WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

Gกมล เชยงวงครฟท.ระดมความเห็นชาวสมุทรปราการ สร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน

     รฟท. โชว์ผลศึกษารถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินแบบไร้รอยต่อ พร้อมเปิดเวทีฟังเสียงชาวสมุทรปราการ ยกระดับคมนาคมขนส่งรับ EEC คาดเสร็จปี 2566

      นายกมล เชียงวงค์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ เป็นประธานเปิดการประชุมใหญ่การมีส่วนร่วมของประชาชน ครั้งที่ 2 (สรุปผลการศึกษาโครงการ) งานศึกษา ทบทวน และวิเคราะห์ความเหมาะสม โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อ 3 สนามบินแบบไร้รอยต่อ (ดอนเมือง – สุวรรณภูมิ – อู่ตะเภา) เพื่อนำเสนอผลสรุปการศึกษา ด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ และผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม พร้อมรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วน โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ธุรกิจเอกชน สถาบันการศึกษา สื่อมวลชนและประชาชน เข้าร่วมการสัมมนากว่า 200 คน

       การประชุมครั้งนี้ได้นำเสนอผลสรุปแนวเส้นทางโครงการ โดยจะใช้แนวเส้นทางระบบขนส่งมวลชนทางรางของโครงการเดิม ได้แก่ 1.โครงการระบบขนส่งทางรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและสถานีรับส่งผู้โดยสารอากาศยานในเมืองหรือแอร์พอร์ตเรลลิงก์ (ARL) ซึ่งปัจจุบันเปิดให้บริการแล้ว 2.โครงการระบบขนส่งทางรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ส่วนต่อขยาย ช่วงพญาไท - ดอนเมือง (ARLEX) และ 3.โครงการรถไฟความเร็วสูง สายกรุงเทพ-ระยอง (HSR) โดยโครงการนี้มีการออกแบบเพิ่มเติมบริเวณเชื่อมต่อเข้าสนามบินสุวรรณภูมิ (ขาออก) และสนามบินอู่ตะเภา (ขาเข้า-ขาออก) พาดผ่านพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง ระยะทางรวมทั้งหมด 260 กิโลเมตร

      ประกอบด้วย 10 สถานี เป็นสถานียกระดับ 8 สถานี ได้แก่ สถานีดอนเมือง สถานีกลางบางซื่อ สถานีมักกะสัน สถานีฉะเชิงเทรา สถานีชลบุรี สถานีศรีราชา สถานีพัทยา และสถานีระยอง และสถานีใต้ดิน 2 สถานี ได้แก่ สถานีสุวรรณภูมิ และสถานีอู่ตะเภา โดยเป็นรถไฟขนาดทางมาตรฐาน 1.435 เมตร (Standard Gauge) สองทางวิ่ง โครงสร้างทางรถไฟส่วนใหญ่เป็นโครงสร้างทางยกระดับ (Elevated) มีโครงสร้างระดับดิน (At-Grade) และ โครงสร้างใต้ดิน (Tunnel)บางช่วง โดยใช้งบประมาณในการก่อสร้างประมาณ 200,000 ล้านบาท

       นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้นำเสนอมาตรการลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมและประชาชน อาทิ กำหนดให้มีการฉีดพรมน้ำ เพื่อควบคุมฝุ่นละอองอย่างสม่ำเสมอ การติดตั้งกำแพงกันเสียงชั่วคราวและทำการขุด เจาะ ในช่วงเวลากลางวัน เพื่อลดผลกระทบด้านการสั่นสะเทือน เป็นต้น

       ทั้งนี้ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อ 3 สนามบินแบบไร้รอยต่อ เป็นหนึ่งในแผนงานสำคัญด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมและโลจิสติกส์ ที่รัฐบาลให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC โดยได้รับการบรรจุไว้ในแผนการดำเนินโครงการและงบประมาณ ในปีงบประมาณ 2560 – 2561 ดังนั้น เมื่อการพัฒนาโครงการแล้วเสร็จในปี 2566 คาดว่าจะมีผู้มาใช้บริการรถไฟธรรมดา (City Line) ช่วงดอนเมือง-สุวรรณภูมิ กว่า 103,920 คน/เที่ยว/วัน และมีผู้ใช้บริการรถไฟความเร็วสูง (HSR) ช่วงสุวรรณภูมิ-ระยอง ถึงกว่า 65,630 คน/เที่ยว/วัน สำหรับระยะเวลาการเดินทางจากดอนเมืองถึงระยอง (หยุดทุกสถานี) ใช้เวลาประมาณ 2 ชม. และระยะเวลาการเดินทางจากดอนเมืองถึงระยอง (ไม่จอดระหว่างทาง) ใช้เวลาประมาณ 1 ชม. ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจและภาคอุตสาหกรรมให้แก่ จ.สมุทรปราการ และจังหวัดใกล้เคียง อีกทั้งเพิ่มทางเลือกในการเดินทาง และช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่ให้ดีขึ้น

       ภายหลังจากจัดสัมมนาครั้งนี้ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จะรวบรวมข้อมูล ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่ได้จากผู้เข้าร่วมการประชุม นำมาพิจารณาประกอบรายงานสรุปผลการศึกษาโครงการฯ จากนั้นจึงนำเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก

         สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!