- Details
- Category: ยานยนต์
- Published: Wednesday, 31 August 2022 13:40
- Hits: 4398
อว. ร่วมโชว์ผลงานวิจัยเชิงพาณิชย์ ในงานแสดง ‘ยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง : มิติใหม่ของกรุงเทพมหานคร (EV Conversion : Beyond BMA)’ ณ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า)
วันที่ 26 สิงหาคม 2565 นายธนาคาร วงษ์ดีไทย เลขานุการร่วมคณะอนุกรรมการแผนงานกลุ่มระบบคมนาคมแห่งอนาคต หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ร่วมเสวนา “ยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง : มิติใหม่ของกรุงเทพมหานคร (EV Conversion : Beyond BMA)” โดยมี ผู้แทนหน่วยงานกรุงเทพมหานคร คณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง และระบบกักเก็บพลังงาน สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) บริษัท พนัส แอสเซมบลีย์ จำกัด บริษัท อีซียูช๊อป 1 จำกัด และการไฟฟ้านครหลวง เข้าร่วมงาน
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมออกบูท และนำแสดงยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง จากการสนับสนุนทุนวิจัยพัฒนาของหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับ มหาวิทยาลัยและเอกชน นำผลงานวิจัยรถบรรทุก 10 ล้อไฟฟ้าดัดแปลง รถบรรทุก 6 ล้อไฟฟ้าดัดแปลง รถกระบะไฟฟ้าดัดแปลง รถโดยสารไฟฟ้าดัดแปลง และรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง เพื่อการผลิตในเชิงพาณิชย์ ที่พัฒนาโดยคนไทย 100% ร่วมจัดแสดงภายในงานการนำเสนอผลงานทางวิชาการเรื่อง “ยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง : มิติใหม่ของกรุงเทพมหานคร (EV Conversion : Beyond BMA)” วันศุกร์ที่ 26 สิงหาคม 2565 ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) และการนำแสดงตัวอย่างผลงาน ยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง ณ บริเวณลานคนเมือง โดยได้รับเกียรติจากนายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นประธานพิธีเปิดการนำเสนอผลงานทางวิชาการของผู้เข้ารับการฝึกอบรมหลักสูตรนักบริหารมหานคร ระดับสูง รุ่นที่ 17 โดยมีผู้บริหารระดับสูงของกรุงเทพมหานคร หน่วยงานภายนอก สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย ผู้ประกอบการด้านยานยนต์ไฟฟ้า และประชาชนทั่วไปเข้าร่วมชมงาน
สำหรับผลงานวิชาการ เรื่อง ยานยนต์ไฟฟ้าตัดแปลง : มิติใหม่ของกรุงเทพมหานคร มีเป้าหมายเพื่อศึกษาแนวคิดเกี่ยวกับการดัดแปลงยานยนต์ของหน่วยงานราชการสังกัดกรุงเทพมหานครให้เป็นยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง (EV Conversion) และจัดทำเป็นเสนอแนะเชิงนโยบาย พัฒนาเป็นแนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนาและตัดแปลงยานยนต์ไฟฟ้าของกรุงเทพมหานครให้เกิดผลเป็นรูปธรรม สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนากรุงเทพมหานครให้เป็นเมืองน่าอยู่ ตามนโยบายของประเทศ แผนพัฒนากรุงเทพมหานคร ระยะ 20 ปี และมีความสอดคล้องกับนโยบายนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (5 ดี ประกอบด้วย 1. บริหารจัดการดี 2. เดินทางดี 3. สิ่งแวดล้อมดี 4. เศรษฐกิจดี และ 5. สุขภาพดี)
นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กิจกรรมนี้เป็นงานที่ตรงกับนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ซึ่งกรุงเทพมหานครมีโครงการทดลองทำรถต้นแบบดัดแปลงที่เขตสาทร จำนวน 10 คัน ซึ่งรถดังกล่าวจะสามารถจดทะเบียนกับกรมการขนส่งได้ ในอนาคตกรุงเทพมหานครจะไม่ซื้อรถยนต์ใหม่ โดยจะนำรถเก่าที่มีอายุเกินกว่า 7 ปี และมีสภาพที่ดี ปรับเป็นรถยนต์ไฟฟ้า รวมถึงในอนาคตโรงเรียนฝึกอาชีพกรุงเทพมหานคร สำนักพัฒนาสังคม จะได้จัดหลักสูตรเพื่ออบรมการดัดแปลงรถยนต์เพื่อฝึกอบรมให้แก่ประชาชนผู้สนใจนำไปต่อยอด เพื่อลดฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ทำให้ประชาชนมีสุขภาพดี และทำให้กรุงเทพมหานครกลายเป็นเมืองที่น่าอยู่
ภายในงานได้มีการนำเสนอผลงานทางวิชาการ โดย นายนิจกาล งามวงศ์ ตัวแทนของ บนส. 17 ได้นำเสนอข้อมูลว่า ปัจจุบันการพิจารณานำเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง (EV Conversion) ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์มาใช้งาน จะมีค่าใช้จ่ายถูกกว่ายานยนต์ไฟฟ้าใหม่ และสามารถออกแบบให้มีประสิทธิภาพการใช้งานที่สูงใกล้เคียงกับยานยนต์ไฟฟ้าใหม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของยานยนต์ไฟฟ้าที่ใช้ในเชิงพาณิชย์ มาใช้กับกรุงเทพมหานครถือเป็นความท้าทายสำคัญด้านการจัดการมลพิษและสิ่งแวดล้อมที่แหล่งกำเนิด และด้านการลดค่าใช้จ่ายด้านน้ำมันเชื้อเพลิงที่เพิ่มสูงขึ้นจากการดัดแปลงรถราชการมาเป็นระบบไฟฟ้า ว่าจะจัดการอย่างไรในรถกลุ่มใดก่อนจึงจะเป็นการนำร่องที่มีประสิทธิภาพและก่อให้เกิดความตระหนักรู้ของประชาชนในวงกว้างไปพร้อมกัน จากการศึกษาพบกว่า กรุงเทพมหานครมีความพร้อมสูงมากด้านนโยบายและความร่วมมือในการลดมลพิษ CO2, PM2.5 กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยานยนต์ของกรุงเทพมหานคร มีความไม่หลากหลายและมีจำนวนมากพอ ที่จะริเริ่มเป็นเมืองต้นแบบ ซึ่งสามารถจัดลำดับความสำคัญโดยเลือกรถที่ใช้เชื้อเพลิงมากมีเส้นทางและระยะทางในการวิ่งที่แน่นอนมาดำเนินการก่อน โดยแนวทางในการทำยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงสามารถทำได้โดยการหารือกับหน่วยงานรัฐ ภาคการศึกษา และภาคเอกชนในการดำเนินงานร่วมกัน
ในส่วนของกิจกรรมเสวนาทางวิชาการ “ยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง : มิติใหม่ของกรุงเทพมหานคร (EV Conversion : Beyond BMA)” ในวันที่ 26 สิงหาคม 2565 ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร มีผู้ให้ความสนใจเข้าร่วมฟังจำนวนมาก โดยได้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของแนวทางในการทำให้กรุงเทพมหานครเป็นเมืองคาร์บอนต่ำและเมืองที่น่าอยู่ เช่น การนำยานยนต์ไฟฟ้าและยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงเข้ามาใช้งานมากขึ้น โดยในเวทีได้มีการให้ข้อมูลและการดำเนินงานของภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
