- Details
- Category: อสังหาริมทรัพย์ฯ
- Published: Thursday, 01 March 2018 13:41
- Hits: 4917
BAM เป้าปี 61 ซื้อ NPL-NPA ราว 1 หมื่นลบ.ก้าวสู่ Digital Enterprise-ย่ำความมุ่งมั่นเข้าตลาดหุ้น พร้อมจัดแคมเปญฉลอง 20 ปี
นายบรรยง วิเศษมงคลชัย รักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BAM เผยแผนกลยุทธ์ปี 2561 คาดมีผลการดำเนินงานเติบโตต่อเนื่อง ประมาณการเป้าหมายการสร้างรายได้จากการบริหารจัดการ NPL และ NPA รวมทั้งสิ้น 16,436 ล้านบาท แบ่งเป็น รายได้จาก NPL จำนวน 10,220 ล้านบาท และรายได้จาก NPA จำนวน 6,216 ล้านบาท รวมทั้งประมาณการกำไรสุทธิ 4,193 ล้านบาท ขณะที่วางเป้าหมายเพิ่มขนาดสินทรัพย์ โดยประมูลซื้อจากสถาบันการเงินคิดเป็นเงินลงทุนจากการซื้อสินทรัพย์ 8,315 ล้านบาท
ในปีนี้ BAM ตั้งเป้าซื้อทรัพย์ทั้ง NPL และ NPA ราว 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะมีการขายทรัพย์ออกมามากกว่าปีก่อน โดยตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน BAM ได้เข้าซื้อทรัพย์มาแล้วกว่า 500 ล้านบาท จากในปี 60 มีการขายทรัพย์ทั้ง 2 ประเภทออกมาราว 2 หมื่นล้านบาท และ BAM เข้าซื้อได้ราว 1 หมื่นล้านบาท ส่วนใหญ่เป็น NPL
นายบรรยง กล่าวว่า ยอด NPL ในระบบธนาคารพาณิชย์ไทยและธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศในขณะนี้มีอยู่ราวม 429,030 ล้านบาท และธนาคารพาณิชย์ไทย มียอด NPA คิดเป็นมูลค่ารวม 86,232 ล้านบาท ส่วนแนวโน้ม NPL ในระบบสถาบันการเงินปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 3% ทรงตัวในระดับเดียวกับปี 2560
พร้อมระบุว่า ในปี 2561 มีกลยุทธ์บริหารจัดการ NPA ให้มีสภาพพร้อมขาย โดยจะเน้นการปรับปรุงซ่อมแซม (Renovate) ทรัพย์ให้มีสภาพดี และสวยงาม เพื่อนำออกจำหน่ายในราคาที่ไม่แพง ซึ่งในปีนี้ได้รับการอนุมัติงบ Renovate มาแล้ว 80 ล้านบาท และเตรียมขอเพิ่มเป็น 200-300 ล้านบาท รวมทั้งมีโครงการที่จะช่วยให้ผู้ซื้อสามารถเป็นเจ้าของทรัพย์ได้ง่ายขึ้น
ด้านการจำหน่ายทรัพย์ ได้กำหนดกลยุทธ์ทางการจำหน่ายและการส่งเสริมการขาย โดยการปรับปรุง website ให้เป็น Market Place รวมทั้งจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย การจัดโปรโมชั่น แคมเปญ กลยุทธ์ให้เหมาะกับกลุ่มทรัพย์แต่ละประเภท และกลุ่มลูกค้าเป้าหมายทั้งบ้าน ที่ดิน คอนโดมิเนียม ตลอดจนทรัพย์ลงทุน
"สำหรับ การบริหารจัดการ NPL นั้น มีการกำหนดแนวทางการประนอมหนี้ให้เหมาะสมกับกลุ่มลูกค้า พร้อมปรับโครงสร้างหนี้รายย่อยให้ได้ข้อยุติโดยเร็ว เพื่อสร้างกระแสเงินสดที่แน่นอนในระยะยาว และเปิดโอกาสให้ลูกค้าสามารถประนอนหนี้กับ BAM ได้ทุกขั้นตอน" นายบรรยงกล่าว
