- Details
- Category: คมนาคม
- Published: Thursday, 07 September 2017 07:34
- Hits: 4209
สนข.รับฟังความคิดเห็นพัฒนาระบบเครือข่ายโลจิสติกส์รองรับพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษรูปแบบ Super Cluster
นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร เปิดการสัมมนานำเสนอผลงานและรับฟังความคิดเห็นต่อร่างรายงานฉบับสมบูรณ์ โครงการศึกษาพัฒนาระบบเครือข่ายโลจิสติกส์รองรับการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษรูปแบบอุตสาหกรรมอนาคต Super Cluster และประตูการค้าสำคัญของประเทศ ว่า รัฐบาลกำหนดนโยบายการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่ นโยบายไทยแลนด์ 4.0 นโยบายการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต (New Engines of Growth) เน้นการขับเคลื่อนเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศ นโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ในรูปแบบ Super Cluster
แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ (Special Economic Zone : SEZ) โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor Development : EEC) ซึ่งจะเห็นได้ว่าทิศทางการพัฒนาด้านเศรษฐกิจจะเป็นไปในรูปแบบ “Cluster” คือการให้ความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจแยกตามภาคการผลิตให้สอดคล้องกับพื้นที่เมือง สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี พ.ศ.2560-2579 และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนอีกทั้งทำให้การพัฒนาสร้างมูลค่าสูงสุดแก่พื้นที่ ซึ่งจะทำให้เกิดความต้องการในการเดินทางและการขนส่งที่เพิ่มขึ้นในอนาคต จึงจำเป็นต้องมีแผนการพัฒนาระบบขนส่งและโลจิสติกส์รองรับเพื่อบรรเทาปัญหาการจราจรติดขัด สนับสนุนการค้าชายแดนที่มีปริมาณสูงขึ้นทุกปี สนับสนุนการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนและเพื่อให้สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศ ซึ่งเป็นที่มาของ “การศึกษาพัฒนาระบบเครือข่ายโลจิสติกส์รองรับการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ รูปแบบอุตสาหกรรมอนาคต Super Cluster และประตูการค้าสำคัญของประเทศ”เพื่อรองรับการพัฒนาของประเทศในอนาคต
การพัฒนาระบบเครือข่ายโลจิสติกส์ เพื่อรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษรูปแบบอุตสาหกรรมอนาคต Super Cluster เน้นการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา และปราจีนบุรี รวมถึงประตูการค้าสำคัญในพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก ได้แก่ จังหวัดสระแก้ว จันทบุรี และตราด โดยได้ดำเนินการศึกษาและวิเคราะห์การพัฒนาระบบเครือข่ายโลจิสติกส์ รองรับการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษรูปแบบอุตสาหกรรมในอนาคต Super Cluster และประตูการค้าสำคัญของประเทศ เพื่อรองรับการพัฒนาทั้งในส่วนของโครงสร้างพื้นฐาน (Hard Side) โครงข่ายหลัก โครงข่ายรอง สิ่งอำนวยความสะดวก การขนถ่ายสินค้ารวมถึงกิจกรรมเพิ่มประสิทธิภาพด้านการบริหารจัดการ (Soft Side) รวม 101 โครงการ วงเงินลงทุน 342,000 ล้านบาท โดยคาดว่าเมื่อมีการพัฒนาตามแผนงานดังกล่าว ร่วมกับการพัฒนาเมือง ภาคอุตสาหกรรม และภาคการท่องเที่ยวจะส่งให้ GDP ประเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ 4 ในปี 2564 และร้อยละ 4.9 ในปี 2569 โดยในส่วนของพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง คาดว่าจะมีการเติบโตทางเศรษฐกิจร้อยละ 18 ในปี 2564 และร้อยละ 40 ในปี 2569 สามารถลดต้นทุนโลจิสติกส์ทางถนนได้ร้อยละ 2.67 และการขนส่ง ทางรางได้ร้อยละ 19.83
สำหรับ การนำเสนอผลการศึกษาและรับฟังความคิดเห็นฯ ครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้เข้าร่วมสัมมนาไปปรับปรุงร่างรายงานฉบับสมบูรณ์ (Draft Final Report) โครงการศึกษาพัฒนาระบบเครือข่ายโลจิสติกส์รองรับการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษรูปแบบอุตสาหกรรมอนาคต Super Cluster และประตูการค้าสำคัญของประเทศให้เกิดความเหมาะสม ครอบคลุมประเด็นการพัฒนาในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย