- Details
- Category: คมนาคม
- Published: Saturday, 09 September 2017 21:44
- Hits: 2421
รมช.คมนาคม เผยรฟท.เล็งขอเดินรถไฟชานเมืองสายสีแดง ก่อนสรุปแนวทางเดินรถปลายปีนี้
นายพิชิต อัคราทิตย์ รมช.คมนาคม กล่าวว่า การประชุมเพื่อพิจารณาแนวทางการบริหารโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้ติดตามความคืบหน้าการเดินรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชัน โดยรฟท.เตรียมสรุปแผนการบริหารจัดการ และจะเสนอขอเดินรถไฟชานเมืองสายสีแดงเอง โดยจะเสนอต่อที่ประชุมคณะอนุกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (อนุฯคนร.) ในวันที่ 25 ก.ย.นี้ ก่อนที่จะเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) หรือซูเปอร์บอร์ด ที่มีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานต่อไป
ทั้งนี้ คาดว่าจะสรุปแนวทางการเดินรถไฟชานเมืองสายสีแดงได้ภายในปลายปีนี้ เพื่อให้สามารถเตรียมวางแผนด้านบุคลากรได้ทัน โดยหากได้รับความเห็นชอบให้เดินรถเอง รฟท.จะตั้งบริษัทลูกขึ้นมาดำเนินการ และเปิดเดินรถในปี 63 ตามแผนงาน
นายพิชิต กล่าวว่า การเดินรถไฟชานเมืองสายสีแดง ที่ผ่านมาประสบกับการขาดทุน เพราะมีรายได้ต่ำกว่ารายจ่าย เนื่องจากจำนวนผู้โดยสารในช่วงแรกยังไม่สูงมากนัก ซึ่งรฟท.ต้องทบทวนการศึกษา ปรับปรุงตัวเลขประมาณการณ์ผู้โดยสารใหม่ จากเดิมที่คาดว่าจะมีผู้โดยสารประมาณ 1.7 แสนคน/วัน แต่ขณะนี้ได้ปรับประมาณการณ์ผู้โดยสารลดลงมาที่ 7-8 หมื่นคน/ วัน และคาดว่าจะคุ้มทุนเมื่อมีจำนวนผู้โดยสารที่ 1.1 แสนคน/วัน ส่วนรูปแบบในการบริหารการเดินรถนั้น กรณีขาดทุน อาจจะเสนอแนวทางเดียวกับรถไฟฟ้าสายอื่น คือรูปแบบ PPP Gross Cost หรือ การจ้างบริหารการเดินรถ โดยรัฐจะเข้าไปรับภาระในบางส่วน
นอกจากนี้ รฟท.ยังได้หารือในประเด็น ภาระโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดง ส่วนของสัญญา 3 ซึ่งเป็นงานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมตู้รถไฟบางซื่อ-รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชัน วงเงิน 32,399.99 ล้านบาท เพื่อความชัดเจน ซึ่งมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 9 ก.พ.59 ได้กำหนดภาระการรับผิดชอบ ของรัฐบาลในโครงสร้างรางและส่วนที่อยู่ใต้ราง ส่วนที่อยู่เหนือราง ให้ผู้ประกอบการ (Operator) รับผิดชอบ ซึ่งหากรฟท.จะเดินรถเองจะต้องรับผิดชอบค่าลงทุนในส่วนเหนือราง ซึ่งจะถือว่าเป็นต้นทุนของการเดินรถไฟชานเมืองสายสีแดงด้วย
กระทรวงคมนาคมได้มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ศึกษาเพิ่มเติมกรณีที่โครงสร้างของสายสีแดง มีผู้เดินรถมากกว่า 1 ราย ภาระรับผิดชอบจะเป็นอย่างไร เนื่องจากในอนาคตจะมีรถไฟทางไกลเข้ามาใช้ทางร่วมกันบนโครงสร้างดังกล่าวด้วย
อินโฟเควสท์