- Details
- Category: ยานยนต์
- Published: Saturday, 23 June 2018 20:48
- Hits: 6218
พีไอเอ็ม ทุ่ม 50 ล้าน เปิดศูนย์นวัตกรรมหุ่นยนต์ฯ ห้องเรียนปฏิบัติการแห่งแรก ล้ำสมัยด้วยหุ่นยนต์รุ่นใหม่ของโลก
สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ หรือ พีไอเอ็ม เปิดตัวศูนย์นวัตกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ (iCRAS) รวมเทคโนโลยีหุ่นยนต์ครบที่สุด ล้ำสมัยด้วยหุ่นยนต์รุ่นใหม่ของโลก และชุดจำลองระบบอุตสาหกรรมอัตโนมัติ รุ่นใหม่ล่าสุด ชุดแรกในไทย ผลิตบัณฑิตคุณภาพด้านการควบคุมหุ่นยนต์อุตสาหกรรม ผ่านรูปแบบการเรียนทฤษฎีควบคู่การปฏิบัติจริง‘Work-based Education’รับไทยแลนด์ 4.0 และ กลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ (New S-Curve)
รองศาสตราจารย์ ดร.พิสิษฐ์ ชาญเกียรติก้อง คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (พีไอเอ็ม) เปิดเผยว่า จากข้อมูลของสหพันธ์หุ่นยนต์นานาชาติ (IFR) คาดการณ์อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ทั่วโลก จะมีอัตราการเติบโตของหุ่นยนต์ใหม่ ในช่วงปี 2018 - 2020 เพิ่มขึ้นปีละ 15% หรือคิดเป็นจำนวนถึง 521,000 ยูนิต สำหรับประเทศไทยนับเป็นผู้นำอันดับ 1 ในอาเซียน ที่จะใช้หุ่นยนต์ในภาคอุตสาหกรรมมากที่สุด จากการเติบโตนี้ แสดงให้เห็นถึง การยอมรับและความต้องการใช้หุ่นยนต์เป็นตัวช่วยในภาคอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง พีไอเอ็มมั่นใจว่าจะสามารถผลิตบัณฑิตที่มีความเชี่ยวชาญด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ด้วยการสร้าง System Integrator (SI) ซึ่งเป็นผู้ที่จะสามารถออกแบบและวางระบบ Robotics รวมถึงวิเคราะห์ได้ว่าสามารถใช้เทคโนโลยีมาเสริมสร้างการทำงานให้เกิดประสิทธิผล และเป็นนักวิจัยพัฒนาด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์ขั้นสูง
จากความต้องการดังกล่าว สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (พีไอเอ็ม) จึงได้จัดตั้งสาขาวิชาวิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี ขึ้นเพื่อรองรับความต้องการของตลาดแรงงาน ในปี 2560 ที่ผ่านมา โดยมีวิชา ‘การออกแบบ Robot Gripper’ซึ่งเป็นวิชาเฉพาะทาง ที่เปิดสอนที่พีไอเอ็มเพียงแห่งเดียว ที่จะทำให้เกิดความเชี่ยวชาญ สามารถประยุกต์ทักษะ ผลิตชิ้นงานที่เอื้อต่ออุตสาหกรรม นอกจากนี้ ยังมีวิชาระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ในการผลิต วิชาการพัฒนาซอฟต์แวร์สำหรับวิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ทั้งนักศึกษาได้เรียนรู้เกี่ยวกับอินเตอร์เน็ตทุกสรรพสิ่ง (Internet of Things : IoT) และการเชื่อมต่อระบบ Cloud ซึ่งได้จัดการเรียนการสอนในภาคทฤษฎีควบคู่กับการฝึกปฏิบัติงานจริง (Work-based Education) เพื่อสร้างบัณฑิตที่พร้อมทำงาน (Ready to Work) เน้นให้มีทักษะความรู้ และสามารถปฏิบัติงานจริงได้ทันทีหลังจบการศึกษา
โดยนักศึกษามีโอกาสผ่านการฝึกงานในองค์กรชั้นนำระดับโลกที่เป็นพันธมิตรของสถาบันฯ รวมระยะเวลากว่า 18 เดือน คิดเป็น 40% ของการเรียน เพื่อได้เรียนรู้ระบบการทำงานจริงอย่างเต็มที่ในกลุ่มงาน อาทิ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ (Robotics), อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ (Aviation and Logistics), อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ (Biofuels and Biochemicals),อุตสาหกรรมดิจิตอล (Digital) และอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร (Medical Hub) เป็นต้น ทำให้บัณฑิตที่จบการศึกษา มีทั้งความรู้ และความสามารถในการปรับตัวเข้าสู่สังคมการทำงานได้อย่างรวดเร็ว โดยมีโครงการนำร่องส่งนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี สาขาวิชาวิศวกรรมหุ่นยนต์ และระบบอัตโนมัติไปฝึกงานต่างประเทศ เช่น การร่วมมือฝึกงานระยะยาวกับ เทศบาลเมือง คิตะคิวชู ประเทศญี่ปุ่น และมีแผนจะขยายสถานที่ฝึกงานไปที่ประเทศอื่นๆ เพิ่มขึ้น
