- Details
- Category: คมนาคม
- Published: Monday, 18 August 2014 19:55
- Hits: 3838
อีโค+โฟกัส : โครงข่ายคมนาคมเชื่อม'น้ำ-ราง' มุ่งสู่เป้าหมายฮับเจรจาการค้า
ตามยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของกระทรวงคมนาคม มุ่งเน้นไปที่การพัฒนาระบบรางให้เชื่อมโยงกับทางน้ำ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการขนส่งและการแข่งขัน รวมไปถึงการเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่ง นายจุฬา สุขมานพ อธิบดีกรมเจ้าท่า ในฐานะที่กำกับดูแลการคมนาคมทางน้ำ ได้ย้ำถึงแผนการลงทุนและพัฒนาโครงข่ายการขนส่งทางน้ำ ว่า ตามยุทธศาสตร์ของกระทรวงคมนาคมนั้น จะปรับปรุงระบบการขนส่งมาใช้ทางรางและน้ำมากขึ้น ซึ่งเป็นนโยบายที่มีมาตั้งแต่ปี 2548 แต่ที่ผ่านมาไม่ค่อยมีความคืบหน้า เพราะมีนโยบายเรื่องรถไฟเข้ามาเยอะมาก ทำให้การพัฒนาทางน้ำหายไป
* แผนพัฒนาขนส่งทางน้ำมีอย่างไรบ้าง
การพัฒนาทางน้ำ จะดำเนินการควบคู่ไปกับการพัฒนาระบบกับรางของประเทศ ซึ่งการพัฒนาการขนส่งทางน้ำข้อได้เปลี่ยน คือ ไม่ต้องลงทุนเท่าระบบราง เนื่องจากมีทางน้ำและท่าเรืออยู่บ้าง ดังนั้น งานส่วนใหญ่จะเน้นไปที่การบริหารจัดการ เพื่อให้ต้นทุนที่ท่าเรือลดลง ซึ่งปัจจุบันการขนส่งทางน้ำ ค่าระวางทางเรือถูก แต่เนื่องจากว่ามีข้อจำกัดทางน้ำ คือ ต้องเอารถวิ่งมาที่ท่าเรือ ทำให้มีค่าใช้จ่าย ดังนั้น งานหลักที่จะเข้าไปดูคือการบริหารจัดการและค่าใช้จ่ายโดยรวมนั้น จะเหมาะสมและแข่งขันกับการขนส่งทางถนนได้
โดยการพัฒนาครั้งนี้จะไม่หว่านไปหมด แต่จะมี นโยบายพัฒนาเน้นเป็นจุดๆ เช่น การพัฒนาแม่น้ำป่าสัก ซึ่งจะเข้าไปดูเป็นพิเศษ เพราะมีการดำเนินการอยู่แล้วบ้าง แม้น้ำเจ้าพระยา ซึ่งมีการขนส่งต่อเนื่องจากแม่น้ำป่าสัก และแม่น้ำท่าจีน จากนั้นจะดูเรื่องการขนส่งชายฝั่งทะเล เน้นจังหวัดที่อยู่ชายฝั่งในอ่าวไทย เชื่อมโยงไปยังท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งจะเข้าไปดูเรื่องต้นทุน เรื่องราคา การบริหารจัดการพื้นที่ที่ท่าเรือ โดยเฉพาะในเรื่องรายได้ที่รับจะได้ตอบแทนจะเข้าไปดูเป็นพิเศษ เพื่อให้ต้นทุนมันต่ำลงมาหน่อย เพื่อระบบขนส่งทางน้ำในแม่น้ำและชายฝั่งมันแข่งขันได้จริง
* การเข้าไปเน้นหรือดูเป็นพิเศษ จะมีรูปแบบอย่างไร
อันแรก จะเข้าไปดูเรื่องร่องน้ำว่าในแต่ละเส้นทางที่เป็นเป้าหมายนั้นมีร่องน้ำอย่างไร ตื้นหรือไม่ ก็จะดำเนินการปรับปรุงให้หมด ซึ่งก็จะทำให้รูปแบบเดียวกับทำถนน คือ ถ้าแม่น้ำ 3 เส้น คือถนน เราจะดูเป็นพิเศษว่าจุดไหนตื้น เราก็จะเข้าไปขุดลอกร่องน้ำ ที่ผ่านมานั้นกรมเจ้าท่าพยายามจะทำ และรับประกันความลึกของร่องน้ำให้อยู่ที่ระดับ 5-6 เมตร หมายถึงว่าเป็นการรับประกันว่าเดินเรือได้ปลอดภัยทั้งปี เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในภาคเอกชนเข้ามาลงทุนและเดินเรือขนส่งสินค้าในแม่น้ำ นอกจากนี้ จะเน้นการพัฒนาท่าเรือ ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของการขนส่งทางน้ำ ส่วนที่เหลือเป็นการบริหารจัดการ เช่น การคุยกับกรมธนารักษ์ ผู้ประกอบการเอกชนในเรื่องค่าใช้จ่าย
