- Details
- Category: คมนาคม
- Published: Saturday, 30 August 2014 22:24
- Hits: 3037
ภาครัฐ-เอกชนหนุนรัฐบาลใหม่เร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทั้งระบบ เพิ่มศักยภาพปท.
นางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ ปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวในงานสัมมนาเรื่องการให้เอกชนร่วมลงทุนการในกิจการของรัฐกับการพัฒนาประเทศ ในหัวข้อ "นโยบายของภาครัฐในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ" ว่า ขณะนี้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ได้เห็นชอบยุทธศาตร์แผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมของไทยตั้งแต่ปี 58-63 แล้ว ซึ่งจะมีการพัฒนาทางเศรษฐกิจในภาพใหญ่ และรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่กำลังจะมาถึงนี้
โดยมีแผนงานที่วางไว้ 5 แผนงานโครงการหลักๆ คือ 1.โครงการรถไฟระหว่างเมือง เพื่อเชื่อมโยงโครงข่ายจากประตูการค้าชายแดนสู่เมือง 2.โครงการรถไฟฟ้า เพื่อแก้ปัญหาการจราจรในเมืองหลวง 3.การให้บริการรถเมล์ 4.การพัฒนาระบบรางหรือรถไฟรางคู่ จะช่วยให้ต้นทุนการขนส่งต่ำลง ซึ่งปัจจุบันมีการบริโภคพลังงานต่อปี 7 แสนล้านบาท 4.การคมนาคมขนส่งทางน้ำที่จะต้องมีการพัฒนาศักยภาพของแหลมฉบังให้มากขึ้น ประกอบกับท่าเรือน้ำลึกปากกะดา และ 5.การคมนาคมทางอากาศ ที่ยังคงให้ความสำคัญอยู่ ซึ่งถือว่าเป็นประตูการค้าระหว่างประเทศ ที่จะต้องมีการพัฒนาสนามบินสุวรรณภูมิให้รองรับนักท่องเที่ยวให้มากขึ้น รวมถึงสนามบินดอนเมือง เชียงใหม่ ภูเก็ต และสนามบินอู่ตะเภา ที่มีแผนจะให้เป็นท่าอากาศยานแห่งที่ 3
อย่างไรก็ตาม แผนยุทธศาสตร์ดังกล่าวยังไม่มีตัวเลขการลงทุนที่แน่นอน โดย คสช.ได้อนุมัติแผนข้างต้นเป็นการเร่งด่วนสำหรับปี 57-58 ที่เน้นเฉพาะการเชื่อมโยงโครงข่ายสู่ประตูการค้าระหว่างประเทศ การเชื่อมโยงการค้าชายแดน และเน้นเรื่องการกำจัดคอขวดโครงข่ายจากชายแดนเข้าสู่เมืองหลักให้หมดสิ้น ซึ่งจะมีการใช้งบประมาณ 3 พันล้านบาทในปี 57 และ 6.7 หมื่นล้านบาทในปี 58 รวมถึงการดำเนินการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้า การพัฒนารถไฟทางคู่ ที่จะใช้งบประมาณจาก 4 แห่ง ได้แก่ งบประมาณแผ่นดิน การกู้ยืมจากสถาบันทางการเงิน งบประมาณจากรัฐวิสาหกิจ และการเปิดให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนในรูปแบบ PPP
สำหรับ งบประมาณการลงทุนทั้งหมด ขณะนี้อยู่ระหว่างการทำรายละเอียดแผนงานโครงการเพื่อนำเสนอต่อไปตามลำดับ โดยคาดว่าจะเสนอได้ภายใน 1-2 เดือนนี้ เพื่อจัดหาแหล่งเงินทุนให้ทันการก่อสร้างทั้งในปีนี้และปี 58
นางสร้อยทิพย์ กล่าวว่า ขณะนี้ภาคเอกชนเข้ามามีบทบาทมากขึ้น และอยากให้ประเทศไทยควรมีความชัดเจนในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทุกด้าน ซึ่งอยากเห็นงบประมาณที่แน่นอน ทางกระทรวงคมนาคมจึงอยากขอระยะเวลา 1 เดือนในการจัดทำงบประมาณและกรอบระยะเวลาของแผน 10 ปี สำหรับแหล่งเงินที่ทางเอกชนเสนอแนะให้มีการจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน ก็คงจะต้องทำงานและขอคำปรึกษากับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยอีกครั้งหนึ่ง โดยมองว่าโครงการที่จะเป็นไปได้คือ โครงการท่าอากาศยาน การทางพิเศษแห่งประเทศไทย ซึ่งแต่ละโครงการมีรายได้ที่ชัดเจน
