- Details
- Category: ยานยนต์
- Published: Tuesday, 12 November 2019 20:05
- Hits: 4503
ความน่าดึงดูดใจของรถยนต์ใหม่ลดลงต่อเนื่อง 2 ปีซ้อน ผลการศึกษาวิจัยจาก เจ.ดี. พาวเวอร์
โตโยต้า, ฮอนด้า และนิสสันรับรางวัลด้าน APEAL ในแต่ละกลุ่มประเภทรถยนต์
ผลการศึกษาวิจัยสมรรถนะ, ระบบปฏิบัติการ และการออกแบบรูปลักษณ์ของรถยนต์ในประเทศไทย ประจำปี 2562 โดยเจ.ดี.พาวเวอร์ (J.D. Power 2019 Thailand Automotive Performance, Execution and Layout (APEAL) Study,SM) เปิดเผยในวันนี้ว่า ความสบายของเบาะที่นั่งและพื้นที่เก็บสัมภาระไม่เพียงพอเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดที่ทำให้ความพึงพอใจด้านการออกแบบโดยรวมของรถยนต์รุ่นใหม่ๆ ลดลง เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว
“ผู้ผลิตรถยนต์จำเป็นต้องพิจารณาถึงความสวยงามของการออกแบบภายในโดยรวมและความสะดวกสบายของผู้ขับขี่และผู้โดยสารไปพร้อมกัน เพื่อเพิ่มประสบการณ์ที่ดีให้แก่ลูกค้า” ศิรส สาตราภัย ผู้อำนวยการระดับภูมิภาค เจ.ดี. พาวเวอร์ ประจำประเทศไทยและประเทศเวียดนาม กล่าว “ลูกค้าไม่เพียงขับขี่หรือโดยสารจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่งเท่านั้น ผู้ผลิตจึงต้องคำนึงถึงของใช้ส่วนตัวต่างๆ ที่ผู้ขับขี่นำเข้ามาในรถด้วย เช่น สมาร์ทโฟน, แท็บเล็ต, แก้วเก็บอุณหภูมิ, ถุงช้อปปิ้ง และของใช้อื่นๆ ดังนั้นการออกแบบรถยนต์จึงจำเป็นต้องพัฒนาเพื่อตอบโจทย์ความต้องการเหล่านี้”
คุณลักษณะต่างๆ ที่เกี่ยวกับเบาะที่นั่งและพื้นที่เก็บสัมภาระ ซึ่งส่งผลต่อความพึงพอใจโดยรวมที่ลดลง ได้แก่ ประโยชน์ของที่วางแก้วน้ำด้านหลัง; ประโยชน์ของพื้นที่เก็บของบริเวณคอนโซลกลาง; ประโยชน์ของช่องเก็บของด้านหน้า; พื้นที่เหนือศรีษะ/วางขา/วางเท้าของเบาะด้านหน้า; และความสบายของเบาะที่นั่งด้านหลัง ทั้งนี้คะแนนเฉลี่ยความพึงพอใจโดยรวมลดลงเหลือ 824 คะแนน (จากคะแนนเต็ม 1,000 คะแนน) จาก 846 คะแนนในปี 2561
ข้อมูลสำคัญเพิ่มเติมที่ได้จากการสำรวจ ประจำปี 2562:
• ความสบายของเบาะที่นั่งได้คะแนนน้อยที่สุดในบรรดาองค์ประกอบทั้งหมดของรถยนต์: คุณลักษณะสำคัญ 3 อันดับแรกที่ได้คะแนนน้อยที่สุด ได้แก่ ความสบายของเบาะที่นั่งแถว 3 สำหรับรถยนต์อเนกประสงค์ (คะแนนความพึงพอใจอยู่ที่ 7.78 คะแนนจากคะแนนเต็ม 10 คะแนน); ความสบายของเบาะที่นั่งด้านหลังหรือที่นั่งแถวที่สอง (8.04 คะแนน); และความรู้สึกต่อวัสดุของเบาะที่นั่ง (8.12 คะแนน)
• ปัญหาภายในห้องโดยสาร: ลูกค้ามีความพึงพอใจน้อยต่อความน่าสนใจของแสงไฟภายในตัวรถและการออกแบบรูปแบบแผงหน้าปัดและมาตรวัดต่างๆ เช่นเดียวกันกับรูปลักษณ์และความรู้สึกที่มีต่อปุ่มควบคุมต่างๆ และพวงมาลัย นอกจากรูปลักษณ์ภายในแล้ว ลูกค้ายังมีความพึงพอใจน้อยที่สุดเกี่ยวกับกลิ่นภายในตัวรถ
