- Details
- Category: อสังหาริมทรัพย์ฯ
- Published: Wednesday, 26 September 2018 10:26
- Hits: 3259
ธนาคารออมสิน ชี้แจงข่าวผู้รับจ้างร้องเรียนสัญญาปรับปรุงอาคารไม่เป็นธรรม
รายงานข่าวจากฝ่ายสื่อสารองค์กร ธนาคารออมสิน แจ้งว่า ตามที่ปรากฏเป็นข่าวบริษัทผู้รับเหมาก่อสร้างพร้อมด้วยนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.)และได้มีการเผยผ่าน มติชนออนไลน์ ว่าธนาคารออมสินมีการดำเนินการที่ไม่เป็นธรรมกับผู้รับจ้าง กรณีการจ้างปรับปรุงพื้นที่อาคาร 10 (สูง 11 ชั้น) นั้น ธนาคารขอเรียนชี้แจงว่า กรณีดังกล่าวเป็นการจ้างปรับปรุงพื้นที่อาคาร ไม่ใช่การก่อสร้างอาคารใหม่ แต่อย่างใด และได้มีการลงนามในสัญญาจ้างตั้งแต่เดือนธันวาคม 2558 แต่จนถึงปัจจุบันซึ่งเป็นเวลาเกือบสามปีแล้ว ผู้รับจ้างก็ดำเนินการปรับปรุงได้เพียง 3 ชั้น และผลงานก็มีความผิดพลาดบกพร่องหลายประการ
ซึ่งที่ผ่านมาธนาคาร ก็ได้พิจารณาผ่อนปรนให้กับผู้รับจ้างมาโดยตลอด แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อได้ประเมินศักยภาพของผู้รับจ้างแล้ว ก็เห็นว่า ผู้รับจ้างคงจะไม่สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จตามสัญญาได้จากความล่าช้าและความบกพร่องดังกล่าว ดังนั้น การที่ให้ผู้รับจ้างทำงานต่อไปน่าจะทำให้เกิดความเสียหายกับธนาคาร ทั้งในส่วนของผู้รับจ้างเองก็จะต้องเกิดความรับผิดในเรื่องของค่าปรับจำนวนมาก ธนาคารจึงจำเป็นต้องบอกเลิกสัญญา สำหรับ ในส่วนที่มีการกล่าวอ้างถึงการปฏิบัติที่ผิดระเบียบและไม่เป็นธรรมกับผู้รับจ้างนั้น ธนาคารขอชี้แจงดังนี้
เรื่องการส่งมอบพื้นที่ ผู้รับจ้างทราบดีอยู่แล้วว่า อาคารที่จะทำการปรับปรุง เป็นอาคารที่มีพนักงานทำงานอยู่ และตามเอกสารขอบเขตของงาน (Terms of Reference : TOR) ข้อ 12.2 ‘ผู้ประสงค์จะเสนอราคามีหน้าที่ ต้องไปดูสถานที่ปรับปรุงและได้ทราบสถานที่ปรับปรุงแล้ว ซึ่งจะไม่นำอุปสรรคและปัญหา ในการทำงานมากล่าวอ้างให้พ้นความรับผิดชอบต่อธนาคาร’ อีกทั้งภายหลังจากการทำสัญญาแล้ว ธนาคารยังได้มีการประชุมร่วมกับผู้รับจ้างเพื่อทำความเข้าใจในเรื่องของการส่งมอบพื้นที่ให้ ผู้รับจ้างเข้าทำงานในแต่ละชั้นของอาคาร นอกจากนั้น เมื่อมีการแก้ไขสัญญาธนาคาร ก็ยังได้มีการแจ้งกำหนดวันส่งมอบสถานที่ให้ผู้รับจ้างเข้าดำเนินการ โดยเป็นการส่งมอบพื้นที่ตามชั้นของอาคารที่ระบุไว้ในงวดงาน ซึ่งผู้รับจ้างก็ยอมรับเงื่อนไขการส่งมอบพื้นที่ตามหนังสือดังกล่าว