และเพื่อเป็นการพัฒนาบัณฑิตที่เพียบพร้อมทั้งความรู้ และความสามารถในการปฏิบัติงานได้จริงตามเจตนารมณ์ที่ตั้งไว้ จึงได้จัดตั้งศูนย์นวัตกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ (iCRAS) ด้วยงบลงทุนกว่า 50 ล้านบาท เพื่อใช้เป็นสื่อการสอน ที่เน้นการเชื่อมโยงภาคอุตสาหกรรมกับโรโบติกส์และดิจิทัลเทคโนโลยี สำหรับสร้างผู้ที่มีความรู้ทางวิศวกรรมศาสตร์ในการผลิตทั้งด้านฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ สามารถควบคุมระบบอัตโนมัติ ออกแบบวิเคราะห์ระบบการผลิตและเครื่องมือช่วยในการผลิต ชิ้นส่วนเครื่องจักรกลได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยภายในศูนย์ได้แบ่งห้องปฏิบัติการออกเป็น 5 ห้อง ดังนี้
· ห้องปฏิบัติการหุ่นยนต์อุตสาหกรรม (Industrial Robotics Laboratory)
ห้องปฏิบัติการสำหรับการเรียนรู้ ทดลอง และทดสอบการทำงานระบบหุ่นยนต์ที่ใช้ในงานอุตสาหกรรมยุคใหม่ ประกอบด้วยแขนกลอุตสาหกรรมขนาดต่างๆ ตลอดจนแขนหุ่นยนต์ชนิดใหม่ที่ออกแบบมาเพื่อทำงานร่วมกับมนุษย์ (Cobot) และมือจับ (Gripper) สำหรับการทำงานหลายรูปแบบ จากบริษัทหุ่นยนต์ชั้นนำของโลก
· ห้องปฏิบัติการระบบอัตโนมัติ (Automation Systems Laboratory)
ห้องปฏิบัติการกระบวนการผลิตในอุตสาหกรรมด้วยระบบอัตโนมัติ ประกอบไปด้วย ชุดจำลองการทำงานของแขนกลอุตสาหกรรม เซนเซอร์ตรวจจับวัตถุรูปแบบต่างๆ และระบบสายพานลำเลียงระบบ (Festo; Modular Production System) เพื่อสร้างความเข้าใจการผลิตโดยใช้ระบบอัตโนมัติทั้งระบบ
· ห้องปฏิบัติการระบบไซเบอร์ฟิสิกส์ (Cyber Physical Systems Laboratory)
ห้องปฏิบัติการสำหรับระบบไซเบอร์กายภาพ นำไปสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 (Industry 4.0) ผสานความสามารถของเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ากับเทคโนโลยีด้านการผลิต เพื่อสร้างโรงงานอัจฉริยะและเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการเวลาและต้นทุนการผลิต
· พื้นที่สร้างสรรค์งานนวัตกรรม (Co-Creation Space)
พื้นที่สำหรับรองรับไลฟ์สไตล์การทำงานของคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะธุรกิจสตาร์ทอัพ มีอุปกรณ์และเครื่องใช้ที่จำเป็นสำหรับการพัฒนางานนวัตกรรมอย่างครบครัน ภายใต้บรรยากาศในการทำงานที่เอื้อต่อการผลักดันความคิดริเริ่มใหม่ๆ
· ห้องปฏิบัติการเครื่องสร้างต้นแบบและซีเอ็นซี (Rapid Prototyping and CNC Laboratory)
ห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ช่วยในการออกแบบงานอุตสาหกรรม ประกอบไปด้วยเครื่องแกะสลักด้วยคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่ (CNC) เครื่องตัดชิ้นส่วนด้วยเลเซอร์ และเครื่องพิมพ์ 3 มิติ เพื่อการสร้างผลิตภัณฑ์ต้นแบบที่มีประสิทธิภาพสูง
“การนำหุ่นยนต์มาใช้ในภาคอุตสาหกรรมนั้น ต้องคำนึงถึงความเหมาะสมและปัจจัยหลายด้าน การเอื้อประโยชน์ต่อมนุษย์ และภาคธุรกิจอย่างสมดุล หุ่นยนต์จะทำงานหรือเคลื่อนที่ได้ต้องอาศัยทักษะและความรู้จากคน เราจึงต้องมีการเตรียมพร้อมเพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น โดยการประยุกต์ใช้หุ่นยนต์ในจุดประสงค์เพื่อช่วยเหลือมนุษย์ในการทำงาน ดังนิยามที่เรา เน้นย้ำ สูตร 3D เพื่อให้นักศึกษาเกิดความรู้ความเข้าใจ ได้แก่
· Dirty job หุ่นยนต์สามารถทำงานที่มีความยากลำบาก ไม่สะอาด แม้แต่สามารถสัมผัสของที่มีพิษ มีเชื้อโรคได้ ช่วยป้องกันความเสี่ยงต่อสุขภาพมนุษย์
· Difficult job หุ่นยนต์มีความสามารถทำงานในจุดที่ยากต่อการเข้าถึง มีความแม่นยำในการทำงาน งานที่มีความละเอียดสูง
