร้างจากผนังคอนกรีตเสริมเหล็กชนิดเทในที่ มีเหล็กเดือยฝังยึดแผงกั้นกับพื้นอย่างแน่นหนา
3. ออกแบบแผงกั้นเป็นผนังยื่นจากพื้น โดยใช้ค่าแรงกระแทกตามที่มาตรฐานกำหนด
4. การเสริมเหล็กในแผงกั้นชนิดคอนกรีตเทในที่ ควรเสริมเหล็ก 2 ชั้นที่ผิวด้านนอกและผิวด้านในของแผ่นพื้น ห้ามเสริมเหล็กชั้นเดียวตรงกลางผนัง
5. คอนกรีตที่ใช้ทำผนังแผงกั้นควรมีกำลังรับแรงอัดไม่ต่ำกว่า 280 กิโลกรัมต่อตารางเซ็นติเมตร
สำหรับ อาคารจอดรถเดิม ซึ่งแผงกั้นอาจไม่ได้มาตรฐานความปลอดภัย สามารถเสริมความแข็งแรงแผงกั้นให้ได้มาตรฐานได้ เจ้าของอาคารควรจะหาวิศวกรโยธาเข้าตรวจสอบและประเมินความแข็งแรงของแผงกั้นรถยนต์ในอาคารเก่า และ เสริมความแข็งแรง เช่น การเสริมผนังคอนกรีตเสริมเหล็กเข้ากับผนังเดิม หรือ วิธีอื่นตามที่วิศวกรเห็นสมควร
Click Donate Support Web