- Details
- Category: ทางอากาศ-การบิน
- Published: Wednesday, 21 July 2021 22:07
- Hits: 31204
7 สายการบิน วอนรัฐขอต่อลมหายใจ เร่งเคาะซอฟต์โลน 5 พันล้าน ช่วยการจ้างงานพนักงานไม่ต้องลอยแพ
สมาคมสายการบินประเทศไทย ประกอบด้วย 7 สายการบินในประเทศ ได้แก่ สายการบินบางกอกแอร์เวย์ส, สายการบินไทยสมายล์แอร์เวย์, สายการบินไทยไลอ้อนแอร์, สายการบินไทยเวียตเจ็ท, สายการบินไทยแอร์เอเชียเอ็กซ์, สายการบินไทยแอร์เอเชีย และสายการบินนกแอร์ จะรวมตัวกันเพื่อแถลงข่าวยื่นข้อเสนอต่อรัฐบาลในการขอความช่วยเหลือในมาตรการเยียวยาผลกระทบต่อสายการบิน ในการขอสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) วงเงินรวม 14,000 ล้านบาท จากที่เคยได้มีการเสนอต่อกระทรวงการคลัง และกระทรวงคมนาคมมาตลอด
แต่ยังไม่ได้รับการเยียวยาและอนุมัติจากรัฐบาลเสียที ส่วนสาเหตุที่ต้องออกมาเคลื่อนไหวอีกครั้งนั้น เนื่องจากสายการบินทั้ง 7 ในฐานะเป็นด่านหน้าในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ได้รับผลกระทบของการแพร่ระบาดโควิด-19 อย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 63 จนถึงปัจจุบัน
ก่อนหน้านี้ 7 สายการบินเอกชนของไทย ได้เรียกร้องขอให้รัฐบาลสนับสนุนซอฟต์โลนวงเงินรวม 14,000 ล้านบาทมาตั้งแต่เดือน มี.ค.63 เพื่อใช้เสริมสภาพคล่องและรักษาการจ้างงาน โดยขอจ่ายดอกเบี้ย 2% เป็นระยะเวลา 60 เดือน และขอเบิกเงินงวดแรกเป็นจำนวน 25% ของวงเงินกู้ภายใน เม.ย.63 เริ่มชำระทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยในวันที่ 1 ม.ค. 64 แต่ไม่ได้รับการช่วยเหลือจนกระทั่ง เมื่อวันที่ 28 ส.ค.63 ได้เข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และทางนายกฯรับปากว่าจะช่วย แต่ก็ยังไม่ได้ช่วย
21 ก.ค.2564 นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส ในฐานะนายกสมาคมฯ เปิดเผยว่า สมาคมฯ ขอรับการสนับสนุนซอฟต์โลนตั้งแต่โควิดระบาดรอบแรกเดือน มี.ค.2563 โดยได้ติดตามต่อเนื่อง และเข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี วันที่ 28 ส.ค.63 เพื่อให้เร่งพิจารณาเรื่องดังกล่าว จากนั้นเดือน พ.ค.2564 ส่งหนังสือติดตามอีกครั้ง จนปัจจุบันก็ยังไม่ได้รับการพิจารณา รวมเป็นเวลากว่า 478 วันแล้ว
สำหรับ การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้การขนส่งทางอากาศได้รับผลกระทบรุนแรงมากกว่าวิกฤติใดๆ ในรอบ 10 ปี โดยปี 63 ผู้โดยสาร 7 สายการบินลดลง 64.7% เมื่อเทียบกับปี 62 ผู้โดยสารระหว่างประเทศ ลดลง 81.7% ภายในประเทศ ลดลง 44.9% เที่ยวบินในประเทศ ลดลง 33.8% ซึ่งเป็นผลมาจากการจำกัดการเดินทาง ล่าสุดได้สั่งให้หยุดทำการบินตั้งแต่วันที่ 21 ก.ค.64 อีก เท่ากับว่ารายได้ของสายการบินเป็นศูนย์ ขณะที่ค่าใช้จ่ายเท่าเดิม ที่ผ่านมาทุกสายการบินขาดทุนต่อเนื่อง และขณะนี้เริ่มแบกภาระต้นทุนไม่ไหวแล้ว จึงอาจจะส่งผลต่อการกลับมาทำการบิน และการจ้างพนักงาน