ด้านนางทองอุไร ลิ้มปิติ ประธานกรรมการ BAM กล่าวว่า ทิศทางการดำเนินงานในปี 2561 นี้ BAM จะมุ่งดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องกับการเป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์ที่ดีที่สุดของประเทศ ด้วยการวางรากฐานสู่การเป็น Digital Enterprise ที่มุ่งเน้นการให้บริการลูกค้าด้วยการตลาด Digital เพื่อให้เข้าถึงความต้องการของลูกค้าทุกกลุ่ม ขณะเดียวกัน จะใช้ศักยภาพของ BAM ดำเนินงานให้ครอบคลุมทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นการช่วยเหลือลูกค้า NPL และ NPA โดยมีมาตรการและโครงการต่างๆ เพื่อมุ่งช่วยเหลือลูกค้าที่ปรับโครงสร้างหนี้ และลูกค้าที่ซื้อทรัพย์สินรอการขายของ BAM และจะถือปฏิบัติต่อลูกค้าของ BAM เทียบเท่ากับลูกค้าชั้นดีของธนาคารพาณิชย์
ในปีนี้ เป็นโอกาสที่ BAM ครบรอบ 20 ปีในเดือน พ.ค.2561 ก็จะมีการจัดแคมเปญร่วมเฉลิมฉลองหลากหลายรูปแบบที่จะล้อไปกับตัวเลข 20 โดยจะประกาศในเดือน เม.ย.2561 เช่น โครงการช่วยเหลือกลุ่มลูกหนี้ SME ที่เป็น NPL ด้วยเงื่อนไขผ่อนปรนมากขึ้น โครงการที่อยู่อาศัยสำหรับผู้ที่มีอายุในระดับต่าง ๆ อาทิ ผู้มีอายุ 40 ปี, วัยก่อนเกษียณ , อายุ 60 ปี หรือ วัยเกษียณ โครงการที่จะช่วยเปลี่ยนผู้เช่าอาศัยให้เป็นเจ้าของทรัพย์ โครงการช่วยผู้ที่มีโอกาสเข้าถึงสินเชื่อได้น้อยให้สามารถมีลบ้านเป็นของตัวเอง เป็นต้น
รวมทั้งขยายโครงการเดิมที่ได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ โครงการสุขใจได้บ้านคืน เพื่อเปิดโอกาสให้ลูกค้ารายย่อยที่มีเป็นจำนวนมากในปัจจุบันให้สามารถชำระหนี้และนำหลักประกันคืนไปด้วยเงื่อนไขผ่อนปรน โครงการสบายคอนโด โครงการคอนโดมหาชน โครงการบ้านสบาย โครงการที่ดินเพื่อการออม โครงการบ้านสวนสุขใจ เป็นต้น
ส่วนผลการดำเนินงานในปี 2560 ที่ผ่านมา ปัจจุบัน BAM มีสินทรัพย์รวมจำนวน 99,933 ล้านบาท มีรายได้ทั้งหมด 7,653 ล้านบาท กำไรสุทธิ 4,500 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิต่อหุ้น 1.67 บาท โดย ณ วันที่ 31 ธ.ค.2560 BAM มี NPL จำนวน 73,809 ราย คิดเป็นภาระหนี้รวม 442,052 ล้านบาท และมี NPA จำนวน 16,377 รายการ มูลค่า 45,177 ล้านบาท
BAM มีรายได้จากการปรับโครงสร้างหนี้และจำหน่ายทรัพย์รวมทั้งสิ้น 15,269 ล้านบาท คิดเป็น 99.95% เมื่อเทียบกับเป้าหมาย 15,277 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 4,500 ล้านบาท มีการเพิ่มขนาดสินทรัพย์ โดยรับซื้อรับโอน NPL และ NPA จากสถาบันการเงินเข้ามาบริหารจัดการจำนวน 10,963 ล้านบาท
ส่วนแผนการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ขณะนี้ยังคงเดินหน้าตามขั้นตอน หลังจากที่ได้ว่าจ้างที่ปรึกษาทางการเงิน (FA) เพื่อเตรียมความพร้อมในด้านต่าง ๆ ทั้งระบบบัญชี การบริหารงาน รวมถึงความโปร่งใส ซึ่ง BAM ยังคงมุ่งมั่นที่จะไปสู่เป้าหมายการเป็นองค์กรที่ดีที่สุดแห่งหนึ่ง ซึ่งการบริหารหนี้เป็นจุดท้าทายสำหรับการสร้างความเข้าใจให้กับนักลงทุน แต่ก็เชื่อว่าในปัจจุบันสังคมมีความเข้าใจธุรกิจประเภทนี้มากขึ้น โดยช่วงที่ผ่านมาก็ได้รับความสนใจจากผู้ลงทุนในต่างประเทศหลายรายที่สอบถามเข้ามา เพราะธุรกิจบริหารหนี้ประเภท bad bank ในต่างประเทศมีหลายรายที่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไปแล้ว เช่น ในจีนและเกาหลีใต้ เป็นต้น
ด้านนายบรรยง กล่าวว่า จะพยายามเดินหน้าผลักดัน BAM เข้าตลาดหลักทรัพย์โดยเร็ว โดยเชื่อว่าจะได้ข้อยุติเร็ว ๆ นี้
อินโฟเควสท์