• กลุ่มลูกค้ารุ่นใหม่มีความพึงพอใจน้อยกว่า: เมื่อพิจารณาถึงสมรรถนะและการออกแบบรถยนต์ ลูกค้าที่มีอายุต่ำกว่า 40 ปี มีความพึงพอใจน้อยกว่าลูกค้าที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป (821 คะแนน และ 839 คะแนน ตามลำดับ)
• ความตั้งใจในการกลับมาซื้อรถยี่ห้อเดิมลดลงตามระดับความพึงพอใจ: น้อยกว่าครึ่งของลูกค้า (44%) ระบุว่าจะซื้อรถยนต์ยี่ห้อเดิม ซึ่งลดลงจาก 57% ในปี 2561 ซึ่งความพึงพอใจโดยรวมของลูกค้ากลุ่มนี้อยู่ที่ 841 คะแนน ลดลงจาก 856 คะแนนในปีที่แล้ว
ผลการจัดลำดับจากการศึกษาวิจัย
• โตโยต้า ยาริส ได้คะแนนสูงสุดในกลุ่มรถยนต์ขนาดเล็ก ด้วยคะแนน APEAL อยู่ที่ 841 คะแนน
• ฮอนด้า แจ๊ส ได้คะแนนสูงสุดในกลุ่มรถยนต์ขนาดกลางระดับต้น ด้วยคะแนน APEAL อยู่ที่ 844 คะแนน
• ฮอนด้า ซีวิค ได้คะแนนสูงสุดในกลุ่มรถยนต์ขนาดกลาง ด้วยคะแนน APEAL อยู่ที่ 841 คะแนน
• ฮอนด้า เอชอาร์-วี ได้คะแนนสูงสุดในกลุ่มรถยนต์อเนกประสงค์สมรรถนะสูงขนาดเล็ก ด้วยคะแนน APEAL อยู่ที่ 840 คะแนน
• โตโยต้า ฟอร์จูนเนอร์ ได้คะแนนสูงสุดในกลุ่มรถยนต์อเนกประสงค์สมรรถนะสูงขนาดใหญ่ ด้วยคะแนน APEAL อยู่ที่ 847 คะแนน
• โตโยต้า ไฮลักซ์ รีโว่ สมาร์ท แค๊ป และ โตโยต้า ไฮลักซ์ รีโว่ พรีรันเนอร์ สมาร์ท แค๊ป ได้คะแนนสูงสุดในกลุ่มประเภทรถกระบะตอนขยายเท่ากัน ด้วยคะแนน APEAL อยู่ที่ 820 คะแนน
• นิสสัน ฟรอนเทียร์ เอ็นพี300 นาวารา คาลิเบอร์ ดี-แค๊ป ได้คะแนนสูงสุดในกลุ่มประเภทรถกระบะ 4 ประตู ด้วยคะแนน APEAL อยู่ที่ 832 คะแนน
การศึกษาวิจัยครั้งนี้ใช้คำตอบของเจ้าของรถยนต์ในประเทศไทยเป็นมาตรวัดถึงสิ่งที่ทำให้เจ้าของรถมีความพึงพอใจต่อสมรรถนะและการออกแบบรถยนต์คันใหม่ของพวกเขาในช่วง 2-6 เดือนแรกของการเป็นเจ้าของ โดยการศึกษานี้ได้พิจารณาคุณลักษณะของรถยนต์ 79 คุณลักษณะ ซึ่งครอบคลุมองค์ประกอบของรถยนต์ 10 หมวดหมู่ ได้แก่ ภายนอกรถยนต์; ภายในห้องโดยสาร; พื้นที่เก็บสัมภาระและพื้นที่ว่าง; เครื่องเสียง/ ระบบสื่อสาร/ ระบบความบันเทิง/ ระบบนำทาง; เบาะที่นั่ง; ระบบทำความร้อน, ระบบระบายอากาศ และระบบแอร์; สมรรถนะในการขับขี่; เครื่องยนต์/ ระบบเกียร์; ทัศนวิสัย และความปลอดภัยในการขับขี่; และการประหยัดเชื้อเพลิง
การศึกษาวิจัยสมรรถนะ, ระบบปฏิบัติการ และการออกแบบรูปลักษณ์ของรถยนต์ (APEAL) ในประเทศไทย ประจำปี 2562 ได้จากการประเมินคำตอบของเจ้าของรถใหม่จำนวน 6,632 รายที่ซื้อรถในช่วงเดือนสิงหาคม 2561 ถึงเดือนมิถุนายน 2562 ซึ่งเป็นเจ้าของรถยนต์นั่งส่วนบุคคล, รถกระบะ และรถยนต์อเนกประสงค์ จำนวน 66 รุ่น จากทั้งหมด 10 ยี่ห้อ โดยมีการเก็บรวบรวมข้อมูลภาคสนามในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ถึงเดือนสิงหาคม 2562
AO11236
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ
Click Donate Support Web