- Details
- Category: ยานยนต์
- Published: Wednesday, 05 October 2016 08:54
- Hits: 6258
ทีดีอาร์ไอ ชี้เป้ารัฐบาลปรับนโยบายส่งเสริมการผลิตยานยนต์ยุคใหม่ เป็นต่อมิตรสิ่งแวดล้อม
ทีดีอาร์ไอ ชี้อุตสาหกรรมชิ้นส่วนและยานยนต์ไทยต้องปรับทิศทางการผลิต หวั่นไทยก้าวไม่ทันเทคโนโลยีและความต้องการตลาดโลก แนะผู้ผลิตปรับตัว เร่งรัฐผุดนโยบายสนับสนุน ดันไทยไปสู่ปลายทางเป็นฐานการผลิตยานยนต์ยุคใหม่แห่งอนาคตที่มาพร้อมกับความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) จัดงานสัมมนาสาธารณะ’ขับเคลื่อนสู่ยานยนต์ยุคใหม่ ประเทศไทยจะไปทางไหน’เพื่อวิเคราะห์ทิศทางยานยนต์ยุคใหม่แห่งอนาคตและนำเสนอประเด็นด้านนโยบายที่สำคัญ เพื่อให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยก้าวทันความเปลี่ยนแปลงที่เริ่มชัดเจนมากขึ้นว่า ในอนาคตรถยนต์ที่ไทยผลิตมากจะได้รับความนิยมลดลงเรื่อยๆในตลาดโลก อันเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยียานยนต์และแนวโน้มของโลกที่มีความต้องการการประหยัดพลังงานรักษาสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น
การเปลี่ยนแปลงสำคัญนี้ เห็นได้จากแนวโน้มตลาดโลกต้องการเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตามมาตรการ CAFE (Corporate Average Fuel Efficiency) ซึ่งเป็นเกณฑ์ควบคุมการนำเข้ารถยนต์ โดยพิจารณาจากค่าเฉลี่ยคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งจะแพร่หลายและเข้มงวดมากขึ้น ดังที่ไม่นานมานี้ ค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่อย่าง โฟล์คสวาเกน และ มิตซูบิชิ ประสบปัญหาในการปฏิบัติตามาตรฐานเรื่องสิ่งแวดล้อม จนต้องออกมายอมรับความผิดต่อสาธารณะที่ไม่สามารถปฏิบัติได้ตามมาตรฐานจริง
จากความก้าวหน้าและความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ทำให้ประเทศเพื่อนบ้านของเรา อย่างมาเลเซีย เริ่มปรับตัวเพื่อให้เป็นฐานการผลิตยานยนต์ยุคใหม่โดยการประกาศนโยบายสนับสนุนการลงทุนเพื่อผลิตยานยนต์ที่มีประสิทธิภาพในการใช้พลังงานสูง (Energy Efficient Vehicle: EEV) ตั้งแต่ปี 2557 ในขณะที่ประเทศอินโดนีเซียกำลังขยับมาใกล้ไทยในฐานะฐานการผลิตรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาค แนวโน้มของโลกและของภูมิภาคเหล่านี้เป็นสัญญาเตือนว่าถึงเวลาแล้วที่อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยต้องเร่งปรับตัว
ดร.วิชสิณี วิบุลผลประเสริฐ นักวิชาการทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า ที่ผ่านมาไทยไม่ได้สนับสนุนให้รถยนต์ที่ผลิตอยู่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างเต็มที่ สิ่งที่ต้องปรับปรุงจึงควรเริ่มจากอัตราภาษีสรรพสามิตยานยนต์ เพราะที่ผ่านมาแม้จะมีการปรับปรุงโครงสร้างภาษีให้สอดคล้องกับอัตราการปล่อยมลภาวะแล้ว แต่ก็ยังไม่สะท้อนการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อย่างแท้จริง คือ รถยนต์ที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เท่ากันๆ กัน กลับจ่ายภาษีสรรพสามิตไม่เท่ากัน หรือกรณี รถกระบะและรถอีโคคาร์รุ่นต่างๆที่ไม่ว่าจะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากเท่าไหร่ ก็จ่ายภาษีสรรพสามิตในระดับต่ำ หากปรับกลไกดังกล่าวจะช่วยเสริมให้ผู้ผลิตรถยนต์ปรับตัวให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อม ประเทศไทยจึงจะแข่งขันในตลาดโลกได้
หลังจากนี้ หัวใจสำคัญของการปรับตัวของไทยจะต้องนำเป้าหมายด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมมาเป็นเป้าหมายของนโยบายอุตสาหกรรม ดังที่นายสุนทร ตันมันทอง นักวิจัยทีดีอาร์ไอ ชี้ให้เห็นว่านโยบายทั้งสองด้านต้องผลักดันอุตสาหกรรมยานยนต์ไปพร้อมกัน เพราะในด้านเทคโนโลยีหลักที่กำลังเปลี่ยนแปลง คือ เทคโนโลยีการขับเคลื่อนชิ้นส่วนบางกลุ่ม เช่น เครื่องยนต์และเกียร์อาจได้รับผลกระทบจากการเข้ามาของรถยนต์ไฟฟ้า อย่างไรก็ตามยังมีชิ้นส่วนอื่นอีกหลายกลุ่มที่ยังอยู่ แต่ผู้ผลิตไทยจะต้องปรับตัวรับกับความต้องการของตลาด
โดยเป้าหมายด้านอุตสาหกรรมที่ไทยต้องปรับ คือ การยกระดับมูลค่าชิ้นส่วนยานยนต์ยุคใหม่เพื่อเป็นการผลิตในประเทศ โดยเฉพาะแบตเตอรี่และมอเตอร์ เนื่องจากเป็นชิ้นส่วนสำคัญของยานยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า อีกทั้งซอฟต์แวร์และเซนเซอร์ก็เป็นนวัตกรรมที่ต้องมีอยู่ในยานยนต์ยุคใหม่แห่งอนาคตใช้เชื่อมต่อสื่อสารและสนับสนุนการขับเคลื่อนในทุกเทคโนโลยี ซึ่งงานศึกษาศักยภาพประเทศไทยเพื่อเป็นชาติการค้า ตามนโยบายกระทรวงพาณิชย์ พบว่า ประเทศไทยมีจุดแข็งในการสร้างมูลค่าเพิ่มในชิ้นส่วนเหล่านี้ เนื่องจากไทยมีผู้พัฒนาซอฟต์แวร์สำหรับรถยนต์หลายรายและเป็นฐานการพัฒนาซอฟต์แวร์ที่ใหญ่สุดในอาเซียน
เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยเดินหน้าต่อ ภาครัฐจึงต้องมีนโยบายสนับสนุนให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตชิ้นส่วนสำคัญของยานยนต์ยุคใหม่แห่งอนาคตที่สะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยกำหนดมาตรการส่งเสริมการใช้รถยนต์แห่งอนาคต ได้แก่ การยกเว้นภาษีนำเข้าส่วนประกอบแบตเตอรี่และมอเตอร์ ที่จะทำให้เกิดตลาดในประเทศและการลงทุนจากผู้ผลิต พร้อมกับเร่งวิจัยพัฒนาวัสดุสมัยใหม่ที่มีน้ำหนักเบาแต่แข็งแรงเพื่อใช้ในการผลิตชิ้นส่วน
ในระยะสั้น ควรจำกัดการลงทุนสถานีอัดประจุ เพียงเพื่อทดลองก่อนพิจารณาลงทุนมากขึ้นในอนาคต ตามพัฒนาการของตลาดโดยรัฐร่วมทุนกับเอกชน
หากประเทศไทยมีการเตรียมพร้อมตั้งแต่ตอนนี้ จะทำให้เป้าหมายด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม คือ ลดมลภาวะก๊าซเลือนกระจก และเป้าหมายอุตสาหกรรม คือ ยกระดับมูลค่าเพิ่มในห่วงโซ่มูลค่าอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยจะถูกบูรณาการเข้าด้วยกัน ผู้ผลิตไทยจะสามารถปรับตัวให้สอดคล้องกับตลาดยานยนต์ยุคใหม่แห่งอนาคตได้ทันอย่างมีทิศทาง.