- Details
- Category: ทางบก-ทางน้ำ
- Published: Monday, 05 December 2022 09:38
- Hits: 1831
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าการดำเนินโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต และโครงการทางพิเศษ สายกะทู้-ป่าตอง
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้า การดำเนินโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต และโครงการทางพิเศษ สายกะทู้ – ป่าตอง พร้อมตรวจสอบพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย เพื่อติดตามความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาให้พี่น้องประชาชน โดยมี นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก รักษาราชการแทนรองปลัดกระทรวงคมนาคม และหัวหน้าหน่วยงานในสังกัด
ร่วมลงพื้นที่ และมี นายอำนวย พิณสุวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต หัวหน้าส่วนราชการในพื้นที่ ผู้นำท้องถิ่น ผู้แทนภาคเอกชน และประชาชนจังหวัดภูเก็ต ให้การต้อนรับ ในวันที่ 2 ธันวาคม 2565
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ กล่าวว่า จากนโยบายของรัฐบาลภายใต้การนำของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่มีความมุ่งมั่นพัฒนาโครงข่ายคมนาคมขนส่งทั่วทั้งประเทศอย่างบูรณาการทั้งทางบก ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ สร้างความอยู่ดีกินดีให้กับประชาชน พร้อมสร้างความเชื่อมั่นในทุกโหมดการเดินทางที่อยู่ในความดูแลของกระทรวงคมนาคมให้มีความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย
ซึ่งจากการลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าการดำเนินโครงการต่างๆ เพื่อเสริมสร้างศักยภาพระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งสนับสนุนและรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามันในจังหวัดภูเก็ต มีโครงการสำคัญที่กระทรวงคมนาคมจะพัฒนาและเร่งรัดดำเนินการ ดังนี้
1. โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต ช่วงท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต-ห้าแยกฉลอง และส่วนต่อขยายไปท่าฉัตรไชย ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) มีระยะทางรวมประมาณ 58.5 กิโลเมตร จำนวน 23 สถานี มีจุดเริ่มต้นโครงการระยะที่ 1 บริเวณท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต ไปสิ้นสุดที่สถานีฉลอง ซึ่งอยู่ใกล้กับห้าแยกฉลอง โดยมีศูนย์ซ่อมบำรุงตั้งอยู่บริเวณสถานีถลาง และมีอาคารจอดแล้วจร จำนวน 2 แห่ง ที่บริเวณสถานีขนส่งและสถานีฉลอง
สำหรับ เส้นทางของส่วนต่อขยายไปยังท่าฉัตรไชย จะมีจุดเริ่มต้นที่บริเวณสถานีเมืองใหม่ ไปสิ้นสุดที่สถานีท่าฉัตรไชย โดย รฟม. ได้ดำเนินการศึกษาเปรียบเทียบทางเลือกระบบเทคโนโลยีรถไฟฟ้าที่เหมาะสม ประกอบด้วย รถรางไฟฟ้าล้อเหล็ก รถรางไฟฟ้าล้อยาง และรถไฟฟ้า EBRT โดยได้ศึกษาเปรียบเทียบในมิติต่างๆ
ทั้งทางด้านวิศวกรรมและจราจร ด้านการลงทุน ผลตอบแทน และด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งผลการศึกษาเปรียบเทียบ พบว่า รถรางไฟฟ้าล้อยาง มีความเหมาะสม สำหรับการดำเนินโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต ทั้งนี้ รฟม. คาดว่าจะเปิดให้บริการภายในปี 2570 เพื่อให้สามารถรองรับการเดินทางของผู้เข้าร่วมชมงานสเปเชี่ยลไลซ์ เอ็กซ์โป 2028 (Specialised Expo 2028) ซึ่งประเทศไทยอยู่ระหว่างการเสนอเพื่อเป็นเจ้าภาพจัดงาน
