- Details
- Category: ยานยนต์
- Published: Tuesday, 28 November 2017 16:07
- Hits: 4934
Ride your Passion Drive the Future โครงการประกวดนวัตกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ ยกระดับอุตสาหกรรมสู่ยุคยานยนต์สมัยใหม่ เพิ่มศักยภาพการแข่งขันในเวทีโลก
ประเทศไทยถือเป็นหนึ่งในผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ที่มีบทบาทสำคัญในเวทีโลกรายหนึ่งโดยเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์อันดับที่ 15 ของโลกและเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียนมานานกว่า 10 ปี กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์มีผู้ผลิตมากกว่า 2,000 ราย ในช่วง 5 ที่ผ่านมา (ปี 2555-2559) มีจำนวนการส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์เติบโตเฉลี่ยสูงถึง 4% ซึ่งสูงกว่าความต้องการรถยนต์ของโลกที่ขยายตัวขึ้นกว่า 3% (ข้อมูลจาก Economic Intelligence Center (EIC)) อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของโลกในช่วงที่ผ่านมา ก่อการเปลี่ยนแปลงให้กับธุรกิจการค้าหลากหลายรูปแบบ ‘อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์’ เป็นอีกหนึ่งภาคธุรกิจที่หนีไม่พ้นการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน
การมาของ'ยานยนต์สมัยใหม่'ที่มุ่งเน้นการใช้นวัตกรรม เทคโนโลยี และพลังงานสะอาด กำลังเริ่มต้นขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การผลิตยานยนต์แบบเดิม อาจไม่สามารถตอบรับเทรนของโลกได้อีกต่อไป และอาจทำให้โดนแซงหน้าจากประเทศคู่แข่งขันดังนั้นผู้ผลิตจึงต้องปรับตัวให้ทัน ทั้งด้านการออกแบบ คิดค้น โดยใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่มากยิ่งขึ้น เพื่อเร่งพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตอบรับกับทิศทางดังกล่าวขณะเดียวกันยังเป็นการเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในยุคที่ตลาดเปิดเสรี
'Ride your Passion Drive the Future' โครงการประกวดนวัตกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ จากความร่วมมือระหว่างบริษัท แอร์โรคลาส จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายชิ้นส่วนอุปกรณ์และตกแต่งยานยนต์ กับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ได้จัดโครงการประกวดนวัตกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ภายใต้โจทย์ ‘Aeroklas 4.0 World Pickup Truck Accessory’โดยเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ทั้งนักศึกษา และผู้ที่สนใจทั่วไป ได้แสดงความสามารถ โดยใช้ความรู้พื้นฐานด้านวิศวกรรม และการออกแบบ สร้างสรรค์ผลงาน โดยผลงานที่นำเสนอจะต้องอยู่บนหลักการที่สามารถนำไปใช้ได้จริง สร้างมูลค่าได้ และตอบสนองรูปแบบไลฟ์สไตล์ของผู้ขับขี่ยานยนต์
นายเอกวัฒน์ วิทูรปกรณ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอร์โรคลาส จำกัด เปิดเผยว่า นับเป็นครั้งแรกที่แอร์โรคลาส ได้จัดโครงการแข่งขันในลักษณะนี้ขึ้น ต้องขอขอบคุณมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ที่ร่วมกันสร้างสรรค์โครงการที่เป็นประโยชน์ ทางมหาวิทยาลัยฯ มีส่วนสำคัญที่สนับสนุนให้นักศึกษาได้เรียนรู้ว่าภาคอุตสาหกรรมนั้นทำงานอย่างไร เพื่อสร้าง Entrepreneur ในอนาคต ส่วน แอร์โรคลาส คาดหวังที่จะเห็นไอเดียใหม่ๆ ของคนรุ่นใหม่นำเสนอผลงานนวัตกรรมที่สร้างสรรค์ สร้างความแตกต่างที่เป็นประโยชน์ และสามารถนำไปต่อยอดได้ในอนาคต จากการทำกิจกรรมร่วมกันกับน้องๆ มา 3 วัน โดยทีมงานของบริษัท และอาจารย์จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีที่ร่วมกันเป็น mentor และผู้ตัดสินการประกวด ทำให้ได้ทีมที่ผ่านเข้ารอบสุดท้ายรวม 6 ทีมจากทั้งสิ้น 15 ทีม โดยทีมที่ชนะเลิศมาจากภาควิชาวิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (FIBO) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี โดยผลงานที่ได้รับรางวัลต่างๆ นอกจากได้รับเงินรางวัลแล้ว แอร์โรคลาส จะนำมาต่อยอดสร้าง prototype และผลิตภัณฑ์ต่อไป