- Details
- Category: คมนาคม
- Published: Saturday, 10 June 2017 18:04
- Hits: 2456
คมนาคมเผย ไจก้าเตรียมเสนอแผนพัฒนาที่ดิน 3 แปลง มี.ค.ปีหน้า เล็งพัฒนาที่มักกะสันเป็นศูนย์อสังหาฯ
คมนาคมเผย ไจก้ากำลังศึกษาพัฒนาที่ดินการรถไฟอีก 3 แปลง ย่านพหลฯ- มักกะสันและคลองเตย ต่อจากที่ดินบางซื่อ เตรียมเสนอแผนช่วงมี.ค.ปีหน้า สนใจลงทุนที่ดินมักกะสันของรฟท. เล็งพัฒนาเป็นศูนย์อสังหาฯ
นายพิชิต อัคราทิตย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการ กระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังประชุมร่วมกับตัวแทนกรมเมืองฝ่ายวิศวกรรม กระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐานการขนส่ง และการท่องเที่ยวแห่งญี่ปุ่น และองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (ไจก้า)วันนี้ว่า ญี่ปุ่น จะทำการศึกษาการจัดทำแผนการพัฒนาที่ดิน ให้กับการรถไฟแห่งประเทศไทยเพิ่มเติมอีก 3 แปลง คือ ที่ดิน กม.11 ย่านพหลโยธิน จำนวน 359 ไร่ ,ที่ดินย่านมักกะสัน จำนวนกว่า 571 ไร่ และที่ดินย่านสถานีแม่น้ำ บริเวณคลองเตย จำนวน 279 ไร่ จากที่ปัจจุบันกำลังศึกษาการจัดทำแผนพัฒนาที่ดินบริเวณสถานีกลางบางซื่อให้
ทั้งนี้ เพื่อให้ฝ่ายไทยนำข้อมูลเพื่อไปประกอบกับแผนพัฒนาที่ดิน ที่สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ศึกษาไว้ก่อนหน้านี้ เพื่อให้เกิดคามสมบูรณ์มากที่สุด โดยญี่ปุ่นจะนำเสนอแผนพัฒนาที่ดินบริเวณสถานีกลางบางซื่อเสนอไทยได้ในช่วงกลางเดือนส.ค. นี้ ส่วนอีก3แปลงใหม่ล่าสุดคาดว่าจะเสนอได้ในช่วงเดือนมี.ค. ปี61
นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังแสดงความสนใจที่เข้ามาลงทุนพัฒนาที่ดินย่านมักกะสันของการรถไฟด้วย โดยต้องการพัฒนาเป็นศูนย์กลางอสังหาริมทรัพย์ เพราะมองว่าเป็นพื้นที่แปลงขนาดใหญ่ และมีอนาคตที่ดี เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่เชื่อมต่อการเดินเข้ากับพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรืออีอีซี ได้ รวมทั้งในอนาคต ยังจะมีรถไฟฟ้าความเร็วสูงที่สามารถเชื่อมต่อการเดินทางระหว่าง 3 สนามบินคือ สุวรรณภูมิ ดอนเมือง และอู่ตะเภาได้อีกด้ว ย
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย
ลุยรถไฟสายใหม่ญี่ปุ่นขอทำสาย'ดอนเมือง-อยุธยา'
แนวหน้า : นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐรมว.คมนาคม กล่าวปาฐกถาพิเศษในงานสัมมนา "โอกาสลงทุนอสังหาริมทรัพย์ในเมกะโปรเจกท์ภาครัฐ" ในหัวข้อ "2560 โครงข่ายคมนาคมฟื้นตลาดอสังหาริมทรัพย์" ว่า โครงการที่เตรียมจะเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) ในช่วงครึ่งปีหลังได้แก่ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-ตลิ่งชัน, โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงส่วนต่อขยายช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ, โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินต่อขยายช่วงบางแค-พุทธมณฑลสาย 4, โครงการรถไฟฟาสายสีเขียวส่วนต่อขยายช่วงคูคต-ลำลูกกา และช่วงสมุทรปราการ-บางปู รวมถึงรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิ้งก์เชื่อมต่อท่าอากาศยานดอนเมือง
