ร.ฟ.ท.เล็งเสนอ คตร.ประมูลรถไฟทางคู่ฉะเชิงเทรา-คลอง 19-แก่งคอย 2 สัญญาตามเดิม
นายประเสริฐ อัตตะนันทน์ รักษาการผู้ว่าการ การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ(คตร.) ได้ส่งหนังสือแจ้ง ร.ฟ.ท.ว่าควรปรับการประกวดราคาโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย วงเงิน 11,348.35 ล้านบาท จาก 2 สัญญารวมเป็นสัญญาเดียว โดยเชื่อว่าจะทำให้วงเงินค่าก่อสร้างต่ำลง ซึ่งเมื่อวันที่ 19 สิงหาคมที่ผ่านมา คณะกรรมการ(บอร์ด) ร.ฟ.ท.ที่มีนายออมสิน ชีวะพฤกษ์ เป็นประธาน ได้หารือถึงประเด็นดังกล่าวและมีความเห็นยืนยันให้ประกวดราคาโดยแยกเป็น 2 สัญญาตามเดิม เนื่องจากเห็นว่าการปรับเหลือ 1 สัญญาจะทำให้เกิดความล่าช้า เพราะต้องเริ่มขั้นตอนการประกวดราคาและเปิดขายเอกสารใหม่ทั้งหมด ตั้งแต่การเสนอเรื่องไปยังคณะรัฐมนตรี(ครม.) เพื่อพิจารณาปรับเปลี่ยนเหลือ 1 สัญญา และต้องปรับปรุงร่างเงื่อนไขการประกวดราคา(TOR) และจัดทำราคากลางใหม่ เพื่อให้เป็นไปตามระเบียบที่ต้องกำหนดราคากลาง ก่อนประกาศร่าง TOR อีก 28 วัน ซึ่งมีความเป็นได้ที่จะทำให้ค่าก่อสร้างสูงขึ้นจากวงเงินเดิมที่ตั้งไว้เมื่อ 2 ปีแล้วที่ 11,348.35 ล้านบาท
"การรวมเป็นสัญญาเดียวจะทำให้ค่าก่อสร้างถูกลงจริง แต่ในขณะเดียวกันต้องมองในมุมว่า โครงการนี้เดินหน้ามาระยะหนึ่งแล้ว โดย ครม.อนุมัติเปิดประมูล 2 สัญญา ถ้าจะปรับเป็นสัญญาเดียว ต้องเสนอ ครม.ใหม่ ประเด็นสำคัญคือ ต้องปรับ TOR ทำราคากลางใหม่ ซึ่งต้องทำให้อัพเดท จึงไม่รู้ว่าจะแพงกว่านี้ บอร์ดจึงยืนยันที่จะเดินหน้าการประมูลแบบ 2สัญญาต่อไป และจะเสนอกลับไปยัง คตร.อีกครั้ง ซึ่งเป็นทักท้วงตามสิทธิ์หน่วยงานเจ้าของโครงการ" นายประเสริฐ กล่าว
ด้านนายออมสิน กล่าวว่า ประมาณ 2-3 เดือนจากนี้จะสามารถเปิดแข่งขันเสนอราคาทางอิเล็กทรอนิกส์(อี-ออกชั่น)งานสัญญาที่ 1 ได้ หลังจากเลื่อนการเสนอราคามาแล้ว 3 รอบแล้ว โดยรอบแรก คือเลื่อนจากวันที่ 9 มิถุนายน 2557 เป็นวันที่ 23 มิถุนายน 2557 เนื่องจาก บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์(ITD) ได้ยื่นหนังสือร้องเรียนขอให้ ร.ฟ.ท.ตรวจสอบการจดทะเบียนตั้งกลุ่มกิจการร่วมค้าระหว่าง บริษัท ทิพากร จำกัด ร่วมกับ บริษัท ไชน่าฮาร์เบอร์ จากประเทศจีน เพราะอาจไม่ถูกกฎหมาย และ ร.ฟ.ท.ได้ดำเนินการตรวจสอบแล้วพบว่าการจดทะเบียนถูกต้อง กลุ่มดังกล่าวจึงมีสิทธิ์เข้าร่วมแข่งขันราคาได้
ต่อมารอบที่ 2 เลื่อนจากวันที่ 23 มิถุนายน 2557 เป็นวันที่ 15 กรกฎาคม 2557 เนื่องจาก คตร.ขอตรวจสอบทุกโครงการที่มีมูลค่ามากกว่า 100 ล้านบาท และยังมิได้ลงนามในสัญญาจ้าง และรอบที่ 3 คือ เลื่อนจากวันที่ 15 กรกฎาคม 2557 ออกไปอย่างไม่มีกำหนด เพราะ คตร.ยังตรวจสอบไม่เสร็จสิ้น
ทั้งนี้ ครม.มีมติเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2555 อนุมัติให้เปิดประกวดราคา 2 สัญญา โดยงานสัญญาที่ 1 คืองานก่อสร้างทางรถไฟทางคู่ ช่วงฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า -แก่งคอย และช่วงบุใหญ่- แก่งคอย พร้อมทางคู่เลี่ยงเมือง(Chord Lines) 3 แห่ง วงเงิน 10,727 ล้านบาท และสัญญาที่ 2 ทางคู่และทางรถไฟช่วงสถานีวิหารแดง-สถานีบุใหญ่ ระยะทาง 9 กิโลเมตร อุโมงค์ 1.2 กิโลเมตร วงเงิน 621 ล้านบาท
โดยผู้รับเหมาที่ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติและเตรียมแข่งเสนอราคาอี-ออกชั่นโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอยสัญญาที่ 1 มี 6 ราย ประกอบด้วย 1.ITD 2.บมจ.ช.การช่าง(CK) ร่วมกับบริษัท ช.ทวีก่อสร้าง จำกัด 3.บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น(STEC) 4.บมจ.ยูนิค เอ็นจิเนียริ่งแอนด์ คอนสตรัคชั่น(UNIQ) 5.บริษัท ทิพากร จำกัด ร่วมกับ บริษัท ไชน่าฮาร์เบอร์ จากประเทศจีน และ 6.บริษัท เอ.เอส.แอสโซซิเอท เอนยิเนียริ่ง (1964) จำกัด
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย
สนช. เล็งเปิดรับฟังความเห็น ปรับรถไฟทางคู่เป็นไฮสปีดเทรนความเร็ว 180 กม./ชม.