· Dangerous job หุ่นยนต์สามารถทำงานที่อันตรายได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การจับโลหะร้อน สัมผัสรังสีสารเคมีที่อาจส่งผลถึงชีวิตมนุษย์ ซึ่งหุ่นยนต์จะเข้ามาช่วยลดภาระและความเสี่ยงของมนุษย์ ใช้งานได้ในหลากหลายสภาพแวดล้อม สภาพอากาศแปรปรวน ลดการเสี่ยงภัยและอุบัติเหตุต่อมนุษย์ได้ ที่จะเกิดขึ้นในการทำงานนั้นๆ
โดยการเรียนการสอนของสถาบันฯ เน้นการผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพ สามารถควบคุมและใช้งานพร้อมทั้งทำงานร่วมกับหุ่นยนต์ให้เกิดประโยชน์สูงสุด อีกทั้งเป็นการพัฒนาบุคลากรด้านวิศวกรรมหุ่นยนต์ให้เพียงพอต่อความต้องการของตลาดแรงงาน รองรับการพัฒนาประเทศตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาล”
สำหรับ การจัดตั้ง ศูนย์นวัตกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ (iCRAS) ได้รับความร่วมมือจากพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศกว่า 70 แห่ง ซึ่งเป็นบริษัทชั้นนำของโลกในภาคอุตสาหกรรม จึงสามารถรวบรวมหุ่นยนต์ที่ใช้งานจริงได้อย่างครบถ้วน หลากหลาย รวมถึงเป็นเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยที่สุด ณ ปัจจุบัน อาทิ Collaborative Robots (Cobot) หุ่นยนต์ที่สามารถทำงานร่วมกับมนุษย์ได้ ซึ่งมีลักษณะเป็นแขนกลในภาคอุตสาหกรรมถือเป็นเทคโนโลยีใหม่ ซึ่งพีไอเอ็มถือเป็นสถาบันการศึกษาแรกที่นำหุ่นยนต์ดังกล่าวมาใช้ในการเรียนการสอน และมีจำนวนมากที่สุด และ หุ่นยนต์ ABB รุ่น IRB-6700 จากบริษัท เอบีบี (ไทยแลนด์) จำกัด แขนหุ่นยนต์อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่สุดในสถานศึกษาของไทย ยกของหนักได้ถึง 180 กิโลกรัม พร้อมชุดสาธิตสำหรับยกกระสอบข้าวจากสายพานลำเลียง รองรับการใช้งานขนาดใหญ่ได้ เช่น การหยิบและจัดเรียงลังสินค้า พาเล็ท (Palletizing)
และวานนี้ (วันพฤหัสบดีที่ 21 มิถุนายน 2561) พีไอเอ็ม ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ด้านการศึกษา กับ เทศบาลเมืองคิตะคิวชู ประเทศญี่ปุ่น, Siasun Automation (Singapore) Pte.Ltd. บริษัทผู้ผลิตหุ่นยนต์ชั้นนำระดับโลก และ Yaskawa Electric (Thailand) Co.,Ltd. ผู้นำด้านหุ่นยนต์อุตสาหกรรมจากประเทศญี่ปุ่น เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และสนับสนุนด้านวิชาการ พัฒนาศักยภาพนักศึกษา รวมถึงเป็นสถานที่ฝึกปฏิบัติงานให้นักศึกษามีความพร้อมเข้าสู่การปฏิบัติงานจริงทั้งในไทยและระดับสากล
นอกจากนี้ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (พีไอเอ็ม) ยังได้ร่วมมือกับ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) จัดงาน ‘มหกรรมสนามเด็กเล่นหุ่นยนต์ PIM Robotics Playground’ โดยมีกิจกรรมการประกวดและแข่งขันทักษะด้านหุ่นยนต์ สำหรับนักเรียนระดับมัธยมศึกษา เพื่อกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้นวัตกรรม และการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ สร้างเสริมทักษะในการประดิษฐ์ นำไปสู่การประกอบอาชีพ หรือศึกษาต่อในอนาคต อาทิ การแข่งขันหุ่นยนต์ระดับพื้นฐาน,
การแข่งขันหุ่นยนต์ยุวชนชิงชนะเลิศในระดับชาติ และการประกวดโครงงานสิ่งประดิษฐ์ ซึ่งจะมีนักเรียนเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวกว่า 2,000 คน ชิงทุนการศึกษาระดับปริญญาตรี คณะวิศวกรรมศาสตร์และคณะเทคโนโลยี สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ พร้อมรับทุนสนับสนุนจาก บมจ. ซีพี ออลล์ ในการเดินทางไปศึกษาดูงานเทคโนโลยีหุ่นยนต์ ณ เมืองคิตะคิวชู ประเทศญี่ปุ่น พร้อมรับโล่รางวัลจากนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รวมมูลค่ากว่า 5 ล้านบาท ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 24 มิถุนายน 2561 ณ Convention Hall สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ถ.แจ้งวัฒนะ
สามารถติดตามรายละเอียดได้ที่ : https://www.pim.ac.th/pages/roboticsplayground2018
Click Donate Support Web