- Details
- Category: ยานยนต์
- Published: Wednesday, 28 May 2014 21:58
- Hits: 4725
โตโยต้า โอด 4 เดือนยอดขายลดฮวบ'หอการค้า'ชี้ครึ่งปีหลังศก.ไทยดีขึ้น
ไทยโพสต์ : ลาดพร้าว * โตโยต้าเผยยอดขายรถตลาดรวมเดือน เม.ย.ลดลงกว่า 33% เช่นเดียวกับ 4 เดือนแรก ยอดขายแค่ 297,431 คัน ลดลง 43% ระบุปัจจัยหลักมาจากสิ้นสุดโครงการรถคันแรก หนี้ภาคครัวเรือนอยู่ในระดับสูง ด้าน "หอการค้า" ชี้ เศรษฐกิจไทยชะลอตัวลงทุกภาค-คาดครึ่งปีหลังปรับตัวดีขึ้น
นายวุฒิกร สุริยะฉันทนานนท์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัด การใหญ่อาวุโส บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เปิดเผยว่า ยอดขายรถยนต์ประจำเดือน เม.ย.57 มีปริมาณการขายรวม 73,260 คัน ลดลง 33.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยตลาดรถยนต์นั่งมีอัตราการเติบ โตลดลง 34.4% ตลาดรถยนต์เพื่อการพาณิชย์มีอัตราการเติบ โตลดลง 32.3% ซึ่งเป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ทำให้ทั้งภาคธุรกิจและภาคครัวเรือน ต่างระมัดระวังทั้งด้านการลงทุนและการใช้จ่าย
ส่วนตลาดรถยนต์สะสม 4 เดือนมียอดขายรวม 297,431 คัน ลดลง 43.1% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยตลาดรถยนต์นั่งมีอัตราการเติบโตลดลง 51.4% ตลาดรถยนต์เพื่อการพาณิชย์มีอัตราการเติบโตลดลง 35.6% เป็นผลจากการปรับเข้าสู่สมดุลของตลาดรถยนต์ หลังสิ้นสุดโครงการรถยนต์คันแรก ประกอบกับสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ส่งผลให้หนี้ในภาคครัวเรือนยังคงอยู่ในระดับสูง
ทั้งนี้ คาดว่าตลาดรถยนต์ในเดือน พ.ค.แนวโน้มทรงตัว แม้ว่าสถิติดัชนีการขายตามฤดู กาลชี้ว่า ตลาดรถยนต์เดือน พ.ค.จะมียอดขายเป็นลำดับสอง ของไตรมาสสอง แต่สภาพเศรษฐ กิจที่ชะลอตัวและสถานการณ์การเมืองที่เข้มข้นอาจส่งผลกระทบเชิงจิตวิทยาต่อผู้บริโภคและนักลงทุนที่อาจจะมีผลกระทบต่อตลาดรถยนต์
นายวุฒิกรกล่าวว่า แม้ยอดขายโดยรวมจะปรับลดลงแต่ในเดือน เม.ย.2557 โตโยต้ายังครองแชมป์ โดยมียอดขายรวม 26,683 คัน ลดลง 25.9% ส่วนแบ่งตลาด 36.4%, อันดับที่ 2 อีซูซุ 13,467 คัน ลดลง 36.8% ส่วนแบ่งตลาด 18.4% และอันดับที่ 3 ฮอนด้า 7,194 คัน ลดลง 64.4% ส่วนแบ่งตลาด 9.8% หากคิดยอดขาย 4 เดือน ม.ค.-เม.ย.57 ตลาดรถยนต์รวม ปริมาณการขาย 297,431 คัน ลดลง 43.1%
นายสมเกียรติ อนุราษฎร์ รองประธานกรรมการหอการ ค้าไทย กล่าวว่า สถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมทุกภาคอยู่ในภาวะชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง ยกเว้นเศรษฐกิจในภาคตะวันออกมีการขยายตัวดี ซึ่งสอด คล้องกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ที่ได้มีปรับประมาณการเศรษฐกิจของประ เทศลง จากเดิมที่คาดว่าเศรษฐ กิจจะขยายตัวได้ถึง 5% แต่ในปัจจุบันทุกหน่วยงานได้ปรับลดลงมาต่ำกว่า 5% คาดว่าทั้งปีจะขยายตัวได้ใกล้เคียง 4%