นายบัญชา เหงี่ยมงามศรี ผู้อำนวยการกองโรงงานช่างกล กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ในการลดมลพิษด้าน CO2 และ PM2.5 จากการใช้งานยานพาหนะของกรุงเทพมหานครมีการพิจารณา 4 แนวทาง คือ 1) การซื้อใหม่ 2) การเช่า 3) การติดตัวกรองไอเสียซึ่งมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง และ 4) การดัดแปลงยานยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายในให้เป็นระบบขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า ซึ่งมองว่าทางเลือกในการดัดแปลงนี้จะทำให้สามารถนำตัวรถที่มีอายุ 7-8 ปี ที่ยังมี Chassis ที่ยังดีอยู่ มาดัดแปลงให้เป็นไฟฟ้าได้ ซึ่งได้กำลังมีการศึกษาแนวทางนี้ในการดูเรื่องความคุ้มค่า การจดทะเบียนให้ใช้งานได้จริง และการสร้างระบบ Ecosystem ตามนโยบายท่านผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
นายมนูญ สิวาภิรมย์รัตน์ ประธานคณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงและระบบกักเก็บพลังงาน สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า คณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงฯ ได้ดำเนินการเพื่อพัฒนาและผลักดันให้ประเทศไทยเกิดธุรกิจและอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง โดย การมุ่งสร้างผู้ประกอบการ สร้าง Know how ให้ผู้ประกอบการไทยให้เป็นเจ้าของ Brand การสนับสนุนการจัดตั้ง Lab ในการทดสอบ Type test และ Individual test การส่งเสริมให้ ตรอ. พัฒนาความสามารถด้านการทดสอบ Battery การมีเครื่องมือทดสอบของอู่ การผลักดันด้านกฎระเบียบให้สามารถจดทะเบียนยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง การให้ Incentive ต่างๆ ทั้ง Financial และ Non-Financial และยินดีที่จะช่วยผลักดันในประเด็นที่เกี่ยวข้อง
นายบุรินทร์ เกิดทรัพย์ หัวหน้าทีมวิจัยมอเตอร์ และการแปลงผันกำลังงาน (MAP) สวทช. กล่าวว่าผลงานที่สำคัญของ สวทช. ด้านยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงที่มีการพัฒนาและทดสอบการวิ่งใช้งานจริง เช่น การดัดแปลงรถเมล์ของ ของ ขสมก. ให้เป็นรถเมล์ไฟฟ้า โดยเป็นความสำเร็จที่เกิดจากการดำเนินงานร่วมกันของ Consortium ระหว่าง 3 การไฟฟ้า ร่วมกับ สวทช. และภาคเอกชนอีก 4 ราย ผู้ประกอบการคนไทยมีความเก่งและสามารถพัฒนาให้เกิดเป็นอุตสาหกรรม เกิด impact และช่วยด้านสิ่งแวดล้อม ด้วยเทคโนโลยี EV Conversion ซึ่งสามารถปั้นให้เป็น Product Champion ได้อีกตัวหนึ่ง นอกจากนี้ สวทช. สามารถเป็นกำลังสำคัญในการให้คำปรึกษา และบริการด้านการออกแบบ การวิจัยและทดสอบชิ้นส่วนและการพัฒนาเทคโนโลยีด้าน EV Conversion ให้กับผู้ประกอบการในประเทศ
นายพนัส วัฒนชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พนัส แอสเซมบลีย์ จำกัด กล่าวว่า เป็นบริษัทของคนไทยซึ่งได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยพัฒนาด้านยานยนต์ไฟฟ้าและยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงจากทาง บพข. โดยได้พัฒนายานยนต์ซึ่งได้ผ่านการทดสอบสมรรถนะเพื่อใช้งานจริงเชิงพาณิชย์ และนำมาสาธิตและเปิดให้ผู้ที่สนใจสามารถ Test Drive รถกระบะไฟฟ้าดัดแปลง รถบรรทุก 6 ล้อไฟฟ้าดัดแปลง (รถขยะ) และรถบรรทุก 10 ล้อไฟฟ้าดัดแปลง ได้ภายในงานนี้ และบริษัทได้ออกแบบและพัฒนาชุด EV Conversion Kit และ Software ขึ้นมาให้มีความเหมาะสมกับสภาพการใช้งานของประเทศไทย โดยมีลักษณะเป็น Modular เพื่อให้ง่ายต่อการปรับเปลี่ยนเข้ากับรถยี่ห้ออะไรก็ได้ และพร้อมจะ Training ถ่ายทอดความรู้เพื่อการนำไปต่อยอดและสร้างอาชีพให้กับ SME และหน่วยงานภาครัฐ เพื่อลดค่าใช้จ่ายด้านน้ำมันเชื้อเพลิง และประชาชนมีสุขภาพที่ดีขึ้น
นายพลพจน์ วรรณภิญโญชีพ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อีซียู ช็อป 1 จำกัด กล่าวว่า บริษัทได้มีการพัฒนาชุดควบคุม Controllers ประเภทต่างๆ ขึ้นมาโดยคนไทย เพื่อให้สามารถดึงศักยภาพของอุปกรณ์และระบบขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าสามารถปรับแต่งให้มีประสิทธิภาพได้เต็มความสามารถมากยิ่งขึ้น ซึ่งโอกาสที่เราได้รับครั้งนี้นั้นเป็นเพียงระยะเวลาสั้นๆ ที่เมื่อเราลงทุนคิดค้นเทคโนโลยีขึ้นมาได้เองแล้ว หากไม่ได้มีการผลักดันให้นำไปสู่การใช้งานจริงในเชิงพาณิชย์ ภายในระยะเวลาไม่เกิน 2 ปี จะกลายเป็นเทคโนโลยีที่ล้าสมัย และต้องมาลงทุนวิจัยพัฒนาใหม่อีก ซึ่งหากเกิดในลักษณะนี้จะเป็นการสูญเสียทรัพยากรและไม่ยั่งยืน จึงอยากให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เร่งผลักดันให้เกิดการใช้งานอย่างแพร่หลาย เพื่อให้ความพยายามในการสร้างให้อุตสาหกรรมของคนไทยครั้งนี้ ให้เกิดขึ้นมาได้จริงๆ
ว่าที่ร้อยตรีวิระ สุขเผือก ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและนวัตกรรมระบบไฟฟ้า การไฟฟ้านครหลวง กล่าวว่า ทางการไฟฟ้าฯ ได้มีการเตรียมความพร้อมด้านไฟฟ้าเพื่อรองรับการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าถึง 1.7 ล้านคัน ในปี 2570 และถึง 3.7 ล้านคันในปี 2575 และหลังจาก 2580 จะรองรับปีละอย่างน้อย 800,000 คัน โดยเฉลี่ย ดังนั้นปริมาณไฟฟ้าที่ต้องการนั้นจะมีเพียงพอ และทางการไฟฟ้าได้ร่วมพัฒนา รถโดยสารไฟฟ้าดัดแปลงกับทาง สวทช. และภาคเอกชน และมีแผนที่จะ Retrofit, Renovate รถของการไฟฟ้าประเภทต่างๆ เช่นรถที่ให้บริการซ่อมสายไฟ รถปิคอัพ และรถประจำหน่วยงาน เป็นต้น โดยเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงนับว่ามีความสำคัญมากๆ ที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการเดิมสามารถประกอบอาชีพต่อไปได้
นายธนาคาร วงษ์ดีไทย พิธีกรนำเสวนา และ ตัวแทน บนส. 17 กล่าวสรุปว่าเทคโนโลยีด้านยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงเป็นความหวังและโอกาสของภาคอุตสาหกรรมของคนไทย ซึ่งนอกจากจะช่วยค่าใช้จ่ายด้านน้ำมันเชื้อเพลิง ลดมลพิษทางอากาศ และลดปัญหาสุขภาพแล้ว ยังสามารถสร้างงาน สร้างอาชีพ ให้กับประชาชน และต่อยอดการพัฒนาไปสู่การผลิตในเชิงปริมาณเพื่อให้ราคาสามารถแข่งขันได้และนำไปสู่การสร้างอุตสาหกรรมใหม่ได้อีกด้วย ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องมีการเร่งแก้ไขปัญหาและผลักดัน โดยหลายฝ่ายคาดหวังว่าการนำร่องการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงของกรุงเทพมหานครในครั้งนี้ ถือว่าเป็นมิติใหม่ที่จะช่วยกระตุ้นและสร้างให้เกิดความเปลี่ยนแปลงได้
ขอบคุณรูปภาพจากสถาบันพัฒนาข้าราชการ กทม.
A81146