สำหรับ เรื่องการปรับเปลี่ยนแบบครุภัณฑ์ เป็นการพิจารณาในขณะที่ยังไม่ถึงงวดงานที่จะต้องมีการส่งมอบครุภัณฑ์ และเป็นการพิจารณาปรับเปลี่ยนเพื่อให้ธนาคารสามารถใช้ประโยชน์ในพื้นที่อาคารที่มีการปรับปรุงได้มากขึ้น มิใช่การ ล๊อคสเปค เพื่อกลั่นแกล้งหรือต้องการเปลี่ยนแปลงครุภัณฑ์ ในราคาที่สูงกว่า ซึ่งผู้รับจ้างก็ทราบดี และได้มีการหารือร่วมกับธนาคารในเรื่องของแบบครุภัณฑ์ที่จะมีการปรับเปลี่ยน แต่อย่างไรก็ตาม ในที่สุดเมื่อพิจารณาแล้ว ธนาคารก็มิได้มีการเปลี่ยนแบบครุภัณฑ์แต่ประการใด อีกทั้งในช่วงเวลาที่ธนาคารพิจารณาเรื่องการปรับเปลี่ยนครุภัณฑ์นั้น ก็มิได้มีผลกระทบต่อการทำงานตามสัญญาของผู้รับจ้าง เพราะผู้รับจ้างยังคงทำงานในส่วนอื่นๆ ได้ โดยไม่ต้องรอผลการพิจารณาในเรื่องการปรับเปลี่ยนครุภัณฑ์ การที่กล่าวว่าการลดขนาดแบบครุภัณฑ์ทำให้เกิดความเสียหายทั้งวัสดุและเสียเวลาที่ทำแล้วต้องรื้อทิ้ง เพื่อทำใหม่ เป็นเหตุให้ผู้รับจ้างทำงานไม่ทันตามกำหนดจึงเป็นเหตุอ้างในการไม่ตรวจรับงานให้กับผู้รับจ้าง จึงไม่เป็นความจริง เพราะยังไม่ได้มีการติดตั้งครุภัณฑ์แต่อย่างใด ในทางตรงกันข้าม ผู้รับจ้างเองได้มีการขอปรับเปลี่ยนวัสดุหลายรายการ ซึ่งธนาคารก็ได้มีการพิจารณาให้ตามที่เห็นสมควร
ในภาพรวมของการดำเนินการตามสัญญา เมื่อธนาคารได้รับทราบปัญหาและอุปสรรคในการทำงาน ธนาคารก็ได้มีการหารือร่วมกับผู้รับจ้างและพิจารณาแก้ไขปัญหามาโดยตลอด ดังจะเห็นได้ว่ามีการแก้ไขสัญญาและขยายระยะเวลาให้ผู้รับจ้างด้วย แต่เมื่อผู้รับจ้างเองมีการทำงานที่ล่าช้ามากและมีความผิดพลาดบกพร่องจนต้องมีการแก้ไขงานหลายครั้ง ธนาคาร จึงมีความจำเป็นต้องบอกเลิกสัญญากับผู้รับจ้าง ซึ่งน่าจะเป็นทางออกที่ทำให้ทั้งสองฝ่ายเสียหายน้อยที่สุด สำหรับในส่วนของการจ่ายเงินให้กับผู้รับจ้างนั้น ผู้รับจ้าง ยังมีส่วนของค่าปรับที่จะต้องรับผิดชอบซึ่งจะต้องนำมาหักกับจำนวนเงินค่างานที่ธนาคารจะจ่ายให้กับผู้รับจ้าง โดยธนาคารจะต้องพิจารณาความถูกต้องของงานที่ผู้รับจ้างได้ทำและส่งมอบให้กับธนาคารให้เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในสัญญาต่อไป
อ้างถึงข่าวมติชนออนไลน์ https://www.matichon.co.th/local/news_1135599