- Details
- Category: ยานยนต์
- Published: Sunday, 04 January 2015 19:10
- Hits: 3852
ไทยวางแผนผลิตรถยนต์ไฟฟ้าฉีกหนีคู่แข่ง รั้งผู้นำอุตฯรถยนต์อาเซียน
แนวหน้า : สมาพันธ์อุตฯยานยนต์อาเซียนคาดปี’58 ยอดผลิตกว่า 4 ล้านคัน โต 5-7% ชี้ อินโดฯ มาเลเซีย คู่แข่งสำคัญของไทย ด้านอุตฯยานยนต์ไทยเร่งฉีกหนีคู่แข่ง ด้วยการวางแผน 5 ปีพัฒนาศักยภาพต่อยอดสู่การผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเกาะกระแสโลกอนาคต ตามรอยยุโรป
นางเพียงใจ แก้วสุวรรณ ประธานสมาพันธ์อุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอาเซียนเปิดเผยว่า ในปี 2557 อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยซบเซาพอสมควร ทำให้ฉุดยอดการผลิตรวมของภูมิภาคอาเซียนลดลงประมาณ 25% โดยมียอดการผลิตไม่ถึง 4 ล้านคัน จากเดิมที่ประมาณการไว้ว่าอาเซียนจะมียอดผลิตรวมสูงกว่า 4 ล้านคัน ซึ่งในจำนวนนี้เป็นการผลิตจากไทยประมาณ 2 ล้านคัน หรือคิดเป็นสัดส่วนกว่า 50% ของการผลิตในอาเซียนทั้งหมด รองลงมาเป็นประเทศอินโดนีเซียมียอดผลิต 1.2-1.3 ล้านคัน และมาเลเซียประมาณ 8 แสนคัน
สำหรับ ยอดการผลิตรถยนต์ในปี2558 นี้คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้น โดยจะมียอดรวมมากกว่า 4 ล้านคัน เพราะทุกค่ายรถยนต์ต่างจะต้องหาวิธีในการฟื้นคืนยอดขายในส่วนที่หายไปจากปีนี้ รวมทั้งทิศทางเศรษฐกิจที่น่าจะดีกว่าปี 2557 โดยเฉพาะเศรษฐกิจของประเทศไทยที่เป็นผู้นำในอุตสาหกรรมยานยนต์ที่คาดว่าจะขยายตัว 4-5% ขณะที่ตลาดหลักอย่างสหรัฐอเมริกาก็เริ่มมีการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ชัดเจน จึงทำให้มีการสั่งซื้อรถยนต์เพิ่มขึ้น
“ในปี 2558 คาดว่ายอดการผลิตรถยนต์ของอาเซียนจะเพิ่มขึ้นจากปี 2557 ประมาณ 5-7% มีจำนวนมากกว่า 4 ล้านคัน แต่จะมีจำนวนที่แน่นอนเท่าไรยังไม่สามารถประเมินได้ในขณะนี้ เพราะจะต้องรอดูยอดรวมในปี 2557 ทั้งหมดก่อน จึงจะสามารถประเมินยอดการผลิตในปี2558อย่างชัดเจนได้อีกครั้ง” นางเพียงใจ กล่าว
ส่วนประเทศคู่แข่งในอุตสาหกรรมรถยนต์ที่สำคัญของไทย ก็คือประเทศอินโดนีเซียที่ในปัจจุบันมียอดการผลิตประมาณ 50% ของยอดการผลิตของไทย อีกทั้งรัฐบาลอินโดนนีเซียก็มีแผนที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์ขึ้นมาแข่งกับประเทศไทยโดยอาศัยความได้เปรียบของตลาดภายในประเทศที่มีขนาดใหญ่ แต่อย่างไรก็ตาม จากการประเมินขณะนี้ศักยภาพในอุตสาหกรรมรถยนต์ของประเทศอินโดนีเซียยังตามหลังประเทศไทยประมาณ 5-10 ปี และเป็นการผลิตเพื่อป้อนตลาดภายในประเทศเพียงอย่างเดียว ขณะที่ประเทศไทยกว่าครึ่งหนึ่งเป็นการผลิตเพื่อส่งออกไปยังประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น ญี่ปุ่น และยุโรป ทำให้มีมาตรฐานการผลิตรถยนต์ และคุณภาพรถยนต์สูงในระดับโลก มีค่าการปล่อยคาร์บอนใดออกไซด์ในระดับต่ำ และมีมาตรฐานเครื่องยนต์ในระดับยูโร 4 และกำลังก้าวไปสู่ยูโร 5 ส่วนมาตรฐานรถยนต์ของอินโดนีเซียอยู่ในระดับยูโร 2