* ในแม่น้ำ จำเป็นต้องเพิ่มท่าเรือหรือไม่
ท่าเรือไม่มีความจำเป็นต้องเพิ่ม โดยเฉพาะในแม่น้ำป่าสักนั้นมีเยอะมาก แต่ที่ต้องทำคือ ทำให้การเดินเรือสามารถไปได้ไกลกว่าเดิม จากที่มีอยู่ในปัจจุบัน อยากให้จาก อ.นครหลวง สามารถไปถึง อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งในเส้นนี้มีการขนส่งถ่านหินมาก แต่เดิมกระทรวงคมนาคมคิดว่าจะเอารถไฟมาขนจาก อ.นครหลวงไป อ.ท่าเรือ แต่ก็เปลี่ยนมาใช้ทางน้ำแทน
ในปีงบประมาณ 2558 จะเริ่มดำเนินการ โดยเริ่มจากการทำเขื่อนป้องกันตลิ่งพัง ควบคู่ไปกับการขุดลอกร่องน้ำ เพื่อทำให้รองรับความต้องการได้ โดยเฉพาะสินค้ากลุ่มปูนซิเมนต์ ซึ่งวัตถุดิบหลักที่จะเอาไปไว้ใช้เผาคือถ่านหิน ดังนั้น การขนส่งทางน้ำจาก อ.นครหลวงไปยัง อ.ท่าเรือ ขากลับก็สามารถขนพวกสินค้าเกษตรกลับมาได้
* ยังมีงานอะไรที่จะต้องเร่งทำอีก
ก็จะมีเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย เกี่ยวกับการรักษาแม่น้ำคูคลอง ปัจจุบันถูกรุกล้ำลำน้ำกันมาก ต้องเข้าไปดูแล ซึ่งตามนโยบายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก็มีนโยบายว่า "อะไรที่เคยเป็นส่วนของสาธารณะแล้วถูกดึงไปเป็นของส่วนตัว ก็ให้เอากลับมาให้หมด" ซึ่งทางกรมเจ้าท่าได้จัดทีมเข้าไปดูแลและมีเรื่องที่ฟ้องไปเยอะมาก อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าการดำเนินงานอาจมีความล่าช้าบ้าง เพราะกรมเจ้าท่าจะไปรื้อเลยไม่ได้ ต้องฟ้องร้องให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการ
* ด้านการพัฒนาการเดินเรือตามชายฝั่งทำอย่างไร
ชายฝั่งทะเลนั้นส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องท่าเรือและการขุดลอกท่าน้ำในช่วงทางเข้าท่าเรือ ที่เหลือก็จะเป็นการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับความปลอดภัย ก็ไม่ยากเท่าไหร่
* แผนการก่อสร้างท่าเรือใหม่มีหรือไม่ และเมื่อจะสร้างแล้วมีปัญหา จะทำอย่างไร
แผนก่อสร้างท่าเรือใหม่ก็มี ท่าเรือสงขลา ท่าเรือน้ำลึกปากบารา และท่าเรือชุมพร ซึ่งเป็นโครงการต่อเนื่อง ต้องศึกษาให้แล้วเสร็จ ซึ่งท่าเรือสงขลาอยู่ระหว่างรอรับฟังความเห็นในกระบวนการอีไอเอ แต่ก็ยังไม่สามารถจัดทำได้ เพราะมีม็อบมาต่อต้านไม่ให้ทำ ทำให้กระบวนการไม่สมบูรณ์ ส่วนท่าเรือน้ำลึกปากบาราก็เช่นกัน กำลังอยู่ระหว่างรอความชัดเจนว่า ต้องทำแผนการพัฒนาระบบและกลไกการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ (HIA) ตามรัฐธรรมนูญปี 2550 หรือไม่ เพราะตอนนี้ไม่มีรัฐธรรมนูญแล้ว แม้ว่าจะผ่านการจัดทำรายงานการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA) แล้วก็ตาม
