- Details
- Category: อสังหาริมทรัพย์ฯ
- Published: Wednesday, 17 September 2014 00:24
- Hits: 2526
พลัส พร็อพเพอร์ตี้ เปิดผลสำรวจคอนโดมิเนียมในเขตกรุงเทพฯ ครึ่งแรกปี’57 ย่านใจกลางเมือง 'สีลม สาธร พระราม 4'ขายดีสุด ส่วนเพลินจิต–ชิดลม–ราชดำริ คว้าแชมป์คอนโดมิเนียมราคาสูงสุด
พลัส พร็อพเพอร์ตี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านบริหารและจัดการอสังหาริมทรัพย์ครบวงจร เปิดเผยผลสำรวจคอนโดมิเนียม ในเขตกรุงเทพฯ รวม 168 โครงการ ภาพรวมมีอัตรายอดขาย (take-up rate) เฉลี่ยอยู่ที่ 68% ซึ่งเป็นอัตราที่เหมาะสม สะท้อนถึงความเชื่อมั่นที่เพิ่มขึ้นของผู้บริโภค พบโซนสีลม- สาทร – พระราม 4 ขายดีสุด ส่วนโซนเพลินจิต – ชิดลม – ราชดำริ คว้าแชมป์คอนโดมิเนียมราคาสูงสุด
นายภูมิภักดิ์ จุลมณีโชติ กรรมการผู้จัดการ บริษัท พลัส พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด ผู้เชี่ยวชาญด้านบริหารและจัดการอสังหาริมทรัพย์ครบวงจร เปิดเผยว่า ภาพรวมตลาดคอนโดมิเนียมในกรุงเทพฯ ทิศทางเริ่มกลับมาคึกคักอีกครั้ง โดยผลสำรวจตลาดคอนโดมิเนียม ในเขตกรุงเทพฯ ช่วงครึ่งแรกปี 2557 จำนวน 168 โครงการ (สัดส่วนโครงการ High Rise:Low Rise อยู่ที่ 73:27) พบว่ามีอุปทานเสนอขายทั้งหมด 94,718 ยูนิต ประกอบด้วยคอนโดมิเนียมที่สร้างเสร็จพร้อมอยู่ในปี 2557 และ 2558 อยู่ที่ 70% และอยู่ในระหว่างการก่อสร้างกำหนดเสร็จหลังปี 2558 อีก 30% ซึ่งห้องชุดที่อยู่ระหว่างก่อสร้างแล้วยังขายไม่หมดนี้ เมื่อสร้างเสร็จแล้วจะเกิดการทยอยดูดซับอุปทานในตลาดได้ภายใน 1 ปี
จากอุปทานข้างต้นมีอัตรายอดขาย (take-up rate) เฉลี่ยอยู่ที่ 68% โดยอัตรายอดขายนี้สะท้อนกำลังซื้อและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องหลังจากความขัดแย้งทางการเมืองได้สิ้นสุดลง สาเหตุมาจากคอนโดมิเนียมในเขตกรุงเทพฯ ยังคงมีดีมานด์จากผู้บริโภคอยู่มาก ทั้งในแง่ของการซื้อเพื่ออยู่อาศัยเอง และการลงทุนในระยะยาว สำหรับราคาขายโดยเฉลี่ยของคอนโดในเขตกรุงเทพฯ อยู่ที่ระดับ 94,000 บาท/ตารางเมตร ซึ่งปรับขึ้นจาก 88,000 บาท/ตารางเมตร หรือเพิ่มขึ้น 7% จากช่วงปลายปีที่ผ่านมา
หากพิจารณาแบ่งตามพื้นที่ในแต่ละโซน เริ่มจากศูนย์กลางธุรกิจ มีอัตรายอดขาย (take-up rate) เฉลี่ยอยู่ที่ 74% โดยโซนที่มียอดขายสูงสุดในย่านนี้คือคอนโดมิเนียมที่อยู่ในบริเวณสีลม-สาทร-พระราม 4 (ราคา/ตารางเมตร ต่ำสุดอยู่ที่ 88,000 บาท สูงสุดอยู่ที่ 360,000 บาท เฉลี่ยต่อตารางเมตรตกอยู่ที่ 148,000 บาท) นอกจากนี้ เพลินจิต-ชิดลม-ราชดำริ เป็นย่านที่มีคอนโดมิเนียมราคาเฉลี่ยต่อตารางเมตรสูงสุดในกรุงเทพฯ อยู่ที่ 225,000 บาท (ต่ำสุดที่ 133,000 บาท และสูงสุดคือ 340,000 บาท)
ต่อมาคือกรุงเทพฯ เหนือ มีอัตรายอดขายเฉลี่ยอยู่ที่ 68% ย่านที่ได้รับความสนใจมากที่สุดคืองามวงศ์วาน-แจ้งวัฒนะ (ราคา/ตารางเมตร ต่ำสุดอยู่ที่ 53,000 บาท สูงสุดอยู่ที่ 70,000 บาท เฉลี่ยต่อตารางเมตรตกอยู่ที่ 62,000 บาท) ส่วนกรุงเทพฯ ตะวันออก มีอัตรายอดขายเฉลี่ยอยู่ที่ 68% ย่านที่ได้รับความสนใจมากที่สุดคือเกษตรนวมินทร์-รามอินทรา (ราคา/ตารางเมตร ต่ำสุดอยู่ที่ 50,000 บาท สูงสุดอยู่ที่ 93,000 บาท เฉลี่ยต่อตารางเมตรตกอยู่ที่ 76,000 บาท) ด้านกรุงเทพฯ ตะวันตก มีอัตรายอดขายเฉลี่ยอยู่ที่ 63% ซึ่งที่ผ่านมากมีการขยายตัวเป็นอย่างดี จากการที่รถไฟฟ้าส่วนต่อขยายเปิดบริการ ย่านที่ได้รับความสนใจมากที่สุดคือปิ่นเกล้า-จรัญสนิทวงศ์ (ราคา/ตารางเมตร ต่ำสุดอยู่ที่ 60,000 บาท สูงสุดอยู่ที่ 110,000 บาท เฉลี่ยต่อตารางเมตรตกอยู่ที่ 86,000 บาท)
อย่างไรก็ตามหากพิจารณาเฉพาะคอนโดมิเนียมที่อยู่ติดสถานีรถไฟฟ้านั้น พบว่า 3 สถานีที่มีราคาเฉลี่ยต่อตารางเมตรสูงสุดคือ สถานีราชดำริอยู่ที่ 270,000 บาท/ตารางเมตร รองลงมาคือ ราชเทวีและเพลินจิตอยู่ที่ 220,000 บาท/ตารางเมตร และอันดับ 3 คือ พร้อมพงษ์และสุรศักดิ์ อยู่ที่ 200,000 บาท/ตารางเมตร
“ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าในโซนที่สามารถขายได้ในระดับราคาที่สูงและอัตรายอดขายสูงจะกระจุกตัวอยู่ใกล้ระบบขนส่งมวลชน (BTS, MRT และส่วนต่อขยาย) เนื่องจากเป็นเขตธุรกิจการค้าและเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของชาวต่างชาติ เช่น สถานีอารีย์ ซึ่งเป็นสถานีที่มีศักยภาพสูงเพราะอยู่ใกล้สถานที่ราชการ และใกล้ย่านธุรกิจ นอกจากนี้ในย่านรัชดา-ลาดพร้าวเองก็ถูกจับตามองว่าเป็นทำเลที่มีศักยภาพ และอาจจะกลายเป็นศูนย์กลางธุรกิจของไทยแห่งใหม่ได้
สำหรับครึ่งหลังปี 2557 มองว่าตลาดคอนโดมิเนียมในกรุงเทพฯ จะมีอัตรายอดขาย หรือ take-up-rate อยู่ในระดับที่น่าพอใจเช่นเดิม ไม่น่าจะปรับขึ้นมากถึงแม้ว่าความมั่นใจของผู้บริโภคจะกลับมาและยอดการขายโครงการใหม่ๆ ที่พึ่งเปิดตัวไปในช่วงไตรมาสที่ 3 ได้รับการตอบรับที่ดี แต่ผู้พัฒนาโครงการต่างๆ ก็จะทยอยเปิดโครงการใหม่มากขึ้นหลังจากที่แผนการเปิดตัวได้ถูกเลื่อนมาจากความไม่สงบทางการเมืองเมื่อช่วงต้นปี
นอกจากนี้ คอนโดมิเนียมที่อยู่ในโซนใหม่ๆ เช่น บางแวก ท่าพระ จรัญสนิทวงศ์ จะมีอัตราการเติบโตที่ดีเนื่องจากการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายมีความคืบหน้าไปมาก และมีความน่าสนใจถึงแม้จะไม่ได้อยู่ใจกลางเมืองแต่โซนนี้ถือว่ามีศักยภาพ ขณะที่ที่ดินในพื้นที่ใจกลางเมืองซึ่งมีจำกัดจะถูกเก็บไว้สำหรับพัฒนาโครงการระดับบนมากกว่า”นายภูมิภักดิ์ กล่าวในตอนท้าย