ด้านนายไพบูลย์ นลินทรางกรู กรรมการที่ปรึกษา คสช.ด้านโครงสร้างพื้นฐานการคมนาคม และประธานธุรกิจตลาดทุนไทย กล่าวในหัวข้อมุม "มุมมองของภาคเอกชนต่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ" ว่า ไทยควรจะต้องมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน จากการศึกษาจะเห็นได้ว่าในปี 58 จะเริ่มมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานไปทั่วโลก มูลค่าการลงทุนรวม 4.6 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ และมูลค่าจะขยับเพิ่มขึ้นไปทุกปี โดยภายในปี 2025 มูลค่าการลงทุนจะเพิ่มขึ้นแตะ 9 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าหลายๆประเทศให้ความสำคัญต่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน
ทั้งนี้ เมื่อรวมตัวเลขการส่งออกและการนำเข้าของไทยที่มีมูลค่าสูงถึง 143% ของ GDP มองว่าถ้าการคมนาคมขนส่งไม่เกิดการพัฒนา จะส่งผลเชิงลบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้ โดยเฉพาะการลงทุนของต่างชาติที่จะไม่มีเข้ามา และกระทบต่อศักยภาพของการแข่งขันของไทยในอนาคต
นอกจากนี้ ตนเองขอเสนอแนวความคิดต่อ คสช.ในเรื่องของการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทั้งหมด ทั้งภาคพลังงาน ภาคโทรคมนาคม ฯลฯ เพื่อรวมเป็นแผนแม่บทการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่แท้จริงแล้วมีมูลค่าการลงทุนจำนวนเท่าไหร่ และแหล่งเงินทุนจะมาจากไหนบ้าง เพื่อตอบนานาประเทศให้ได้ว่าไทยให้ความสำคัญกับการลงทุนดังกล่าวมากน้อยเพียงใด ซึ่งจะเป็นจุดสำคัญให้นักลงทุนต่างประเทศ จะตัดสินใจเข้ามาลงทุนหรือไม่รวมถึงลำดับความสำคัญของการลงทุน โดยมองว่าการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานจะเป็นการตอบโจทย์การออกจากกับดักรายได้ปานกลางนี้ไปได้ ซึ่งไทยควรที่จะต้องดำเนินการ
สำหรับ แหล่งเงินทุนที่จะเพิ่มเติมนอกเหนือจากงบประมาณแผ่นดิน กู้หนี้สาธารณะ งบรัฐวิสาหกิจ และ PPP แล้ว ยังมีกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งน่าจะทำได้ง่ายและเกิดประโยชน์ต่อประเทศไทย โดยเลือกว่าภาครัฐและเอกชนควรจะดำเนินการอย่างไรบ้าง เช่น ประเมินจากโครงการที่รัฐบาลมีความเชี่ยวชาญในการทำ ก็ควรจะให้ภาครัฐดำเนินการเอง ส่วนโครงการไหนที่ไม่มีความเชี่ยวชาญ อย่าง รถไฟความเร็วสูง ก็ควรใช้แหล่งเงินทุนจาก PPP หรือแก้กฎหมายให้ประเทศจีน ที่มีความชำนาญเข้ามาดำเนินการ ซึ่งจะช่วยให้รัฐประหยัดต้นท้นได้ รวมถึงรถไฟรางคู่ ก็อาจะให้เอกชนเป็นผู้ดำเนินการ โดยการเข้ามาประมูลงาน ขณะที่หากมีความจำเป็นที่บางโครงการต้องใช้งบประมาณที่มากและดูแล้วว่าโครงการนั้นๆมีรายได้ที่แน่นอน การตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน น่าจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง
"ผมอยากจะเสนอให้ คสช.และฝากไปยังรัฐบาลใหม่ด้วยว่าควรจะมีแผนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทั้งระบบ ซึ่งขณะนี้เรามีเพียงแต่แผนการพัฒนาคมนาคม 2.2 ล้านล้านบาท แต่จริงๆแล้วภาคพลังงาน โทรคมนาคม หรือภาคอื่นๆเรายังไม่เห็นตัวเลข มองว่าการที่จะมีภาพชัดเจนว่าประเทศเราจะลงทุนและใช้เงินจำนวนเท่าไหร่นั้นและจะเดินไปยังทางไหน จำเป็นอย่างมากที่เราต้องมีแผนรวมทั้งหมด ผมอยากเห็นฉบับเต็ม เราจะได้มาเรียงลำดับความสำคัญได้ว่าอะไรก่อน หลัง และที่สำคัญที่สุดคือ การหาแหล่งเงินทุน ซึ่งจะได้มาวางแผนต่อว่าส่วนไหนควรจะเป็นการใช้หนี้สาธารณะ งบประมาณแผ่นดิน หรือ PPP รวมถึงส่วนไหนที่การลงทุนผ่านกองทุนรวมโรงสร้างพื้นฐานจะสามารถเข้ามาช่วยสนัยสนุนได้" นายไพบูลย์ กล่าว
อินโฟเควสท์