อย่างไรก็ตาม ตอนนี้มีแนวคิดอย่างหนึ่งซึ่งกำลังจะเสนอกับ คสช. คือการจัดทำโมเดลออกมาว่า การพัฒนาในพื้นที่ภาคใต้นั้น จะมีอะไร การลงทุนแต่ละประเภทต้องอยู่ตรงไหน เหมือนการกำหนดโซนการลงทุนว่า ภาคใต้มีการลงทุน ทั้งท่าเรือปากบารา ท่าเรือสงขลา รถไฟ แล้วจะมีการพัฒนาในพื้นที่เพื่อรองรับท่าเรือ ต้องอยู่ที่ไหนอย่างไร เปิดเผยให้ประชาชนรับรู้ตั้งแต่แรก จะได้ไม่ต้องกลัว ไม่ต้องจินตนาการเอง และประชาชนจะได้ไม่ถูกคนอื่นหลอก ซึ่งสิ่งที่จะทำขึ้นมานี้ จะเป็นฐานการพัฒนาเพื่อให้ชัดเจนกับคนในพื้นที่ว่า จะมีอะไรเกิดขึ้น และตั้งอยู่ตรงไหน
ปัจจุบันที่เขากลัวคือ พอมีรถไฟและท่าเรือมาแล้ว จากนั้นจะย้ายนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดไปอยู่ที่นั่น ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นไปไม่ได้ ดังนั้น เราต้องบอกเขาเลยว่า ต่อไปนี้จุดไหนทำอะไรบ้าง โดยเรากำหนดโซนไป ทำเป็นโมเดล ดังนั้น สิ่งที่ชาวบ้านกลัว คือ การตั้งนิคมอุตสาหกรรม แต่ที่ผ่านมาก็มีอยู่แล้ว นิคมอุตสาหกรรมหาดใหญ่ ดังนั้น ถ้านิคมอุตสาหกรรมจะเกิดขึ้น ก็เกิดขึ้นที่หาดใหญ่ ไม่น่าจะออกไปที่อื่น เพราะท่าเรือน้ำลึกปากบารา คือการเอาสินค้าไปส่งที่ทางเรือโดยใช้รถไฟ ซึ่งทำให้สองข้างทางรถไฟมีโอกาสเกิดการพัฒนาได้ จริงแล้ว ถ้าเกิดนิคมฯ จริง ก็เป็นนิคมอุตสาหกรรมเบา ไม่ใช่นิคมอุตสาหกรรมหนัก
* ตอนนี้เริ่มจัดทำโมเดลของพื้นที่หรือยัง
ตอนนี้ เริ่มชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะท่าเรือน้ำลึกปากบารา ทหารก็เอา และเห็นว่าเหมาะสม ซึ่งขณะนี้นโยบายซัพพอร์ตเราอย่างชัดเจน ต่างจากที่ผ่านมา สัญญาณไม่เคยชัด ทำให้กรมเจ้าท่าไม่สามารถเดินต่อได้ ฝ่ายประจำไม่สามารถลุยโครงการได้เต็มที่ แต่ขณะนี้ คสช.ได้กำหนดท่าเรือน้ำลึกปากบาราเข้าไปในยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมด้วย ถือว่านโยบายชัด ทำให้ลุยกันได้เลย
* การลงทุนปากบาราต้องมีการเพิ่มทุน หรือปรับปรุงอะไรหรือไม่
ทั้งหมดไม่ต้องปรับ เพราะอีไอเอผ่านมาหมดแล้ว ที่ช้าเพราะหลังจากปี 2550 ที่มีรัฐธรรมนูญที่ต้องทำ HIA และตอนนี้ก็ยังไม่มีความชัดเจนว่าต้องทำหรือไม่ และเพื่อให้โครงการเดินได้ จึงต้องทำโมเดลของพื้นที่เพื่อให้ประชาชนรับรู้และไม่ให้ใครมามั่วได้ ซึ่งขณะนี้เตรียมจะเสนอไปยังกระทรวง และถ้าอนุมัติมาจะใช้เวลาในการจัดทำแบบและต้นแบบประมาณ 7-8 เดือน
* ท่าเรือปากบารา เราจะได้ประโยชน์อะไร