“ที่ผ่านมาสายการบินทั้ง7 สายให้ความร่วมมือกับภาครัฐเป็นอย่างดี ขณะเดียวกันได้มีการปรับตัวในหลายมิติ เช่น การออกมาตรการด้านการลดค่าใช้จ่าย,การเพิ่มช่องทางในการหารายได้,การบริหารฝูงบินและเส้นทางบินให้มีประสิทธิภาพ เพื่อให้ธุรกิจสามารถดำรงคงอยู่ได้และดำเนินการต่อไปได้ แต่จากสถานการณ์การแพร่ระบาดในละลอกใหม่ สายการบินในประเทศทุกสายถูกให้ระงับเที่ยวบินทั้งหมดส่งผลให้สมาชิกสายการบินทั้ง 7 สายต้องแบกรับภาระต้นทุนทางด้านการปฎิบัติการบินและด้านบุคลากรอันมหาศาล การถูกสั่งให้หยุดการบินนั้นเท่ากับว่ารายได้ที่จะเข้ามาเป็นศูนย์ในขณะที่ค่าใช้จ่ายยังเพิ่มขึ้นเท่าเดิมมองว่าขณะนี้ทุกสายการบินต่างก็ประสบภาวะขาดทุนอย่างต่อเนื่องและเริ่มที่จะแบกรับภาระต้นทุนไม่ไหวซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อการกลับมาให้บริการและการจ้างงานในอนาคต
นายพุฒิพงษ์ กล่าวว่า เหตุผลหลักที่ทางสมาคมได้มีการประชุมในวันนี้เพื่อมีวัตถุประสงค์เพื่อติดตามความคืบหน้าเรื่องสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำหรือซอฟต์โลนจากทางรัฐบาล จึงขอให้รัฐบาลพิจารณาเร่งด่วน รวมถึงมาตรการความช่วยเหลือเช่น การพักชำระค่าธรรมเนียมต่างๆ ของภาครัฐ เพื่อลดผลกระทบ และต่อลมหายใจให้กับธุรกิจสายการบิน ซึ่งถือเป็นธุรกิจที่นอกจากจะเป็นฟันเฟืองที่สำคัญต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศแล้ว ยังช่วยฟื้นฟูธุรกิจรายอื่นที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมอื่นๆ
นายสันติสุข คล่องใช้ยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินไทยแอร์เอเชีย กล่าวว่า ธุรกิจการบินถือว่าได้รับผลกระทบหนักสุดและขณะนี้ยังหาทางออกไม่ได้จากผลกระทบจากโควิด-19 มา 17 เดือน หรือเกือบ 1 ปีครึ่งแล้ว และจากคำสั่งงดบินเข้าออกพื้นที่สีเเดงเข้ม ตั้งเเต่วันที่ 21 ก.ค.64 ซึ่งยังไม่รู้ว่าจะสิ้นสุดเมื่อใด ทำให้เครื่องบินของ 7 สายการบิน กว่า 170 ลำต้องจอดนิ่ง แต่ยังมีค่าจ้างพนักงานกว่า 2 หมื่นคน รวม เกือบ 1,000 ล้านบาทต่อเดือน ขณะที่รายได้เป็นศูนย์ จึงเป็นที่มาที่รัฐบาลต้องช่วยเหลือ ซึ่งจำทำให้ธุรกิจการบินอาจจะไปต่อไม่ได้
ด้านนายวรเนติ หล้าพระบาง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินไทยเวียตเจ็ท กล่าวว่า ทางสมาคมฯ ได้ปรับลดตัวเลขวงเงินการขอสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ รวม 7 สายการบิน จาก 2.4 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขที่ยื่นขออนุมัติครั้งแรกเมื่อ มี.ค.63 เหลือ 1.5 หมื่นล้านในการยื่นขออนุมัติเมื่อต้นปี 64 แต่ก็ยังไม่ได้รับการอนุมัติ จนล่าสุดปรับลดเหลือเพียง 5 พันล้านบาท เพื่อใช้รักษาการจ้างงานพนักงานทั้ง 7 สายการบิน กว่า 2 หมื่นคน ในครึ่งปีหลังของ 64 เท่านั้น
สำหรับ เงื่อนไขการขอรับเงินกู้ฯ ยอมรับว่าสายการบินไม่มีสินทรัพย์ในการค้ำประกันเงินกู้ จึงอยากให้รัฐบาลผ่อนผันให้นำตารางบิน (สล็อต) สิทธิการบิน และใบอนุญาตประกอบการกิจการค้าขายในการเดินอากาศใหม่ (เอโอแอล) ซึ่งเป็นใบอนุญาตที่ได้รับจากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) มาเป็นหลักค้ำประกัน เพื่อให้สามารถกู้เงินได้ จึงขอความเห็นใจจากรัฐบาล กระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาวงเงิน 5,000 พันล้านเป็นการต่อลมหายใจให้สายการบิน และเป็นวงเงินที่ทำให้สามารถรักษาการจ้างของพนักงานต่อไปได้” นายวรเนติ กล่าว