ขณะที่ประเทศมาเลเซียก็นับเป็นคู่แข่งที่สำคัญ เพราะรัฐบาลได้เปิดเสรีอุตสาหกรรมยานยนต์ จากเดิมมุ่งที่จะปกป้องแบรนด์รถยนต์ของตัวเอง ไปเป็นการเปิดให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมรถยนต์ได้อย่างเต็มที่ เพื่อดึงดูดเทคโนโลยีการผลิตรถยนต์ใหม่ๆ เข้าสู่ประเทศ และรัฐบาลมาเลเซียยังได้วางแผนพัฒนาอุตสาหกรรมนี้ในระยะยาว
แต่ทั้งนี้ แม้ว่าการแข่งขันในอาเซียนจะรุนแรงขึ้น แต่ประเทศไทยก็ยังมีข้อได้เปรียบมากกว่าประเทศอื่น ซึ่งนอกจากจะเป็นคุณภาพการผลิตที่เหนือกว่าแล้ว เรายังได้ก้าวหน้าไปอีกขั้นในการส่งเสริมโครงการอีโคคาร์ 1 และ 2 โดยเฉพาะโครงการอีโคคาร์ 2 นี้ มีค่ายรถยนต์สนใจเข้าร่วมโครงการถึง 10 ค่าย และได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) ไปแล้ว 9 ราย หากผู้ประกอบการเหล่านี้สามารถผลิตรถยนต์ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้กับบีโอไอ ก็จะมียอดการผลิตรถยนต์เพิ่มขึ้นถึง 1 ล้านคัน ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้ ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยยังคงเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมรถยนต์ของอาเซียนอีกนาน
นางเพียงใจ กล่าวถึงการปรับตัวของอุตสาหกรรมรถยนต์ไทยในอนาคตว่า ภาคเอกชนได้หารือกับรัฐบาลมีความเห็นตรงกันว่าก้าวต่อไปของอุตสาหกรรมรถยนต์ไทยในอีก 5 ปีข้างหน้า ควรจะหันไปสู่การพัฒนารถยนต์พลังงานไฟฟ้า ซึ่งเป็นแนวทางอุตสาหกรรมรถยนต์ของโลก ในขณะนี้หลายประเทศในยุโรปต่างให้การส่งเสริมในอุตสาหกรรมด้านนี้ หากไทยเตรียมพร้อมก็จะต่อยอดทำให้ไทยยังเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมนี้ได้อีกนาน
สำหรับ การผลิตรถยนต์ของไทยภายหลังจากที่รัฐบาลได้แก้กฎหมายที่จำกัดน้ำหนักรถกระบะไม่เกิน 1.6 พันตัน เป็นไม่เกิน 2.2 พันตันทำให้ผู้ประกอบการสามารถพัฒนารถกระบะได้อีกมาก ส่งผลให้ตลาดรถกระบะขยายตัวมากขึ้น โดยเฉพาะในตลาดเอเชีย ตะวันออกกลาง ขณะที่สัดส่วนการซื้อรถยนต์ของไทยหลังมีโครงการอีโคคาร์ 1 และ 2 ทำให้สัดส่วนการใช้รถเก๋งเพิ่มขึ้นเป็น 50% และยอดใช้รถกระบะมีสัดส่วน 50% จากเดิมที่มียอดการใช้กระบะสูงถึง 65% และรถเก๋ง 35%