- Details
- Category: คมนาคม
- Published: Sunday, 16 July 2017 10:37
- Hits: 19698
รมช.คมนาคม กำชับ บขส.เตรียมแผนย้ายสถานีขนส่งกลับไปอยู่ที่เดิมในปี 2566
นายพิชิต อัคราทิตย์ รมช.คมนาคม กล่าวว่า แผนย้ายสถานีขนส่งหมอชิตแห่งใหม่กลับไปอยู่พื้นที่เดิม ซึ่งปัจจุบันเป็นศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าบีทีเอสนั้น ขณะนี้รอการดำเนินการในส่วนของกรมธนารักษ์ ซึ่งตามแผนจะย้ายในปี 2566 หรืออีก 6 ปี โดยระหว่างนี้จะต้องทำรายละเอียดของแผนลดปัญหาจราจร ซึ่งจะมีทางเชื่อมเข้าตัวสถานี และเชื่อมกับทางด่วนศรีรัช และดอนเมืองโทลล์เวย์โดยตรง
ขณะที่บริษัท ขนส่ง (บขส.) ต้องเตรียมตัวย้ายและปรับตัวในด้านบริการเพื่อรองรับการที่จะเปิดสถานีกลางบางซื่อ เป็นศูนย์การคมนาคมขนส่งของประเทศ และอนาคตบางซื่อจะเป็นสถานีขนส่งกลางของอาเซียนอีกด้วย โดยคาดว่าจะมีประชาชนในบริการวันละ1 ล้านคน ภายในมีบริการทั้งระบบรถไฟทางคู่ รถไฟความเร็วสูง รถ บขส ขสมก. และรถแท็กซี่ เชื่อมโยงการเดินทาง ได้ทั่วประเทศและอาเซียน ระบบรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน ดังนั้นอนาคตรถไฟทางคู่และรถไฟความเร็วสูงจะเป็นขนส่งหลัก บขส.ต้องปรับตัวเป็นฟีดเดอร์ เชื่อมจากสถานีรถไฟไปยังชุมชน
ด้านนายจิรศักดิ์ เยาว์วัชสกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บขส. กล่าวว่า การย้ายกลับไปอยู่ที่หมอชิตเดิมนั้นจะมีการศึกษาโครงสร้างอาคารเชิงวิศวกรรมที่จะรองรับรถโดยสารรุ่นใหม่ขนาดความยาว 15 เมตร จึงจำเป็นต้องนำเทคโนโลยีรุ่นใหม่มาช่วยบริหารจัดการอาคารแบบประเทศญี่ปุ่น ให้มีขนาดเล็กลงแต่สามารถรองรับการให้บริการผู้โดยสารได้ครอบคลุม รวมถึงการศึกษาการบริหารจัดการจราจร เพื่อให้ประชาชนเดินทางสะดวก
โดยในปี 2561 บขส.มีแผนพัฒนาศักยภาพการให้บริการ อาทิ การพัฒนาบริการรถโดยสารเชื่อมต่อแบบ Feeder Services, การพัฒนาธุรกิจรับ-ส่งพัสดุภัณฑ์, การขยายเส้นทางเดินรถในประเทศและระหว่างประเทศ, การพัฒนาธุรกิจเช่าเหมารถโดยสารประจำทาง, การพัฒนาธุรกิจศูนย์ซ่อมบำรุงและตรวจสภาพรถ, การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างรายได้, การจัดตั้งสถาบันฝึกอบรมทักษะการขับรถสาธารณะขั้นสูง, การบริหารเส้นทางการเดินรถที่ขาดทุน, การปรับโครงสร้างองค์กร, การพัฒนาระบบเดินรถและระบบสารสนเทศ (IT Master Plan) รวมทั้งการพัฒนารูปแบบการจัดเก็บค่าใช้สถานี ทั้งนี้ บขส.จะมุ่งมั่นพัฒนาบริการให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนต่อไป
สำหรับ ผลการดำเนินงานในช่วง 8 เดือนของปีงบประมาณ 2560 (1 ต.ค.59-31 พ.ค.60) บขส.มีรายได้จากการดำเนินงานประมาณ 2,369 ล้านบาท ลดลงจากปีที่แล้วประมาณ 298 ล้านบาท แต่เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน (ปี 2559) บขส.มีผลกำไรจากการดำเนินงานจำนวน 70.847 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 66.811 ล้านบาท จากปีงบประมาณ 2559 บริษัทฯ มีผลขาดทุนจากการดำเนินงานสุทธิ 115.852 ล้านบาท จากผลกระทบการแข่งขันทางธุรกิจเดินรถสูง ราคาน้ำมันผันผวน และการปรับลดอัตราค่าโดยสาร
อินโฟเควสท์