ทั้งนี้ ภาพรวมเศรษฐกิจไทยตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน พบว่ามีการชะลอตัวลงทุกภาค อยู่ในระดับต่ำถึงปานกลางเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว คาดว่าเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังนี้จะค่อยๆ กระเตื้องขึ้น แต่ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ของบ้านเมืองว่าจะคลี่คลายได้เร็วแค่ไหน ซึ่งหอการค้าจังหวัดส่วนใหญ่กว่า 76.72% มองว่าเศรษฐกิจโดยรวมในปัจจุบันยังแย่ 19.22% เห็นว่าอยู่ในระดับปานกลาง และมีเพียง 4.06% ที่มองว่าดี ส่วนในครึ่งปีหลัง 46.40% เห็นว่าเศรษฐกิจโดยรวมจะดีขึ้น และ 26.43% เห็นว่าจะแย่ลง
"สินค้าเกษตร เช่น ยาง พารา และปาล์มน้ำมัน ยังได้รับผลกระทบจากราคาที่ตกต่ำอย่างต่อเนื่อง ส่วนข้าว หากมีการจ่ายเงินให้เกษตรกรภายใต้โครงการจำนำข้าว ก็จะทำให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนเข้าสู่ระบบ ทำให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น แต่ก็เป็นเพียงระยะสั้นๆ เท่านั้น ซึ่งประเด็นนี้จะเป็นโจทย์ในระยะยาวว่าจะทำอย่างไรให้ราคาข้าว มีเสถียรภาพ และจะทำอย่างไรให้ชาวนามีความมั่นคงในอนาคต"นายสมเกียรติกล่าว.
ตลาดรถยนต์พ.ค. แนวโน้มทรงตัว เศรษฐกิจ-การเมือง
แนวหน้า : ตลาดรถยนต์พ.ค. แนวโน้มทรงตัว เศรษฐกิจ-การเมือง กระทบเชิงจิตวิทยา
นายวุฒิกร สุริยะฉันทนานนท์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เปิดเผยว่า ภาพรวมตลาดรถยนต์ในเดือนพฤษภาคม 2557 มีแนวโน้มยอดขายที่ทรงตัว แม้สถิติดัชนีการขายตามฤดูกาล จะชี้ว่าตลาดรถยนต์เดือนพฤษภาคมจะมียอดขายสูงเป็นลำดับ 2 ของไตรมาส 2 แต่สภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและสถานการณ์การเมืองที่ร้อนแรง อาจส่งผลกระทบในเชิงจิตวิทยาต่อผู้บริโภคและนักลงทุน ที่อาจจะมีผลกระทบต่อตลาดรถยนต์ได้
สำหรับในเดือนเมษายน 2557 พบว่ามีปริมาณการขายทั้งสิ้น 73,260 คัน ลดลง 33.2% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปี 2556 โดยโตโยต้า มียอดขายสูงสุดอยู่ที่ 26,683 คัน ลดลง 25.9% มีส่วนแบ่งตลาด 36.4%, อีซูซุ 13,467 คัน ลดลง 36.8% มีส่วนแบ่งตลาด 18.4% และฮอนด้า 7,194 คัน ลดลง 64.4% มีส่วนแบ่งตลาด 9.8%
ทั้งนี้ ส่งผลให้ภาพรวมตลาดรถยนต์ในช่วง 4 เดือนแรกปี 2557 มีปริมาณการขายทั้งสิ้น 297,431 คัน ลดลง 43.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2556 ซึ่งค่ายรถยนต์ที่มียอดขายสูงสุด 3 อันดับแรก คือ โตโยต้า 110,898 คัน ลดลง 31.2% มีส่วนแบ่งตลาด 37.3%, อีซูซุ 56,111 คัน ลดลง 33.3% มีส่วนแบ่งตลาด 18.9% และฮอนด้า 29,555 คันลดลง 68.0% มีส่วนแบ่งตลาด 9.9%