นายชาญชัย สุวิสุทธะกุล รองปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวภายหลังเปิดการสัมมนาวิชาการเรื่อง "การพัฒนารถไฟทางคู่ขนาดรางมาตรฐาน Standard Gauge ความเร็ว 180 กิโลเมตรต่อชั่วโมง รองรับระบบรถไฟความเร็วสูงในอนาคต" ว่า เบื้องต้นการออกแบบแนวเส้นทางและงานโยธาการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเดิมได้เผื่อรัศมีโค้งและความลาดชันไว้แล้ว ส่วนระบบอาณัติสัญญาณและการบำรุงรักษาเชื่อว่าไม่น่าจะมีปัญหา ซึ่งจะเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญด้านการขนส่งมาประกอบ ทั้งด้านการคาดการณ์ปริมาณการขนส่งทางรางของประเทศไทย ด้านโครงสร้างทางรถไฟ Conventional standards rail และด้านการพัฒนาเป็นระบบรถไฟความเร็วสูงในประเทศไทย ซึ่งมีหลายประเทศสามารถพัฒนาระบบรถไฟทางคู่ให้รองรับระบบรถไฟความเร็วสูงได้ เช่น ยุโรป และเกาหลีใต้
ทั้งนี้ ระบบรางของไทยมุ่งเน้นขนส่งทั้งคนและสินค้า ซึ่งแผนระยะเร่งด่วนในการพัฒนารถไฟทางคู่ขนาดรางมาตรฐานแนวทางใหม่ ประกอบด้วย เส้นทางหนองคาย-นครราชสีมา-สระบุรี-แหลมฉบัง-มาบตาพุด ระยะทาง 737 กิโลเมตร วงเงิน 392,570 ล้านบาท และเส้นทางเชียงของ-เด่นชัย-บ้านภาชี ระยะทาง 655 กิโลเมตร วงเงิน 348,890 ล้านบาท ดำเนินงานปี 58-64 ซึ่งทั้ง2 เส้นทางสามารถเชื่อมโยงการเดินทางจากประเทศเพื่อนบ้านและจากจีนตอนใต้สอดคล้องกับแผนการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงของจีนมายังสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และในอนาคตประเทศไทยจะมีการพัฒนารถไฟทางคู่ไปยังปาดังเบซาร์ และจะเชื่อมโยงกับเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจแนวตะวันออก-ตะวันตก หรือ East-West Economic Corridor
ด้านนายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.) กล่าวว่า การปรับรูปแบบการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงความเร็ว 250 กม.ต่อ ชม.มาเป็นการพัฒนารถไฟทางคู่รางมาตรฐานความเร็ว 180 กม.ต่อ ชม.จะประหยัดงบประมาณลงส่วนหนึ่ง โดยเฉพาะค่าตัวรถที่ต่างกัน และจะทบทวนในเรื่องเทคนิค ตัวราง ซึ่งเบื้องต้นไม่มีปัญหา โดย สนข.อยู่ระหว่างรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในโครงการศึกษาและออกแบบรถไฟความเร็วสูง สายกรุงเทพ-เชียงใหม่ ระยะที่ 2 ช่วง พิษณุโลก-เชียงใหม่ เป็นครั้งที่ 2 เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งผลการศึกษาดังกล่าวมาประกอบการจัดทำโครงการรถไฟทางคู่รางมาตรฐาน ใน 2 เส้นทางทางใหม่ ซึ่งภายใน 2 เดือนนี้ สนข.จะว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาทำการศึกษาในด้านความคุ้มค่าการลงทุนทั้งด้านเศรษฐกิจ การเงิน ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และรูปแบบการลงทุน วงเงินรวม 350 ล้านบาทใช้เวลาศึกษาประมาณ 1 ปี
รูปแบบการลงทุนนั้นต้องนำประเด็นที่จะมีการตั้งกรมการขนส่งทางรางมาร่วมพิจารณาด้วย ซึ่งตามแผนกรมการขนส่งทางรางจะเป็นผู้รับผิดชอบงานก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน โดยอาจจะใช้ได้ทั้งงบประมาณ เงินกู้ หรือเงินจากกองทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ส่วนการเดินรถจะเป็นหน้าที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.) และบริษัทเอกชนก็ได้ ส่วนข้อตกลงความร่วมมือกับจีนเดิมที่สนใจจะเข้ามาลงทุนรถไฟความเร็วสูงในเส้นทางหนองคาย-โคราช ซึ่งจะเชื่อมกับรถไฟจากจีนผ่านมาทางเวียงจันทน์นั้นอยู่ที่ระดับนโยบาย ซึ่งล่าสุดทูตพาณิชย์จีนได้เข้าพบนางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ ปลัดกระทรวงคมนาคม เพื่อหารือถึงความร่วมมือเดิมแล้ว
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย
|