ประโยชน์คือ อย่างท่าเรือแหลมฉบัง ประโยชน์ไม่ได้เกิดที่ท่าเรือ แต่เกิดกับบริเวณแหลมฉบัง ศรีราชา ชลบุรี บริเวณภาคตะวันออก ทำให้เกิดการพัฒนาพื้นที่เหล่านี้ ซึ่งรายได้จากท่าเรือนั้นหลักพันล้านต่อปีเท่านั้น แต่ประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นพื้นที่บริเวณภาคตะวันออก มีมากกว่าหมื่นล้านบาทต่อปี ซึ่งเป็นพื้นฐานว่าทำไมเราจึงอยากทำท่าเรือปากบารา เพราะทำให้เกิดเมืองท่า ทำให้เกิดเศรษฐกิจ และใช้พื้นที่ค้าขาย สำหรับทำมาหากิน เช่นเดียวกับประเทศสิงคโปร์ ประเทศโตมาด้วยความที่เป็นเมืองท่า มีรายได้จากท่าเรือไม่เยอะมาก แต่คนมาใช้สิงคโปร์เพื่อทำมาหากินนั้นมีจำนวนมาก
* การลงทุนในปี 2558 มีอะไรบ้าง
ส่วนใหญ่เป็นการเคลียร์เรื่องการขุดลอกคลอง การทำเขื่อนกั้นคลื่น การขุดรอกร่องน้ำ การเดินเรือทะเลชายฝั่ง ส่วนปากบาราและสงขลาเป็นโครงการใหญ่ จะเริ่มก่อสร้างน่าจะปี 2559 ส่วนในปี 2558 จะเรียกว่าเป็นปีเคลียร์ก็ว่าได้ เพราะจะเตรียมคน เตรียมพื้นที่ไว้สำหรับก่อสร้าง ส่วนการเวนคืนคงไม่มีอะไรมาก เพราะเป็นการทำท่าเรือยื่นไปในทะเล ที่จะเกี่ยวข้อง คือ ถ้าตกลงอนุมัติทำท่าเรือปากบาราแน่ ต้องเร่งทำทางรถไฟที่เชื่อมท่าเรือควบคู่ไป ที่ผ่านมาได้วางแผนแล้วว่าจะเชื่อมจากโครงข่ายรถไฟจากหาดใหญ่ ไปท่าเรือปากบารา ประมาณ 100 กิโลเมตร ซึ่งได้เตรียมออกแบบแล้ว คาดว่าใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 3-4 ปี
* การลงทุนจะต้องมีปรับปรุงงบก่อสร้างหรือไม่
เดิมประมาณ 1.4-1.5 หมื่นล้าน น่าจะใช้งบเดิมนี้ได้อยู่ แต่ตอนเสนอน่าจะมีการปรับปรุงอีกครั้ง เพราะงบเดิมเป็นการประเมินมา 3-4 ปีแล้วที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้กระทรวงคมนาคมกำลังทำยุทธศาสตร์น้ำและรางให้เชื่อมโยงกันเป็นโครงข่าย ตามเป้าหมายที่เคยวางไว้ตั้งแต่ปี 2548 แต่ก็ต้องหยุดไป เพราะติดขัดปัญหาหลายอย่าง เช่น ระบบรางต้องทำรางคู่ คุยกันไปคุยกันมาอนุมัติแล้ว ได้ทำบ้าง ไม่ได้ทำบ้าง ตอนนี้เมื่อมีความชัดเจนจริงจัง พอมีรางก็จะมีรถไฟไปได้ รถไฟก็เริ่มไปได้ เหลือเพียงให้เอกชนเข้ามาแข่งขันได้ และเมื่อน้ำกับรางมาเชื่อมกัน ประเทศไทยจะเป็นฮับ เพราะมีการขนส่งที่สะดวกมากขึ้นและทั่วถึง ทำให้เป็นศูนย์กลางการเจรจาการค้า หรือเป็นเมืองการค้า เช่นเดียวกับสิงคโปร์.
"กระทรวงคมนาคมกำลังทำยุทธศาสตร์น้ำและรางให้เชื่อมโยงกันเป็นโครงข่าย ตามเป้าหมายที่เคยวางไว้ตั้งแต่ปี 2548 แต่ก็ต้องหยุดไป เพราะติดขัดปัญหา
หลายอย่าง เช่น ระบบรางต้องทำรางคู่คุยกันไปคุยกันมา อนุมัติแล้ว ได้ทำบ้าง ไม่ได้ทำบ้าง ตอนนี้เมื่อมีความชัดเจนจริงจัง พอมีรางก็จะมีรถไฟไปได้ รถไฟก็เริ่มไปได้ เหลือเพียงให้เอกชนเข้ามาแข่งขันได้ และเมื่อน้ำกับรางมาเชื่อมกัน ประเทศไทยจะเป็นฮับ เพราะมีการขนส่งที่สะดวกมากขึ้นและทั่วถึง ทำให้เป็นศูนย์กลางการเจรจาการค้า หรือเป็นเมืองการค้า เช่นเดียวกับสิงคโปร์"