2. โครงการทางพิเศษ สายกระทู้-ป่าตอง บริเวณทางหลวงหมายเลข 4029 (ปากอุโมงค์ฝั่งกะทู้) ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ก่อสร้างเป็นทางยกระดับ มีอุโมงค์อยู่ในช่วงกลางของแนวสายทาง ระยะทางรวม 3.98 กิโลเมตร มีจุดเริ่มต้นโครงการเชื่อมกับถนนพระเมตตาในพื้นที่ตำบลป่าตองและอำเภอกะทู้ เป็นทางยกระดับขนาด 4 ช่องจราจรต่อทิศทาง ยกระดับจนถึงเขานาคเกิด ระยะทาง 0.9 กิโลเมตร
แล้วจึงเป็นอุโมงค์ลอดเขานาคเกิด ระยะทาง 1.85 กิโลเมตร หลังจากผ่านช่วงภูเขาจึงเป็นทางยกระดับ ระยะทาง 1.23 กิโลเมตร จนถึงจุดสิ้นสุดโครงการในพื้นที่ตำบลกะทู้ บริเวณจุดตัดกับ ทล. 4029 และมีด่านเก็บค่าผ่านทางบริเวณด้านกะทู้ 1 ด่าน เก็บค่าผ่านทางทั้ง 2 ทิศทาง มีระบบต่างๆ ภายในอุโมงค์ ประกอบด้วย ระบบระบายอากาศ (Ventilation System) ระบบฉุกเฉินและป้องกันอัคคีภัย (Emergency system) ระบบไฟฟ้าส่องสว่าง (Lighting system) อุปกรณ์ด้านความปลอดภัย การควบคุมการใช้งานการสื่อสาร (Controller System) ระบบควบคุมและบริหารจัดการจราจร
และมีมาตรการรักษาความปลอดภัยของผู้ใช้ทางพิเศษออกแบบให้มีช่องทางรถจักรยานยนต์โดยเฉพาะ มีรูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน แบบ PPP Net Cost โดยภาครัฐรับผิดชอบการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน ในขณะที่เอกชนรับผิดชอบการออกแบบรายละเอียดและการก่อสร้าง (รวมถึงค่าควบคุมงาน) และการดำเนินงานและบำรุงรักษา (O&M) โดยเอกชนเป็นผู้จัดเก็บรายได้ค่าผ่านทางทั้งหมด มีระยะเวลาร่วมลงทุนรวม 35 ปี ซึ่งความคืบหน้าล่าสุด กทพ. อยู่ระหว่างดำเนินการในขั้นตอนการคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุนโครงการ คาดว่าจะเปิดให้บริการภายในปี 2570
จากนั้นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ลงพื้นที่ติดตามการแก้ไขปัญหาเส้นทางคมนาคมที่ประสบอุทกภัย การแก้ไขปัญหาคันทางทรุดตัวบริเวณทางหลวงหมายเลข 4029 ตอน กะทู้ – ป่าตอง กม. ที่ 0+000 (โค้งแรงดัน) ส่งผลให้ต้องปิดถนน รถไม่สามารถสัญจรได้ ปัจจุบันมีความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาแล้วกว่า 60%
โดยสามารถเปิดให้ประชาชนสัญจรได้แล้ว ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2565 ทั้งนี้ ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อให้พี่น้องประชาชนสัญจรไปมาได้อย่างสะดวกและปลอดภัยมากขึ้น จากนั้นได้พบปะประชาชนในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตที่มาให้การต้อนรับ พร้อมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน เพื่อนำมาพัฒนาการก่อสร้างโครงการต่างๆ ของกระทรวงฯ ในพื้นที่ให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน และแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงประเด็นและยั่งยืนต่อไป
ในการนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้มีข้อสั่งการ ดังนี้
1. ขอให้ดำเนินโครงการต่างๆ ภายใต้นโยบาย สะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย สะอาด ราคาเป็นธรรม เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ไม่กระทบและเป็นภาระกับประชาชน
2. ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาแนวทางการแก้ไขปัญหาดินสไลด์อย่างยั่งยืน โดยให้ศึกษาวิธีการออกแบบ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาดินสไลด์อีก และดำเนินการจัดหาไฟฟ้าส่องสว่างบนถนนเพิ่มเติม
3. การดำเนินการในทุกขั้นตอนขอให้ยึดหลักกฎหมาย ระเบียบ มติคณะรัฐมนตรี และหลักธรรมาภิบาลอย่างเคร่งครัด
4. ให้เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ในการดำเนินงานของกระทรวงคมนาคม และหน่วยงานในสังกัดอย่างต่อเนื่อง ครบทุกมิติ เพื่อสร้างการรับรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องและสร้างการมีส่วนร่วมกับประชาชน