นอกจากนี้ ด้านนักลงทุนต่างประเทศนั้น ทางญี่ปุ่นต้องการเชื่อมต่อรถไฟความเร็วสูงจากท่าอากาศยานบินดอนเมืองไปยังจังหวัดพระนครศรีอยุธยาด้วย ทางฝ่ายไทยก็พร้อมรับไว้พิจารณาแต่จะต้องรอผลการศึกษาเส้นทางรถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อ 3 ท่าอากาศยานหลักก่อน ส่วนโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีนช่วงกรุงเทพฯนครราชสีมา ล่าสุดนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ต้องการให้ใช้มาตรา 44 โดยเฉพาะในขั้นตอนการออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรมกับวิศวกรจีนนั้น ขณะนี้ทางกระทรวงคมนาคมได้หารือกับนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีแล้วในการเร่งรัดเรื่องดังกล่าวอยู่แล้ว และขอเวลาในการพิจารณาอีกระยะหนึ่ง
รมว.คมนาคม กล่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก(EEC) ครั้งที่ 2 จะมีการรายงานในประเด็น ดังกล่าว และสาเหตุที่ทางญี่ปุ่นเลือกให้ทำเส้นทาง เพิ่มเติมนั้นเนื่องจากบริเวณจังหวัดพระนครศรีอยุธยา รวมทั้งพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออก (Eastern Seaboard) และจังหวัดนครราชสีมามีนักลงทุน ญี่ปุ่นจำนวนมาก
ที่โรงแรมเรเนซองส์ ราชประสงค์ วันเดียวกัน นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ คณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ได้กล่าวเปิดการสัมมนา "การพัฒนาเมืองศูนย์การบิน โอกาสทางเศรษฐกิจและธุรกิจ"
นายคณิศ กล่าวว่า ภายในระยะเวลา 5 ปี คือปี 2565 รัฐบาลตั้งเป้าหมายพัฒนาสนามบิน อู่ตะเภา ให้เป็นเมืองแห่งการบิน และเป็น ท่าอากาศยานนานาชาติแห่งที่ 3 ของประเทศ โดยมีเป้าหมายจะเพิ่มจำนวนผู้โดยสารเป็น 15 ล้านคน ในระยะ 5 ปี ซึ่งเฟสแรกจะพัฒนาเป็นแอร์พอร์ต ซิตี้ มีอาคารผู้โดยสาร ทางวิ่ง(รันเวย์) และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการบิน เช่น อุตสาหกรรมการซ่อมอากาศยาน ซึ่งกำลังหารือร่วมกับ แอร์บัส และโบอิ้ง ให้เข้ามาร่วมลงทุนในอุตสาหกรรมดังกล่าว และที่สำคัญจะต้องเกิดโครงการรถไฟความเร็วสูง(ไฮสปีดเทรน) เพื่อเข้ามาเชื่อมโยงระบบโลจิสติกส์ และเพื่อเพิ่มศักยภาพให้สนามบินอู่ตะเภา เพื่อรับนโยบายการพัฒนาระเบียง เศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก
ส่วนเฟสที่สอง รัฐบาลมีเป้าหมายพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาให้ใหญ่ขึ้นเป็นมหานครการบินใน ปี 2570 หรือ 10 ปีข้างหน้า และจะเพิ่มจำนวนเป็น 30 ล้านคนในระยะเวลา 10 ปี และ 60 ล้านคนในระยะ เวลา 15 ปี หรือปี 2575 โดยจะยกระดับสนามบินอู่ตะเภาให้ใช้ประโยชน์ได้ทั้งทางคมนาคมโลจิสติกส์ ผนวกเข้ากับการใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจ ซึ่งรัฐบาลเชิญนายจอห์น ดี คาซาร์ดา (John D. kasarda) ผู้อำนวยการศูนย์ การศึกษาด้านการบินพาณิชย์แห่งมหาวิทยาลัย นอร์ท แคโรไลนา ประเทศสหรัฐอเมริกาและเป็นผู้นำในการพัฒนาแนวคิดเมืองการบิน มาร่วมพัฒนาสนามบิน อู่ตะเภาให้เป็นมหานครการบินด้วย