นางชาริตา ลีลายุทธ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินไทยสมายล์แอร์เวย์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาสายการบินไม่ได้นิ่งนอนใจ พยายามหาหนทางที่จะมาช่วยให้สามารถจ้างพนักงานได้ต่อ แต่เนื่องด้วยยังติดข้อในจำกัดที่จะช่วยเหลือเฉพาะธุรกิจขนาดย่อมขณะที่ธุรกิจสายการบินเป็นธุรกิจขนาดใหญ่เพราะฉะนั้นวงเงินที่จะช่วยเหลือให้กูได้จะอยู่ที่ 15 ล้านบาท ซึ่งล่าสุดอยู่ระหว่างหารือกับกระทรวงแรงงาน เพื่อให้ช่วยเรื่องการรักษาการจ้างแรงงาน อย่างไรก็ตามถ้าสุดท้ายแล้วหากสายการบินไม่ไหวจริงๆ และไม่สามารถจ้างพนักงานไว้ได้แล้ว จะต้องขอเข้าพบนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง
กรมท่าอากาศยานยืนยันพร้อมช่วยเหลือผู้ประกอบการและสายการบินในช่วงสถานการณ์โควิด-19
นายอภิรัฐ ไชยวงศ์น้อย อธิบดีกรมท่าอากาศยาน กล่าวว่า จากกรณีที่สมาคมสายการบินประเทศไทย ขอความช่วยเหลือในมาตรการเยียวยาสายการบิน ที่ได้รับผลกระทบในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) นั้น
ที่ผ่านมากรมท่าอากาศยานได้ตระหนักถึงความเดือดร้อนของผู้ประกอบการและสายการบิน และดำเนินการหามาตรการช่วยเหลือมาโดยตลอด ภายใต้กฎหมาย กรอบอำนาจหน้าที่ และระเบียบที่สามารถปฏิบัติได้ ตามนโยบายของ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ที่ให้หน่วยงานด้านการบินช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกอบการและสายการบินที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ซึ่งกรมท่าอากาศยานได้มีมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการดังนี้
ด้านผู้ประกอบการสายการบิน กรมท่าอากาศยานได้ลดค่าบริการในการขึ้นลงของอากาศยาน (Landing Charge) และค่าบริการที่เก็บอากาศยาน (Parking Charge) ในอัตราร้อยละ 50 ตั้งแต่เดือนเมษายน 2563 และคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้ลดค่าบริการในการขึ้นลงของอากาศยาน ร้อยละ 50 และยกเว้นการเก็บค่าบริการที่เก็บอากาศยาน จนถึง 31 ธันวาคม 2564 และในส่วนของค่าปรับที่เกิดจากการชำระล่าช้า กรมท่าอากาศยานจะรับไปพิจารณาตามฐานอำนาจทางกฎหมาย ในการขยายเวลาการชำระ เพื่อไม่ให้เกิดค่าปรับดังกล่าวในอนาคต
ด้านผู้ประกอบการร้านค้าภายในท่าอากาศยาน กรมท่าอากาศยานได้ลดอัตราค่าเช่าพื้นที่(อัตราเก่า) ในอัตราร้อยละ 50 ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2563 และในปีนี้กรมธนารักษ์ได้มีคำสั่งมอบอำนาจฉบับใหม่ ให้กรมท่าอากาศยานเกี่ยวกับการจัดหาประโยชน์ที่ราชพัสดุในภูมิภาค โดยให้กำหนดอัตราค่าเช่าใหม่ ซึ่งกรมท่าอากาศยานได้มีการช่วยเหลือผู้ประกอบการด้วยการเรียกเก็บอัตราค่าเช่าใหม่ในอัตราขั้นต่ำที่สุด ที่สามารถทำได้ตามคำสั่งที่กรมธนารักษ์กำหนด เบื้องต้นจะมีผลจนถึงวันที่ 30 กันยายน 2564
ทั้งนี้ กรมท่าอากาศยานจะประเมินสถานการณ์และพิจารณาแนวทางการมาตรการช่วยเหลือเป็นระยะ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการตามนโยบายของรัฐบาลและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และเพื่อให้ผู้ประกอบการยังคงสามารถดำเนินธุรกิจ พร้อมให้บริการประชาชนควบคู่ไปกับท่าอากาศยานได้ต่อไป
กลุ่มสื่อสารองค์กร สำนักงานเลขานุการกรม กรมท่าอากาศยาน [email protected]
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